แนวทางในการเตรียมเด็กเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาล
การเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลนั้น ในสังคมปัจจุบันดูเป็นสิ่งจำเป็น และทุกครอบครัวจะส่งเด็กเข้าไปในโรงเรียนอนุบาลกันเกือบทั้งหมด
แม้แต่ในชนบทหรือในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีนักก็ยังต้องจัดหา โรงเรียนอนุบาลให้กับลูก หลายครอบครัวมีความคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องหาโรงเรียนอนุบาลดีๆ ให้กับลูก
แม้จะมีค่าเล่าเรียนที่แพงมาก
แม้จะอยู่ไกลจากบ้าน
ก็พยายามที่จะจับจอง ช่วงชิง ใฝ่หาสถานที่นั้นให้ลูกไปเรียนให้ได้ด้วยคำพูดที่เล่าลือกันว่าสอนดี มีเชื่อเสียง วิชาความรู้ดี มีเปอร์เซ็นต์ที่จะไปสอบเข้าระดับชั้นประถมปีที่ 1 ของโรงเรียนดังๆ ได้มาก
โดยไม่พินิจพิจารณาว่าโรงเรียนที่ว่าดีนั้น มีดีอะไร มีดีอย่างไร
โดยไมได้พิจารณาว่าองค์ประกอบอื่นที่จะพาลูกไปเรียนนั้นเหมาะสมหรือไม่ เช่น ระยะทางของโรงเรียนกับบ้านไกลใกล้เพียงใดการเดินทางสะดวกหรือไม่ ค่าเล่าเรียนแพงมากน้อยอย่างไร
โดยไม่ได้พิจารณาว่าธรรมชาติของเด็กวัยอนุบาลนั้นเป็นอย่างไร ระบบร่างกาย ระบบกล้ามเนื้อ ระบบสมองและการเรียนรู้ ธรรมชาติของอารมณ์และสังคมของลูกตัวน้อยๆ เป็นอย่างไร
เมื่อไม่ได้ พิจารณาปัจจัยต่างๆ ให้ถูกต้อง ให้ตรงกับความเป็นจริงและมีความเหมาะสมระหว่างเด็กวัยอนุบาลกับโรงเรียน อนุบาล การส่งลูกเข้าไปเรียนในโรงเรียนก็จะได้ผลไม่เต็มที่ หรือไม่ได้ หรืออาจเกิดผลเสียก็ได้
ในฐานะที่ทำงานเป็นจิตแพทย์เด็กก็พบปัญหา ที่เกิดจากการเรียนของเด็กวัย อนุบาลนี้บ่อย ๆ ผมว่าเราลองมาพิจารณาธรรมชาติของเด็กอนุบาลเป็นอันดับแรกว่าธรรมชาติเขาเป็น อย่างไร
ความจริงชื่อของเด็กวัยอนุบาลก็บอกความหมายในตัวอยู่แล้ว ว่าเป็นวัยที่ยังต้องคอยเลี้ยงดู คอยระวัง คอยรักษา ในภาษาอังกฤษเขียนว่าเป็นระยะ pre-school child คือ เป็นระยะก่อนวัยเรียน ชื่อก็บอกในตัวว่าเป็นระยะก่อนวัยเรียน ไม่ใช่เป็นระยะที่จะเรียนอย่างเด็กวัยเรียนซึ่งเริ่มตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นต้นไปจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6
ธรรมชาติทางด้านจิตวิทยา พัฒนาการของเด็กวัยอนุบาลกำหนดช่วงอายุไว้ คือ 3-5 ปี วัยนี้เป็นวัยที่มีพัฒนาการของกล้ามเนื้อดีขึ้นพอสมควร ชอบเล่นปีนป่าย ซนอยู่ไม่นิ่งเท่าใดนัก แม้ว่าจะวิ่งเล่นและซนมากก็ตาม แต่การประสานงานของกล้ามเนื้อเล็กยังไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมือยังไม่มีทักษะเต็มที่ ดังนั้นการใช้มือะณีตจึงยังทำได้ ไม่ค่อยดีนัก การเขียนหนังสือ การระบายสี การปั้นดินน้ำมัน เด็กพอทำได้แต่ไม่ถนัดนัก
ในด้านอารมณ์และสังคม ..........
เด็ก วัยอนุบาลโดยธรรมชาติเป็นเด็กที่ร่าเริงเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น อยากรู้อยากเห็น อยากแสดงออก ชอบอวด ให้คนอื่นรู้ว่าตนมีความสามารถ ชอบเล่น ซึ่งการเล่นของเด็กถือว่าเป็นกิจกรรมและเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาด้าน จิตใจ สติปัญญา สังคม และความมั่นใจในตนเอง ตำราบางเล่มเน้นมากกว่าการเล่นคือการเรียนของเด็กวัยอนุบาล ไม่ใช่เน้นการเรียนในชั้นเรียน แต่เน้นการเรียนรู้ควบคู่กับกิจกรรมการเล่น
ในวัยนี้ด้วยการที่มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เด็กจึงมีพฤติกรรมที่ดื้อดึง และปฏิเสธบ่อยครั้ง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นเด็กดื้อ เพียงแต่เป็นธรรมชาติของเด็กวัยอนุบาลเท่านั้น ถ้าเราเข้าใจเขา ผ่อนปรนบ้าง สอนให้เข้าใจด้วยท่าทีที่หนักแน่น ส่วนใหญ่แล้วเด็กก็จะปฏิบัติตามเราได้เป็นอย่างดี
อารมณ์ที่สำคัญ อย่างหนึ่งของเด็กวัยนี้ คือ อารมณ์วิตกกังวลต่อการแยกจากพ่อแม่ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นอารมณ์ตามธรรมชาติและเป็นปกติของเด็กวัยนี้ แต่บังเอิญที่วัยนี้เป็นวัยที่ต้องเริ่มเข้าโรงเรียน อนุบาล เมื่อเด็กต้องแยกจากบ้านไปโรงเรียน เด็กจึงมีปฏิกิริยาต่อการไปโรงเรียนมากหน่อยโดยเฉพาะในช่วงต้นๆ ของการไปโรงเรียน
สำหรับด้านสติปัญญา..........
เด็กวัยอนุบาล เรียนรู้คำศัพท์ต่าง ๆ ได้อย่างมากและรวดเร็ว เข้าใจเครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ได้ แต่อย่างไรก็ตามยังเป็นวัยที่ไม่พร้อมที่ที่จะเรียนหนังสืออย่างในเด็กวัย ประถมศึกษา ในเมื่อเด็กระยะก่อนวัยเรียนเป็นวัยที่จำเป็นจะต้องเข้าเรียนในโรงเรียน อนุบาล ปกครองและครูในโรงเรียนและครูอนุบาลจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจธรรมชาติตาม พัฒนาการของเด็กวัยนี้เพื่อจะได้จัดแจงจัดเตรียม สิ่งต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับธรรมชาติของเด็ก ซึ่งถ้าเราเตรียมและจัดสิ่งต่าง ๆ ให้เหมาะสมแล้ว ก็จะเป็นการส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้อย่างดียิ่ง ปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมก็จะไม่เกิดขึ้น
แนวทางในการเตรียมเด็กเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลพอจะรวบรวมเป็นประเด็น ต่างๆ ได้ดังนี้คือ
1. ช่วงที่เป็นเด็กเล็กๆ ก่อนเข้าโรงเรียนผู้ปกครองไม่ควรใช้คำว่า โรงเรียน หรือคำว่า ครู เป็นคำพูดที่ใช้ในการขู่เด็ก เพราะจะทำให้เด็กมีทัศนคติและความจำว่าโรงเรียนและครูเป็นสิ่งที่น่ากลัว
2. ควรเลือกโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้าน และเป็นโรงเรียนมีกระบวนการจัดการเรียนรู้ในลักษณะเตรียมความพร้อมร่วมไปกับ การ เรียนรู้ ไม่ใช่เน้นเรื่องการเรียนรู้ในชั้นเรียนเป็นหลัก
3. ควรพาเด็กไปเยี่ยมชม ไปเที่ยวโรงเรียนที่เราเลือกให้ลูก เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับสถานที่สัก 2-3 ครั้ง ถ้าให้พบกับครูด้วยก็ยิ่งจะดี เพราะจะทำให้เมื่อถึงวันที่ต้องไปเรียนเด็กจะปรับตัวได้ง่ายขึ้น
4. เมื่อถึงวันไปโรงเรียน ผู้ปกครองควรอยู่เป็นเพื่อนลูกเพียงช่วงสั้นๆ และถือโอกาสฝากครูให้เด็กแลเห็นด้วยว่าพ่อแม่ได้ฝากลูกไว้กับครูแล้วพ่อแม่ แยกจากลูกไปด้วยท่าทางที่สงบสบายๆ เหมือนเป็นกิจวัตรตามปกติ อย่าแสดงท่าทางหรือพูดในลักษณะเป็นห่วงหรือกังวลใจ
5. ในช่วงรับกลับจากโรงเรียนไปบ้านควรรับให้ตรงเวลา ในกรณีที่ไปรับล่าช้ามากควรให้ญาติคนอื่นไปรับแทน ไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่โรงเรียนกับครูจนนานเกินไป เพราะจะทำให้เด็กกังวล และไม่วางใจต่อพ่อแม่ซึ่งจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กวิตกกังวลต่อการไป โรงเรียนอนุบาลแล้วเกิดปัญหาไม่อยากไปเรียน
6. พ่อแม่ควรใช้เวลาช่วยดูแลเอาใจใส่กิจกรรมบางอย่างที่โรงเรียนให้ทำส่งครู เป็นการช่วยแบบแนะนำไม่ใช่ช่วยทำเสียทุกอย่าง
7. วัยนี้ยังไม่ควรเน้นเรื่องเนื้อหาการเรียนเป็นประเด็นหลัก แต่ควรเน้นกิจกรรมการเล่นหรือกิจกรรมอื่นๆ เช่น ศิลปะ ดนตรี เป็นต้น เพื่อให้เกิดความแจ่มใส เบิกบาน เชื่อมั่นตนเอง เข้ากับคนอื่นๆ ได้ดี และมีการแสดงออกของพฤติกรรมอย่างเหมาะสม
ประเด็นเหล่านี้จะช่วยให้ เด็กปรับตัวต่อการไปโรงเรียนอนุบาลได้เป็นอย่างดี และจะเป็นฐาน เป็นความรู้สึกที่ดีๆ ต่อการไปโรงเรียนที่จะติดเป็นทัศนคติของเด็กไปจนโต
(ต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความค่ะ แต่ไม่รู้จักชื่อ ขออนุญาต copy เพื่อถ่ายทอดให้คนอื่นต่อค่ะ)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น