ชวนลูกเล่านิทานให้แม่ฟังใน “วันแม่” /สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

 

ชวนลูกเล่านิทานให้แม่ฟังใน “วันแม่” /สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน



  เด็ก ทุกคนชื่นชอบการฟังนิทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนที่เล่า คือ พ่อแม่ จะเหมือนมนต์สะกดที่ทำให้เด็กนิ่ง และสนใจฟังเรื่องราวจากหนังสือนิทานได้อย่างมหัศจรรย์ทีเดียว ใครที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเล่านิทานได้ จนเมื่อวันหนึ่งได้เป็นพ่อแม่ จะกลายเป็นนักเล่านิทานให้ลูกฟังได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว...
       
       ไม่เชื่อต้องลองดู..!!
       
       แต่กรณีนี้ต้องเล่าให้ลูกฟังตั้งแต่แรกเกิดและทำอย่างสม่ำเสมอเท่า นั้น จะมาทำเมื่อลูกโต แล้วบอกว่าลูกไม่สนใจเรื่องราวที่พ่อแม่เล่านิทาน เห็นจะสายเกินไปซะแล้ว ต้องเปลี่ยนไปใช้เทคนิคอื่นๆ ในการจัดการเพื่อให้ลูกรักการอ่าน
       
       เล่านิทานให้ลูกฟังดีอย่างไร...
       
       ไม่มีใครปฏิเสธข้อดีในเรื่องนี้ได้เลย เพราะนิทานเป็นสื่อในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังสร้างนิสัย หรือคุณลักษณะที่ดีที่ผู้ใหญ่สามารถสอดแทรกไปที่ตัวเด็กผ่านหนังสือนิทานได้ หนังสือนิทานดีๆ นำไปสู่การสร้างโลกจินตนาการให้กับลูกน้อยของเราได้มีความคิดสร้างสรรค์ และต่อยอดความคิดได้มากมาย
       
       หนังสือนิทานดีๆ สามารถปรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูกน้อยได้ ยิ่งถ้าพ่อแม่มีความรู้และมีเทคนิคที่ดีก็สามารถนำไปต่อยอดการเรียนรู้ของ ลูกได้อย่างมากมาย เรียกว่าประโยชน์ของหนังสือนิทานมีมากมายเหลือเกิน อยู่ที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่จะหยิบยกและเห็นประโยชน์ของมันในด้านใด
       
       ฉบับนี้จะชวนให้ลูกมาเล่านิทานให้พ่อแม่ฟังกันบ้าง จะถือโอกาสในช่วงเทศกาลวันแม่ สร้างสรรค์กิจกรรมด้วยการชวนลูกเล่านิทานให้แม่ฟังในวันแม่ ก็ดีไม่น้อย
       
       สร้างบรรยากาศให้ลูกเล่านิทานให้ฟังได้อย่างไร
       
       หนึ่ง ถือโอกาสจูงใจด้วยเทศกาลพิเศษให้ลูกมอบของขวัญให้แม่ด้วยการเล่านิทานให้แม่ ฟัง เนื่องในวันแม่ ให้ลูกเลือกนิทานเอง คุณอาจจะช่วยแนะนำ เพื่อให้ลูกได้เลือกนิทานที่เหมาะสมกับวัย หรือไม่จำเป็นต้องเล่าจากหนังสือนิทาน แต่เล่าจากจินตนาการ หรือเรื่องที่ลูกแต่งขึ้นมาเพื่อมอบให้แม่ในวันแม่ก็ได้ แล้วคุณจะพบว่าลูกคุณมีอะไรมากกว่าที่คุณคิด
       
       สอง สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมให้ลูกเล่านิทานอย่างสนุกสนาน โดยอาจมีผู้ใหญ่หรือพี่น้อง คอยเป็นตัวเดินเรื่อง หรือเป็นตัวประกอบจากเรื่องราวที่ลูกเล่า เพื่อเพิ่มความสนุกสนาน และการมีส่วนร่วมของสมาชิกในครอบครัว เป็นการสร้างทัศนคติที่ดีในการเล่านิทานของเขาด้วย

       สาม ชื่นชมในความสามารถของลูกที่เขากล้าแสดงออก และย้ำเสมอว่า การกล้าแสดงออกในสิ่งที่ดี ที่เหมาะสมกับวัย เป็นสิ่งทำได้และควรกระทำ จะทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง
       
       ดิฉันเองก็เคยให้ลูกเล่านิทานให้ฟังด้วยเหมือนกัน เมื่อสมัยที่เขาอยู่ระดับอนุบาล เขาเล่าแบบติดๆ ขัดๆ นึกบ้าง คิดไม่ออกบ้าง จำไม่ได้บ้าง แต่งขึ้นมาใหม่บ้าง แต่ก็สนุกสนาน เพราะเราช่วยกันต่อเรื่องราวกันจนกลายเป็นนิทานเรื่องใหม่ของครอบครัวกันได้ ภาพบรรยากาศนั้นยังคงอยู่ในความทรงจำอยู่จนทุกวันนี้
       
       ผลของการเล่านิทานให้ลูกฟัง จนถึงวันที่เขาเล่านิทานให้พ่อแม่ฟัง กลายเป็นว่า ทุกวันนี้เขาอ่านหนังสือเอง และอ่านทุกครั้งเมื่อมีโอกาส เพราะเขามีทัศนคติที่ดีในเรื่องการอ่าน เริ่มจากอ่านอะไรก็ได้ อยากอ่านเมื่อไรก็ได้ อ่านเพราะรื่นรมย์ ไม่ใช่อ่านเพราะถูกบังคับ ไม่ใช่อ่านในสิ่งที่ไม่อยากอ่าน
       
       เด็กจะรักการอ่านได้ ต้องมีทัศนคติที่ดีก่อน ต้องได้รับการปลูกฝังเรื่องการอ่านตั้งแต่เด็ก และการเล่านิทานก็เป็นศิลปะแขนงหนึ่ง และเป็นแขนงสำคัญในการส่งเสริมให้เด็กรักการอ่าน
       
       และ...เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโครงการ “ลับสมองประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน”
       
       โครงการนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 ซึ่งเกิดจากการรวมตัวตั้งแต่ปี 2549 ของ 3 องค์กรหลักที่ทำงานด้านการส่งเสริมการอ่านในวัยเด็ก ประกอบด้วย สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) นิตยสาร Mother & Care และมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก จากนั้นก็ได้รับความร่วมมืออีกหลายภาคี อาทิ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สถานีวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว หอศิลปกรุงเทพมหานคร กระทรวงวัฒนธรรม
       
       วัตถุประสงค์ของการจัดงานก็เพื่อเป้าหมายการนำไปสู่การส่งเสริมให้ เด็กไทยรักการอ่าน โดยเริ่มจากสถาบันครอบครัว พ่อแม่ต้องเป็นคุณครูคนแรกในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ในทุกด้านของลูก หนังสือนิทานเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับเด็กเล็กในการเรียนรู้ทักษะ ชีวิตอย่างรอบด้าน
       
       ปีนี้เป็นปีที่ 5 ในการจัดการแข่งขัน และสัญจรไปทั่วทุกภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดราชบุรี เชียงราย สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี และ กรุงเทพมหานคร
       
       ทุกปีจะมีการจัดการแข่งขันการเล่านิทานสำหรับเด็กประเภทเดี่ยว ประเภททีม และประเภทครอบครัว แต่ปีนี้เหลือเพียงประเภทเดี่ยว และครอบครัวเท่านั้น โดยประเภทเดี่ยวแบ่งออกเป็นรุ่นอายุ 4-6 ปี และรุ่นอายุ 6-9 ปี
       
       ปีนี้การแข่งขันที่กรุงเทพมหานคร ต้องมีการเปลี่ยนสถานที่ เพราะทุกปีจะจัดที่ทีเคปาร์ค อาคารเซ็นทรัลเวิลด์ชั้น 8 แต่ด้วยเหตุผลที่โดนไฟไหม้ ทำให้ปีนี้ต้องย้ายไปแข่งขันกันที่หอศิลปกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคมนี้ โดยจะมีการแข่งขันทุกวันเสาร์และอาทิตย์ไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ รายละเอียดติดตามได้ที่ ผิดพลาด! การอ้างอิงการเชื่อมโยงหลายมิติไม่ถูกต้อง 0-2241-8000 ต่อ 341
       
       ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กๆ มีความสามารถ ความน่ารักสดใสของเด็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ผ่านกระบวนการหล่อหลอมด้วยนิทานและการส่งเสริมการ อ่านภายในครอบครัว พบว่าเป็นเด็กที่มีพัฒนาการสมวัย มีความฉลาด กล้าแสดงออก สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ รวมทั้งมีไหวพริบปฏิภาณอีกด้วย
       
       เด็กที่เข้าประกวดเล่านิทาน ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่พ่อแม่ให้ความสนใจในการเล่านิทานให้ฟังเป็นประจำอยู่ แล้ว เด็กจึงได้รับการปลูกฝังเรื่องการอ่านมาตั้งแต่เด็ก พอถึงวันหนึ่ง เมื่อเขาพร้อมที่จะเล่านิทานให้ผู้ใหญ่ฟัง ก็สามารถแสดงได้อย่างเป็นธรรมชาติ และงดงามตามวัย
       
       อยากให้ลูกเล่านิทานให้เราฟังบ้างหรือยัง ลงมือกันได้แล้วค่ะ

ที่มา : http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9530000111555

ความคิดเห็น