"หมอจุฬา" แนะวิธีสื่อสารกับลูกเรื่อง XXX
11 กุมภาพันธ์ 2554 07:52 น. เมื่อพูดถึง "เด็ก" เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ วัยแห่งการสำรวจ วัยที่สนใจในทุก ๆ เรื่อง แม้กระทั่งเรื่องเพศที่ผู้ใหญ่หลายคนคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของวัยรุ่น แต่ในความจริงแล้ว การปูพื้นฐานเรื่องเพศให้ลูกตั้งแต่เด็กมีความสำคัญมาก เพราะเด็กจะได้เข้าใจ และมีแนวทางในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า "เพศ" เป็นเรื่องที่สร้างความยากลำบากใจให้กับพ่อแม่หลาย ๆ ท่านไม่น้อยถ้าจะพูดกับลูก ในโอกาสนี้ ทีมงาน Life & Family มีวิธีสื่อสารกับลูกเรื่อง XXX จากคุณหมอเด็กมาฝากกัน เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ และการเจริญเติบโต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ บอกว่า การสอนเรื่องเพศกับลูก ควรคุยให้เป็นเรื่องปกติ เหมือนสอนให้เด็กกินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน หรือข้ามถนน ถ้าคุณพ่อคุณแม่พูดกับลูกตั้งแต่เล็กจะทำให้คุ้นปาก และคุ้นเคยในการพูดเรื่องเพศจนลูกโตเป็นวัยรุ่น การสอนเรื่องเพศกับลูกนั้น คุณหมอแนะนำว่า เริ่มคุยได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เพราะเด็กจะเริ่มรู้แล้วว่าตัวเขาเป็นผู้ชาย หรือผู้หญิง และเป็นวัยอยากรู้อยากเห็น เช่น ทำไมถึงต้องนั่งปัสสาวะ หรือยืนปัสสาวะ คุณพ่อคุณแม่ควรถือโอกาสนี้ ค่อย ๆ สอนลูกว่า "หนูเป็นเด็กผู้ชายนะครับ หนูยืนฉี่ หนูนุ่งกางเกง" หรือ "หนูเป็นเด็กผู้หญิงนะคะ หนูนุ่งกระโปรง หนูนั่งฉี่" เป็นต้น ส่วนการเรียกชื่ออวัยวะนั้น คุณหมอแนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่ควรเรียกให้ถูกต้องไปเลย เช่น เด็กผู้ชายเรียก "จู๋" เด็กผู้หญิงเรียก "ที่ฉี่" เพราะถ้าใช้คำที่ประดิษฐ์ขึ้นมาแบบที่รู้กันเฉพาะในครอบครัว เด็กจะไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ นอกจากนี้ การเตรียมลูกในเรื่องการดูแลอนามัยส่วนบุคคล เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กัน ในเรื่องนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรบอกให้ลูกรู้ว่า ตัวเราเป็นสิทธิของเรา ถ้าเป็นลูกสาว นอกจากคุณแม่แล้ว ห้ามไม่ให้ใครมาแตะต้องบริเวณที่อยู่ภายใต้ชุดชั้นใน หรือกางเกงในเด็ดขาด ถ้ามีใครมาขออาสาช่วยทำความสะอาดให้ ต้องไม่ยอม หรือปฏิเสธทันที "พอเด็กเข้า 3 ขวบ โดยเฉพาะลูกสาว ต้องบอกคุณพ่อให้เข้าใจว่า ไม่ควรอาบน้ำ หรือทำความสะอาดร่างกายให้ลูกสาว แต่ควรเป็นหน้าที่ของคุณแม่แทน เพื่อสอนให้ลูกรู้จักขอบเขต เพราะถ้าปล่อยให้ลูกสาวคุ้นเคยกับการที่มีคุณพ่อทำความสะอาดให้ พอไปโรงเรียน เด็กอาจเรียกให้ใครมาช่วยทำก็ได้" การสอนเรื่องขอบเขตพื้นที่ส่วนตัว เป็นการเตรียมพร้อมให้ลูกรู้จักปกป้องร่างกายตัวเอง พอลูกเริ่มเข้าวัยประถม คุณหมอเด็กรายนี้บอกว่า เด็กบางคนเริ่มมีคำถามเรื่องเพศ หรือความสัมพันธ์ของชายหญิง เช่น บังเอิญนั่งดูโทรทัศน์ด้วยกัน ปรากฏว่ามีฉากชายหญิงกำลังกอดกัน ลูกก็ถามทันทีว่า พวกเขาทำอะไรกัน ตรงนี้ คุณหมอแนะวิธีการสื่อสารกับลูกว่า คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำให้เป็นเรื่องน่าตกใจ หรือรีบเปลี่ยนช่อง แต่ควรตอบคำถามไปตามปกติโดยดูจากอายุ และความเข้าใจของลูก เช่น "ผู้หญิงผู้ชายกอดกัน เขาเป็นครอบครัวเดียวกัน อยู่ด้วยกัน เขารักกัน" จากนั้นก็ชวนคุยเรื่องอื่นไปเลย เมื่อเด็กเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ถือเป็นวัยที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะเตรียมความพร้อมให้ลูกเป็นระยะ ๆ เช่น ถ้าเป็นลูกสาว คุณแม่อาจให้ข้อมูลว่า หนูกำลังจะเข้าสู่วัยรุ่นแล้วนะ หนูจะมีหน้าอกนะ ต่อไปจะมีการตกขาว และมีประจำเดือนตามมา โดยสอนให้เด็กรู้จักการดูแลร่างกายทั้งในเรื่องของการทำความสะอาด สุขอนามัยส่วนตัว รวมไปถึงการใช้ผ้าอนามัย ส่วนเด็กผู้ชาย มีแนวทางเช่นเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ ๆ ตามพัฒนาการ เมื่อลูกเริ่มเสียงแตก แสดงว่าเป็นหนุ่มแล้ว คุณพ่ออาจทำหน้าที่หลักในการให้ข้อมูลว่า ต่อไปนี้อาจจะมีฝันเปียกแล้วนะ หรืออาจลองถามลูกดูก่อนว่า รู้จักฝันเปียกหรือเปล่า ถ้าเด็กไม่รู้ค่อย ๆ อธิบายไปว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่ผู้ชายทุกคนต้องมี "เด็กยุคใหม่โตเร็วมาก เด็กผู้หญิงบางคน 9 ขวบครึ่งก็เริ่มมีประจำเดือนแล้ว ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ควรมีชุดข้อมูลที่ดี รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม การจะโยนภาระให้กับโรงเรียนในการสอนเรื่องเพศอาจจะช้าเกินไปสำหรับเด็กที่โตเกินวัย" กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ และการเจริญเติบโตฝากถึงพ่อแม่ยุคใหม่ทุกท่าน ทางที่ดี ควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงของลูกไปพร้อม ๆ กับการอธิบายเป็นระยะ ๆ ตามช่วงวัย แล้วลูกจะค่อย ๆ ทำความเข้าใจ และเรียนรู้ได้อย่างถูกต้อง ถ้าเรื่องไหนตอบไม่ได้ก็พาไปหาคำตอบด้วยกันที่ห้องสมุด หรือแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ นอกจากเตรียมความพร้อม และสื่อสารให้ลูกเข้าใจเรื่องเพศอย่างถูกต้องแล้ว คุณหมอเด็กยังบอกอีกด้วยว่า การสอนเรื่องการวางตัว การคบเพื่อน รวมถึงความรับผิดต่อตนเอง และคนอื่นเป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน ในขณะเดียวกันควรปลูกฝังทัศนคติเรื่องเพศว่า การไม่มีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ เขาก็ทำกัน ซึ่งการสอนลูกวัยรุ่นคุณพ่อคุณแม่ต้องมีกรอบที่ยืดหยุ่นได้ อยู่บนพื้นฐานของความรัก และความเข้าใจ "การให้เวลากับลูกเป็นตัวช่วยสำคัญ ทั้งเวลาในการให้ข้อมูล ชี้แนะ หรือปลูกฝังค่านิยมทางเพศที่ถูกต้อง และต้องเข้าใจพัฒนาการของลูกด้วย เช่น ช่วงวัยนี้รับรู้ข้อมูลได้ขนาดไหน มีการเปลี่ยนแปลงร่างกายอย่างไร ซึ่งการสอนควรรับฟังความคิดเห็นของลูกอย่างจริงใจ ไม่เข้าใจตรงไหน มาปรับมาเติมให้ถูกต้อง เพื่อที่ลูกจะได้มีข้อมูลในการตัดสินใจ อย่างน้อย ๆ เมื่อลูกมีข้อมูลในลิ้นชัก ถึงเวลาจะตัดสินใจมันก็ยังมีการถ่วงดุลกัน แต่ถ้าไม่มีข้อมูลอยู่ในหัวเลย ถึงเวลาตัดสินใจ เพื่อนแนะนำอย่างไรเด็กจะเสี่ยงไปทางนั้น ๆ ได้ง่ายขึ้น" กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ และการเจริญเติบโตสรุปทิ้งท้าย พิมพ์จาก http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrView.asp?NewsID=9540000018531
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น