เด็กเข้าโรงเรียนเร็วเกินไปไหม (ตอนที่ 4)
โดยนักเขียนหมอชาวบ้าน : นพ.โชติช่วง ชุตินธร
จีเนียสมาจากไหน (เด็กอัจฉริยะ)
จากงานค้นคว้าของ ฮาร์โรลด์ แมคเคอร์ดี้ (HAROLD MCCURDY) (สนับสนุนโดย SMITHSONIAN INSTITUTE) เด็ก “จีเนียส” (GENIUS) ส่วนใหญ่มาจากเด็กที่ (1) ใช้เวลาส่วนใหญ่คลุกคลีใกล้ชิดกับพ่อแม่และผู้ใหญ่ (2) ใช้เวลาอยู่กับเด็กๆ ในวัยเดียวกันน้อยมาก (3) มีโอกาสอยู่กับตัวเอง ฝันเฟื่อง มีจินตนาการเล่นและคิดโดยตัวเองอย่างอิสระ
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมเราควรจะหยุดยัดเยียดเด็กเข้าโรงเรียนเร็วเกินไป การเคี่ยวเข็ญให้เด็กไปโรงเรียนตอนที่เขายังไม่พร้อม อาจเป็นวิธีที่ทรมานเด็กมากกว่าการมีพ่อแม่ที่ขี้เมา ดุว่าตีเด็กโดยไม่มีเหตุผล เด็กที่ถูกส่งไปโรงเรียนเร็วเกินไปจะมีแผลในจิตใจ ซึ่งจะมาปรากฏในอนาคตหรือตอนเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งก็จะเป็นผลเสียอย่างมากต่อสังคมไทยเรา
ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล : โรงเรียนในบ้าน (HOME SCHOOL) และโรงเรียนครูคนเดียว (ONE TEACHER SCHOOL) ถึงเวลาแล้วที่ระบบการศึกษาของไทยเราต้องเปลี่ยนหลักการและกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้พ่อและแม่ไม่จำเป็นต้องยัดเยียด ให้ลูกเข้าโรงเรียนเร็วเกินไป กฎหมายของกระทรวงศึกษาธิการต้องใจกว้างเปิดช่องทางให้พ่อแม่ที่สนใจการศึกษาของลูกตัวเองด้วย ไม่ใช่รัฐเท่านั้นที่มีสิทธิ์ในการให้การศึกษา ควรให้มีการสอนลูกในบ้านได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และถ้าพ่อแม่เห็นว่าลูกพร้อมที่จะไปโรงเรียนแล้ว เมื่ออายุ 8-10 ขวบ หรือมากกว่า ก็จะส่งไปเข้าโรงเรียนของรัฐหรือเอกชน ในชั้นป.2 ป.3 หรือ ป.4 ตามแต่อายุ ไม่จำเป็นต้องเริ่มชั้น ป.1 เสมอไป เพราะอายุมากแล้ว
ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายเอกชนมีสิทธิ์เปิดโรงเรียนระบบอื่นๆด้วย เช่น โรงเรียนบ้าน (HOME SCHOOL) ระบบครูคนเดียว หรือโรงเรียนหลายชั้นต่อหนึ่งห้อง (ONE TEACHER SCHOOL หรือ MULTIGRADE SCHOOL) ซึ่งเป็นโรงเรียนระบบเล็ก ครูคนเดียว โรงเรียนอาจจะมีแค่ห้องเดียว และนักเรียนอาจจะมีเพียง 5-10-15 คน (ถ้ามีนักเรียนมากก็อาจมีครูมากกว่า 1 คน หรือมีผู้ช่วยหรือมีอาสาสมัครช่วย) ปัจจุบันกฎหมายการศึกษาห้ามเอกชนเปิดโรงเรียนประเภทนี้ มีแต่ระบบใหญ่ซึ่งต้องใช้งบประมาณมาก ซึ่งอาจจะไม่ดีเสมอไป ส่วนระบบการศึกษาที่แตกต่างกันไม่ใช่ว่าจะผิดหรือเลวเสมอไป แต่ในทางตรงกันข้ามอาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดก็ได้ กฎหมายว่าด้วยการประถมศึกษาแห่งชาติ เกณฑ์ให้เด็กทุกคนต้องเข้าเรียนเมื่ออายุได้ 6-7 ขวบ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ถ้าไม่ทำตามก็ไม่ได้ (มีความผิด)
“ถ้ารัฐมีระบบการศึกษาที่รัฐก่อตั้งและควบคุมก็ควรจะเป็นเพียงระบบหนึ่งในหลายๆระบบการศึกษาเพื่อเป็นตัวอย่าง หรือคู่แข่งที่จะกระตุ้นระบบการศึกษาอื่นๆให้มีคุณภาพ” JOHN STUART MILL
DR.RAYMOND MOORE กล่าวว่าในด้านการศึกษาทั่วไปในโรงเรียนประถม โรงเรียนใหญ่มักจะไม่ดีไปกว่าโรงเรียนเล็กๆ โรงเรียนแบบครูคนเดียวก็มีคุณภาพดีเท่ากันหรือเหนือกว่าโรงเรียนระบบใหญ่ก็ได้ ปัจจุบันนี้มีหลายประเทศในโลก รวมทั้งอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย ที่อนุญาตให้เอกชนเปิดโรงเรียนระบบเล็กหรือครูคนเดียว ในโรงเรียนระบบเล็กครูมีเวลาให้กับเด็กแต่ละคนมากกว่า และโรงเรียนระบบเล็กนี้จะไม่มีการแบ่งชั้น นักเรียนไม่ต้องเรียนแข่งกับเพื่อนฝูงแต่เรียนแข่งกับตัวเองเท่านั้น เด็กก็จะเรียนตามความพร้อม หรือความสนใจของตนเอง ไม่มีความตึงเครียด เด็กที่โตกว่าก็มีโอกาสช่วยสอนเด็กที่อายุน้อยกว่า เป็นการฝึกนิสัยให้เกิดความมั่นใจในตัวเองและรู้จักช่วยเหลือเพื่อนฝูงหรือบุคคลอื่น เด็กที่ยังไม่เข้าใจก็มีโอกาสฟังหลายๆรอบ เพราะครูสอนหลายชั้นอยู่ในห้องเดียวกัน โรงเรียนแบบครูคนเดียวไม่ต้องใช้งบประมาณมากนัก ประหยัด และครูมีโอกาสเน้นเรื่องจริยธรรม ศีลธรรม และคุณธรรมให้แก่เด็ก ส่วนเด็กที่ไม่พร้อมหรือไม่ค่อยฉลาดก็ไม่จำเป็นต้องรีบแข่งขันกันเรียน แต่เด็กที่ฉลาดก็มีโอกาสเรียนเต็มความสามารถของเขาโดยไม่มีการจำกัดขีดความสามารถของเด็ก
บทบาทที่สำคัญที่สุดของแม่
“อาชีพของแม่” เป็นอาชีพที่สำคัญที่สุด เพราะแม่สามารถสร้างคนดีหรือคนชั่วให้แก่สังคม แม่เป็นครูที่สำคัญที่สุดของลูก โดยเฉพาะเมื่อลูกยังเป็นเด็ก ดังนั้นจงอย่าปัดความรับผิดชอบของท่านหรือผลักไสลูกของท่านให้คนอื่นหรือโรงเรียนรับผิดชอบแทน ครูที่โรงเรียนเปรียบเสมือนคนขับเรือจ้าง ส่วนแม่เปรียบเสมือนคนคุมหางเสือของเรือ ทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องช่วยกันพาลูกรักไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัยแม่หลายคนมักจะบอกว่าไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูก เพราะต้องไปทำงานนอกบ้าน แต่เพื่ออนาคตของลูกจะเป็นไปได้ไหมว่าแม่ยอมเสียสละการหาเงินทองหรืออื่นๆเพื่ออยู่บ้านเลี้ยงลูกด้วยตนเอง โดยพยายามประหยัดมากขึ้น และตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น ไม่จำเป็นต้องซื้อรถ ซื้อบ้านหลังใหญ่ๆ เฟอร์นิเจอร์หรือเสื้อผ้า และอาหารราคาแพงต่างๆ เพราะวัตถุเหล่านี้ไม่สามารถให้ความสุขที่แท้จริงให้แก่ท่านและลูกของท่านได้ ถ้าคิดโดยทั่วไป จะเห็นว่าการที่แม่ต้องลงทุนอยู่บ้านเพื่อดูแลเลี้ยงลูกเอง แม่ต้องขาดรายได้หรือขาดชื่อเสียงและลาภยศต่างๆ แต่ถ้าคิดให้ลึกซึ้งกว่านี้จะเป็นการลงทุนที่ฉลาดที่สุดและคุ้มค่าที่สุด เพื่อแลกกับอนาคตที่ดีของลูก การเลี้ยงลูกด้วยตัวเองอาจจะต้องเสียสละความสุขส่วนตัวหลายอย่างแต่ก็คุ้มค่า เพราะจะได้ลูกที่โตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ประสบความสำเร็จในชีวิตมีประโยชน์ต่อครอบครัว และสังคม และเป็นที่ภาคภูมิใจของพ่อแม่มีปรากฏบ่อยๆว่า พ่อแม่ทุ่มเททั้งชีวิตและจิตใจทำแต่งานเพื่อสะสมเงินทองไว้เป็นสมบัติให้แก่ลูกแต่ไม่มีเวลาให้ลูก พอลูกโตขึ้นมาลูกมีนิสัยไม่ดี ไม่เอาถ่าน ไม่ยอมเรียนหนังสือ เสพยาเสพติด ไม่มีความสำเร็จในชีวิต พ่อแม่ก็จะไม่มีความสุข แม้จะมีทรัพย์สินเงินทองมากมายก็ตาม มีสุภาษิตกล่าวว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” เพราะฉะนั้น จงอบรมลูกตั้งแต่ยังเยาว์วัย รอให้โตก็สายเสียแล้ว ส่วนแม่ที่จำเป็นต้องออกจากบ้านไปทำงานเพราะจำเป็นต้องหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ก็ควรจะหาพี่เลี้ยงดีๆ ให้ดูแลลูกที่บ้านหรือให้คุณย่า คุณยาย หรือญาติพี่น้องที่รักเด็กช่วยดูแลก็ได้ ไม่ใช่ว่าเมื่อต้องทำงานก็รีบส่งลูกไปโรงเรียนตั้งแต่ยังเล็ก การส่งลูกไปโรงเรียนก่อนวัยเรียน (หรือก่อนลูกจะพร้อม) ควรจะเป็นวิธีสุดท้าย ถ้าหาคนมาดูแลลูกที่บ้านไม่ได้ เราก็ต้องพยายามหาศูนย์เลี้ยงเด็กที่ให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูกได้ หรือโรงเรียนอนุบาลที่ไม่เน้นด้านวิชาการมากนัก และเมื่อกลับจากทำงาน ทั้งพ่อและแม่ต้องให้เวลาที่มีคุณภาพกับลูกในตอนเย็น และในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ สรุป
ครอบครัวคือหน่วยที่เล็กที่สุด แต่มีความสำคัญที่สุดในสังคม ถ้าพ่อแม่ไม่รู้จักความต้องการของลูก ไม่เข้าใจหลักการสอนลูก และไม่ได้ให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูก ครอบครัวก็จะไม่มีความสุข และสถาบันครอบครัวก็ไม่สามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้เท่าที่ควร และสังคมก็จะไม่น่าอยู่นัก จะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง ความกลัว อาชญากรรม และปัญหาต่างๆอีกมากมายถึงเวลาแล้วที่พ่อแม่ ครู อาจารย์ และนักการศึกษาต้องเข้าใจความรู้สึก ความต้องการ และความพร้อมของเด็ก ไม่ใช่มัวแต่เคี่ยวเข็ญให้เรียนเก่งๆ มีสติปัญญาสูงๆ เท่านั้น แต่ลืมด้านคุณธรรมและสุขภาพ ระบบการศึกษาที่ยกย่องความรู้มากกว่าคุณธรรม เป็นระบบการศึกษาที่ล้มเหลว แม้เด็กจะมีสติปัญญาดี แต่สุขภาพไม่ดีหรือไม่มีคุณธรรม เด็กก็จะเป็นคนที่ไม่มีความสุข อันจะเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาสังคมในช่วง 6-7 ปีแรกของชีวิตของเด็ก เป็นวัยที่สำคัญที่สุด เป็นช่วงของการวางรากฐานการเจริญเติบโตของร่างกาย และสร้างอุปนิสัยหรือสอนศีลธรรมและวินัยให้เด็ก สิ่งที่เราสอนในช่วงนี้จะมีอิทธิพลต่อชีวิตของเด็กมากที่สุด เด็กจะจำได้ง่าย และมักจะนำไปปฏิบัติจนตลอดชีวิต เพราะอุปนิสัยหลังอายุ 6-7 ปี จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ยาก ดังนั้นในช่วง 6-7 ปีแรกของเด็ก เราควรจะเน้นการพัฒนาสุขภาพและอุปนิสัยมากกว่าการพัฒนาทางสติปัญญา
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะพัฒนาเด็กทั้ง 3 ด้าน พร้อมๆกัน คือด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต (คุณธรรม วินัยและจริยธรรม) และสติปัญญา โดยในช่วง 6-7 ปีแรกของชีวิตเด็ก เราไม่ควรเร่งรีบและยัดเยียดในการพัฒนาสติปัญญาจากตัวหนังสือ หรือส่งไปศึกษาในโรงเรียน ถ้าในช่วง 6-7 ปีแรกชีวิตของเด็กถูกทำลายทั้งทางกายและจิตใจแล้วก็จะสายเกินแก้ เราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้อีกเลย
จงเลิกยัดเยียดเด็กของท่านให้เข้าโรงเรียนเร็วเกินไป เพราะการส่งลูกเข้าโรงเรียนเร็วเกินไปจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพกาย |
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น