ลูกผอม ลูกอ้วน ใครควรกังวล?

ลูกผอม ลูกอ้วน ใครควรกังวล?


วันนี้จะขอเน้นไปที่เด็กอ้วนก่อนละกัน เพราะไม่ค่อยเจอบ้านไหนที่บ่นว่า “ลูกอ้วนเกินไป” มักจะเจอแต่ที่บ่นว่า “ลูกผอมเกินไป”
เชื่อได้เลยว่า เกือบทุกบ้านที่มีเด็ก มักจะเจอคำพูดที่ว่า … “ทำไมลูกผอมงี้” , “ทำไมไม่เลี้ยงลูกให้อ้วนๆ หน่อยหล่ะ” , “อ้วนสู้เด็กบ้านนู้นก็ไม่ได้ แม่เค้าเลี้ยงดี๊ดี เลี้ยงซะอ้วนเชียว”

เอ้า…หมดเวลาแล้ว สำหรับคำพูดบ้าๆ บอๆ แบบนี้ พอกันที จะทำร้ายลูกๆ เราไปถึงไหนกัน!!

แทบทุกครั้งที่ได้พูดคุยกันเพื่อนๆ แม่ๆ ด้วยกัน หรือผู้หลักผู้ใหญ่ ต้องมีคำพูดหลุดปากออกมาว่า ลูกผอมบ้างหล่ะ หลานผอมบ้างหล่ะ บ้างก็โดนกดดันจากคนรอบข้าง ทั้งที่ตัวเด็กน่ะไม่ได้ผอมอะไรเล้ยยยยย ออกจะปกติ แต่คนรอบข้างกดดันซะแม่แทบจะประสาทแ-ก กับอีแค่เรื่อง นน. ตัวของลูก ที่มันอยู่ในเกณฑ์ปกติเกินไป

ถ้าจะให้สะใจคนไทย ส่วนสูงไม่ค่อยสนใจ ดูไปที่น้ำหนักเข้าว่า ของให้อ้วนที่สุดในหมู่บ้าน อ้วนกว่าเด็กในวัยเดียวกัน หรือน้ำหนักทะลุเกณฑ์บนของกราฟที่ควรจะเป็น จะเริ่ดม้ากกก…ค่ะ(ช้านนน…ประโช้ดดดดดดด)

ก่อนที่จะมาวิตกจริตกับเรื่องน้ำหนักของลูกที่ไม่ค่อยขึ้นเอาเสียเล้ย มาลองดูเกณพ์ปกติกันก่อนจะดีมั้ย
ในเด็กแรกเกิด ช่วงเดือนแรกๆ น้ำหนักจะสามารถขึ้นได้อย่างรวดเร็วมาก สามารถขึ้นได้เดือนละเป็นกิโลๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องตื่นเต้นตกใจอะไรไป

แต่หลังจาก 3-4 เดือนแรก น้ำหนักจะเริ่มเพิ่มขึ้นน้อยลง ไม่ได้มากมายเป็นกิโลๆ เหมือนช่วงแรกๆ แล้ว
โดนปกติ เด็กควรจะมีน้ำหนักตัวเป็น 2 เท่าของน้ำหนักแรกเกิดตอนอายุประมาณ 4 เดือน และเมื่อครบ 1 ขวบ ควรหนักประมาณ 3 เท่าของแรกเกิด
เพราะฉะนั้นไม่ต้องรีบไม่ต้องเร่ง ไม่ต้องไปสรรหาขอกินมายัดให้อ้วนกันจนผิดปกติ พอกันทีเถอะ กับทีเรื่องค่านิยมที่บอกว่า “เด็กอ้วนเป้นเด็กน่ารัก” เพราะไม่ว่าสำนักวิจัยไหนก็พร้อมใจกันบอกว่า… “เด็กอ้วนพร้อมที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนเสมอ และยังมีโรคแทรกซ้อนอีกมากมาย ที่เกิดกับเด็กอ้วน”

สาเหตุที่เด็กอ้วน เกิดได้จากการกินที่ไม่เหมาะสม เพราะพ่อแม่หรือคนเลี้ยงไม่มีความรู้ด้านโภชนาการเพียงพอ

ซึ่งในวัยเด็กเล็กๆ นั้นเป็นไปได้มาก ว่ามักจะปฎิเสธอาหารมื้อหลัก เนื่องจากมีขนมหวาน หรือ snack รออยู่ ซึ่งอร่อย และถูกปากกว่าอาหาร เช่น ข้าว หรืออาหารในแต่ละมื้อ

และวิธีที่มักจะปฎิบัติเหมือนๆ กันแทบทุกบ้านก็คือ เมื่อเด็กไม่กินข้าว ก็มักจะไปคิดแทนเด็ก กลัวเด็กหิว ก็เลยไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยการหาอะไรให้กินแทน ซึ่งมักจะเป็นของที่มีพลังงานสูง อย่างเช่น ขนมปัง , ขนมกรุบกรอบ หรือแม้แต่อัดนมให้มากๆ เพื่อที่จะพยายามทดแทน และคิดว่าสามารถทดแทนอาหารในมื้อหลักๆ ได้ สารพัดวิธีจะสรรหา มาให้เด็ก เพื่อจะช่วยเพิ่มน้ำหนักตัวให้มันเกินเกณฑ์ และเป็นที่ถูกใจ ของบุคคลรอบข้าง โดยไม่ได้ใส่ใจเลยว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้น มันกระทบกับตัวเด็กในระยะยาวอย่างไร ทั้งทางด้านสุขภาพ บุคลิกภาพ และด้านสังคม

เรื่องสุขภาพนั้นไม่ต้องพูดอะไรให้มาก เพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ความอ้วนนั้นทำให้เกิดโรคได้มากมาย แต่ก็แปลกที่เรามักไม่ตระหนักในพิษภัยของมัน แต่กลับหยิบยื่นมันให้กับลูกสุดที่รักของเรา

เรื่องบุคลิกภาพและด้านสังคม เด็กที่เป็นเด็กอ้วน เมื่อเติบโตขึ้น ถึงวัยที่ต้องเข้าเรียน มักจะถูกเพื่อนล้อ ทำให้สูญเสียความั่นใจในตนเอง และด้านต่างๆ

หลายๆ ครั้งที่เจอกับตัวเอง ที่มักจะมีคนมาทักว่าลูกผอมไปนะ เมื่อก่อนอ้วนกว่านี้นะ ฯลฯ
ก็ได้แต่ยิ้ม แล้วก็เฉยๆ ไป ไม่เก็บมาเป็นอารมณ์ เพราะเราเลี้ยงลูกเอง จึงรู้ว่าในแต่ละวันลูกเรากินอะไรเข้าไปบ้าง ครบ 5 หมู่หรือไม่ อาหารมื้อเบรคเป็นอะไร
ซึ่งโดยปกติอาหารมื้อหลัก จะต้องมีทั้งผักและเนื้อสัตว์ มื้อเบรคก็จะเป็นผลไม้หลากหลายชนิด สลับกันไป

ก่อนที่จะใส่กับคำพูดของคนรอบข้าง เรามาดูกราฟน้ำหนักส่วนสูงของเด็กไทยกันก่อนดีกว่า (ลองไปเปิดคู่มือการตรวจสุขภาพ+วัคซีนของลูกดูนะจ๊ะ)
ต้องบอกกันอีกนิดว่า น้ำหนักและส่วนสูง ควรที่จะสมดุลกัน เช่น น้ำหนักอยู่ที่ percentiles ที่ 50 ส่วนสูงก็ควรจะอยู่โดยประมาณ percentiles ที่ 50 เช่นเดียวกันแต่ถ้า ส่วนสูงอยู่ percentiles ที่ 5 แต่น้ำหนักคุณพี่เล่นพุ่งไปที่ percentiles ที่ 90 อันนี้ก็ต้องมาพิจารณากันแล้วหล่ะว่ามันเหมาะสมมั้ย จะปรับพฤติกรรมการกินของลูกกันอย่างไรดี
สิ่งที่ยากมากก่อนจะถึง process การปรับพฤติกรรมการกินของลูกก็คือ การที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะเข้าใจ และปรับเปลี่ยนทัศนคติเสียก่อน

และสิ่งที่ยากที่สุด ก็คือ ทุกคนในบ้านควรจะปรับพฤติกรรมการกินของตัวเองด้วย เช่น
- อาหารเป็นมื้อๆ  เลิกกินจุบจิบ
- ทุกมื้อควรมีผักเป็นส่วนประกอบ ผักหลายสีได้ยิ่งดี
- ของว่างควรเป็นผลไม้เท่านั้น
- ไม่ควรให้กินขนมปัง, snack,ช็อกโกแลต ฯลฯ


โดนปกติมักจะตกม้าตายกัน เพราะ เปลี่ยนตัวเองกันไม่ได้นี่แหละค่ะ

หลายๆ คน มักจะบอก ให้กินๆ ไปเถอะ ขนมน่ะ ไม่ให้กินตอนนี้ เข้าโรงเรียนไปเค้าก็แิอบกินอยู่ดี ฯลฯ
สารพัดข้ออ้างจริงๆ สรรหามาอ้าง อยากจะถามไปที่ใจของคนเป็นพ่อแม่ว่าคิดแบบที่พูดจริงๆ หรือว่า…เพราะไม่อยากเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองให้ลำบากกันแน่
มีลูกแล้วถ้าเปลี่ยนแค่นี้ให้ลูกไม่ได้ ก็ไม่รู้จะพูดยังไงหล่ะ

สำหรับเด็กบ้านไหนที่อ้วนเพราะเป็นกรรมพันธุ์ คนเลี้ยงก็ยิ่งต้องเอาใจใส่เรื่องอาหารการกินมากขึ้นเป็นเท่าตัว และไม่ควรสอนให้เด็กกินตามใจปาก กินไม่เป็นเวล่ำเวลา กินขนมแทนอาหารหลัก เพราะจะเป็นนิสัยติดไปจนโต ทำให้อ้วนได้

แต่ถ้ามีกรรมพันธุ์อ้วน แล้วรู้จักกินอาหารให้เหมาะสม ออกกำลังกายเหมาะสม มันก็จะช่วยเรื่องสุขภาพได้มาก

เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานมาไม่เหมือนกัน เด็กบางคนพ่อแม่ตัวใหญ่ ลูกก็ย่อมตัวใหญเป็นธรรมดา แต่ในกรณีที่พ่อหรือแม่ตัวเล็ก ก็เป็นเรื่องปกติที่ลูกอาจจะผอม หรือตัวเล็กกว่าเด็กบางคนได้

เราควรมองเรื่องต่างๆ ให้เป็นธรรมชาติ คิดถึงในเรื่องเหตุและผลให้มากๆ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือ ไม่ใช่ใช้อารมณ์และความรู้สึก
และที่สำคัญเลิกเปรียบเทียบเด็กกันเสียทีเถอะ เพราะมันไม่ได้มีผลดีอะไรกับตัวเด็กเลย ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม
ขอส่งท้ายด้วย บทความ : อันตรายของเด็กอ้วน ละกัน คลิกไปอ่านกันได้จ้ะ

ความคิดเห็น