การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว

การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว หลังคลอดลูก หากคุณแม่ให้นมลูกเอง นน.จะลงมาเป็นปกติภายใน 1-6 ด.โดยไม่ต้องซื้อคอร์สลดนน.ราคาแพง หรือ ซื้อยาลดนน.จากอินเตอร์เนทที่เป็นอันตรายมากิน โดยมีข้อแม้ว่า ตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน คุณแม่ควรควบคุมน้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์ให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 10-12 กก.ตลอดการตั้งครรภ์ โดยที่ 3 ด.แรก น้ำหนักต้องไม่ขึ้นเลย 3 ด.ถัดมาขึ้น 6 กก. และ 3 ด.สุดท้ายขึ้น 6 กก. ใครที่นน.ขึ้นเกินจากนี้ ไม่ดีนะคะ อย่าคิดว่าตอนท้องเป็นช่วงโปรโมชั่น อยากกินอะไรก็กินได้ตามใจอยาก อ้วนได้ไม่มีใครกล้าว่า แล้วคิดกินเพื่อลูก โด๊ปอาหารก่อภูมิแพ้เข้าไปมากมาย นมวัวเอย ผลิตภัณฑ์นมวัวเอย ทั้งชีส เค้ก ไอศครีม นมถั่วเหลืองซื้อมาเป็นลังๆ ไข่กินวันละหลายๆฟอง ขนมนมเนยทุกชนิด ปลาแซลมอนทุกมื้อ ผลที่ตามมา คือ แม่อ้วนทำให้เสี่ยงต่อเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ลูกเสี่ยงกับภาวะแพ้โปรตีนกลุ่มเสี่ยง พอคลอดลูกเสร็จ ก็ยังกินบำรุงน้ำหนักต่อ โดยคิดว่าจะทำให้ผลิตน้ำนมได้เยอะ ผลที่เกิดขึ้นคือ น้ำหนักส่วนเกินยังคงอยู่สะสมในร่างกาย แต่น้ำนมไม่ได้เพิ่มขึ้น (ดังรูปบน) เพราะปริมาณน้...

เด็กเข้าโรงเรียนเร็วเกินไปไหม

 เด็กเข้าโรงเรียนเร็วเกินไปไหม


โดยนักเขียนหมอชาวบ้าน : นพ.โชติช่วง ชุตินธร


การสมาคมของเด็ก

ส่วนมากพ่อแม่และครูคิดว่าเด็กควรจะไปคลุกคลี และคบหาสมาคมกับเด็กอื่นๆ ที่อายุไล่เลี่ยกัน เพื่อจะพัฒนาสังคมของเด็กซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก
ตามงานวิจัยของนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็ก ถ้าเด็กยังไม่พร้อมหรือยังเล็กอยู่สมาคมกับเด็กอายุเท่ากันจะมีผลเสียมากกว่าผลดี การที่ไปสมาคมหรือเล่นกับเด็กอื่น หรือเพื่อนร่วมชั้นนั้นเปรียบเสมือนดาบสองคม ถ้าเพื่อนดีก็ดีตาม แต่ถ้าเพื่อนไม่ดีก็จะเสียตามไปด้วย จากประสบการณ์ เด็กก่อนวัยเรียนส่วนมากยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องวินัยหรือหลักเกณฑ์ที่ดีๆเกี่ยวกับชีวิต ถ้เด็กคลุกคลีกับเพื่อนๆมากๆเข้าก็จะซึมซับหลักเกณฑ์ที่ไม่ดีของชีวิตจากเพื่อนๆเหล่านั้น

มีหลักฐานว่าเด็กที่เข้าโรงเรียนช้าจะเรียนเก่งกว่า มีความประพฤติดีกว่า และทางด้านสังคมก็ดีกว่า มักจะเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ มีความเชื่อมั่นในตนเอง และในอนาคตจะเป็นประชาชนที่ดีมีคุณภาพจากงานวิจัยหลายแห่งยืนยันว่า เด็กที่อยู่กับพ่อแม่ช่วงก่อนวัยเรียนและไปโรงเรียนหลังจากที่พร้อมแล้ว ในอนาคตมักจะเป็นหัวหน้าชั้นหรือหัวหน้าในสังคมและเป็นเด็กที่เข้ากับสังคมได้ดี จากงานวิจัยของ จอห์น ฟอร์เรสเตอร์ (John Forester) นักวิจัยการศึกษาของอเมริกา เขาได้ค้นพบอย่างไม่คาดคิดว่าเด็กที่เป็นหัวหน้าด้านสังคมและกิจกรรมต่างๆในโรงเรียนมัธยมส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เข้าโรงเรียนช้า

นักวิจัยชื่อ ยูรี บรอนเฟนเบรนเนอร์ (Urie Bronfenbrenner : Cornell University) และ อัลเบิร์ต แบนดูร่า (Standford U.) พบว่าเด็กที่อยู่กับเพื่อนๆที่โรงเรียนเร็วเกินไป และไม่ค่อยได้อยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ มักจะตามความคิดของเพื่อนๆ (peer dependency) เช่น เพื่อนๆชอบดูการ์ตูนหรือทีวีก็ดูตามเป็นต้น เด็กเหล่านี้มักจะติดเพื่อน เชื่อฟังเพื่อนฝูงมากกว่าพ่อแม่ และไม่เชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วเขาไม่ได้เชื่อหรือไว้วางใจเพื่อนฝูงอย่างจริงจัง และเขาก็ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ และตัวเองก็ไม่มีความคิดไม่มั่นใจในตัวเอง ในที่สุดเขาก็จะเป็นเด็กที่อยู่ในความเลื่อนลอย ไร้ความคิด ไร้ที่พึ่งทางความคิดที่ดีจากผู้อาวุโส ทำตามเพื่อนๆอย่างไร้หลักการ ไม่มองโลกในแง่ดีดำเนินชีวิตตามอย่างเพื่อนๆโดยไม่เข้าใจอะไรเลย


จอห์น โบวล์บี้ (John Bowlby) หัวหน้าแผนกเด็กขององค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้แจงว่า เด็กที่บางครั้งบางคราวถูกพ่อที่เมาเหล้าหรือพ่อแม่ที่อารมณ์เสีย หงุดหงิด ดุว่าเฆี่ยนตีบ้าง ก็ยังมีความรู้สึกว่าเขามีครอบครัว และมีบ้านที่เขาอาศัยอยู่อย่างแน่นอนมั่นคงพอสมควร ท่านกล่าวต่อไปว่าการส่งเด็กเล็กๆไปให้คนอื่นเลี้ยง หรือส่งไปเรียนตอนเด็กยัวไม่พร้อมนั้นเป็นการทรมานจิตใจของเด็ก ซึ่งจะมีความเสียหายด้านจิตใจในอนาคตมากกว่าการถูกทำโทษเฆี่ยนตีโดยทั่วไป

มาร์ติน แองเกิล (Martin Engel) อดีตผู้อำนวยการของศูนย์สาธิตการศึกษาของเด็กเล็กระดับชาติในอเมริกา (National Demonstration Center for Early Childhood Education – Wash. D.C.) กล่าวว่า แม้เราจะให้ข้อแก้ตัวอย่างไร หรือชดเชยโดยมีสถานที่เลี้ยงเด็ก (ร.ร.อนุบาล) ที่ดีที่สุด ก็ไม่สามารถจะชดเชยความรู้สึกที่ถูกทอดทิ้งของเด็ก ซึ่งถูกส่งห่างจากพ่อแม่โดยไม่จำเป็น อย่าลืมว่าเด็กจะมีความรู้สึกว่าเขาถูกทอดทิ้ง (Feeling of rejection)
ในช่วง 6-7 ปีแรกของเด็กเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดที่จะพัฒนานิสัยใจคอ วินัย และร่างกายของเด็ก ถ้าช่วงอายุนี้ผิดพลาดไปก็จะแก้ไขได้ยากในภายหลัง เด็กก่อนวัยเรียนถ้าได้อยู่บ้านกับผู้ปกครองก็มีโอกาสได้ฝึกหัดวินัย จริยธรรม และศีลธรรมที่ดี เพราะผู้ปกครองมีประสบการณ์และหลักการด้านนี้มากกว่า ในบ้านพ่อแม่จะมีโอกาสตอบคำถามของลูกมากกว่าครูในถึงร้อยเท่า เพราะครูในโรงเรียนมีนักเรียนที่ต้องดูแลรับผิดชอบจำนวนมาก แต่อยู่ในบ้านแม่จะดูแลลูกได้อย่างใกล้ชิด หนึ่งต่อหนึ่ง


การที่ให้เด็กเล็กๆไปโรงเรียนก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาที่โรงเรียน เด็กๆต้องแย่งชิงของเล่นและแข่งขันเรียกร้องความสนใจจากครู แข่งขันเรียกความสนใจจากเพื่อนๆ แย่งชิงกันเพียงเพื่อจะเอาชนะเพื่อนๆ บางทีก็ถูกดูถูก ถูกรังแก รังแกเพราะความคิดหรือความประพฤติไม่เหมือนกับกลุ่ม ทำให้เด็กต้องเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเปลี่ยนทัศนคติไปในทางที่ไม่ดี



 
ทำไมเด็กจึงเบื่อการเรียน

ดร.มอร์ กล่าวว่า เด็กที่อายุยังน้อยหรือเข้าเรียนตอนที่ยังไม่พร้อมจะทำให้มีผลเสีย มีโอกาสสอบตกเรียนซ้ำชั้น มีปัญหาทางอาชญากรรม เป็นเด็กเกเรหรือเลิกเรียนกลางคันก่อนจะจบการศึกษา
เดวิด เอลไคด์ (David Elkind) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยทัฟท์ (Tufts University) ผู้เชี่ยวชาญทฤษฎี Piaget ได้ทำการวิจัยและพบว่า มีความสัมพันธ์ในทางลบระหว่างการให้การศึกษาอย่างเป็นทางการ (early formal education) กับความเจริญเติบโตทางสติปัญญาของเด็ก (mental growth) และมีผลแสดงในทางลบ (a negative correlation) ท่านจึงสรุปว่า ไม่ควรจะส่งเด็กเข้าโรงเรียนเร็วเกินไป เพราะจะทำให้เด็กเบื่อการเรียน (burned out)

มีนักจิตวิทยา ดร.วิลเลี่ยม โรห์เวอร์ (William Rohwer) (หัวหน้าศูนย์การศึกษาเด็กมหาวิทยาลัยคาลิฟอเนีย 1970) ที.ฮูเซน (T. Husen : University of Stockholm) เดวิด เอลไคด์ (David Elkind : University of Rochester) และ เมเรดิช โรบินสัน (Meredith Robinson : Standford Research Institute) ชี้แจงว่า อาจจะเป็นการดีกว่าที่จะให้เด็กคอยถึงเป็นหนุ่มสาว (12 ปีหรือมากกว่า) ถึงจะไปเรียน ถ้าทางครอบครัวมีพ่อแม่ที่ดี ดร.เจ.ที. ฟิชเชอร์ (Dr.J.T. Fisher) (อดีตคณบดีจิตแพทย์ของอเมริกา) ก็เห็นด้วยว่า “ถ้าเด็กเริ่มเรียนตอนเริ่มเป็นหนุ่มสาวแล้วก็จะเรียนทันเหมือนกับเด็กที่เริ่มเรียนตั้งแต่อายุ 5-6 ปี เพราะตัวท่านก็เริ่มเรียนเมื่ออายุ 13 ปี และก็มีผลสำเร็จในชีวิตตามที่ปรากฏทุกวันนี้”

โทร์สเตน ฮูเซน (Torsten Husen) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่สวีเดน (Institute of International Education of University of Stockholm) มีรายงานการวิจัยจาก 12 ประเทศอย่างน่าเป็นห่วงว่า เด็กที่ไปเรียนยิ่งเร็วจะมีทัศนคติกับโรงเรียนยิ่งเลว


 

เด็กผู้หญิงพัฒนาเร็วกว่าเด็กผู้ชาย

เป็นที่ยอมรับกันทั้งในวงการแพทย์และนักจิตวิทยาว่า เด็กผู้ชายมีความพร้อมหรือพัฒนา (Maturity) ช้ากว่าเด็กผู้หญิงประมาณ 1 ปี ส่วนในวัยหนุ่มสาว (Adolesoence) เด็กหนุ่มอาจจะช้ากว่าเด็กสาวถึง 3 ปี
ดังนั้นถ้าตามกฎระเบียบว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ (ชั้นประถม) เด็กที่เกิดใน พ.ศ.เดียวกัน แต่ถ้าคนหนึ่งเกิดวันที่ 1 มกราคม ส่วนอีกคนหนึ่งเกิดวันที่ 31 ธันวาคม ในปีเดียวกัน ก็จะเข้าเกณฑ์เรียนพร้อมกัน ซึ่งตามความจริงแล้วเด็กทั้ง 2 คน จะมีอายุต่างกันเกือบ 1 ปี ถ้าสมมติว่าเด็กชาย ก เกิดปลายปี ส่วนเด็กหญิง ข เกิดต้นปี แต่เข้าเรียนในห้องเดียวกัน จะเห็นได้ชัดว่าเด็กชาย ก เสียเปรียบเพราะจะอยู่ในภาวะที่ช้ากว่าเด็กหญิง ข ถึง 2 ปี

ความพร้อมของเด็กแต่ละคนอาจจะมีไม่เท่ากันแม้จะอยู่ในเพศเดียวกันและวัยเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าสมมติเด็กชาย ก ที่กล่าวมาแล้วเป็นเด็กที่มีความพร้อมช้ากว่าเด็กผู้ชายอื่นๆในวัยเดียวกัน (แต่ไม่ใช่โง่กว่า) เด็กชาย ก จะมีความพร้อมช้ากว่าเด็กหญิง ข มากกว่า 2 ปีด้วยซ้ำ
ระบบการศึกษาในชั้นประถมศึกษาของไทยเรา กำหนดให้เด็กที่ถึงเกณฑ์เข้าเรียนต้องเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีรูปแบบและเนื้อหาเดียวกันทั้งหมด ไม่ว่าเด็กจะมีพื้นฐานชีวิตจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกที่แตกต่างกันตามภูมิหลังของสังคมหรือครอบครัวเพียงใดก็ตาม ทุกคนต้องเดินไปตามเส้นทางการศึกษาที่กำหนดไว้อย่างจำกัด ซึ่งหากพิจารณากันอย่างลึกซึ้งแล้วจะเห็นว่า เป็นการบั่นทอนลักษณะสร้างสรรค์ของเด็กโดยไม่รู้ตัว ทำให้เด็กที่ไม่พร้อมเกิดความเครียด ขาดความมั่นใจในตัวเอง

เด็กๆในวัยเดียวกันจะมีความพร้อมไม่เท่ากัน เหมือนกับผลไม้ต้นเดียวกันแต่สุกไม่พร้อมกัน หรือดอกไม้ต้นเดียวกันจะบานไม่พร้อมกัน
การยัดเยียดเด็กที่ยังไม่พร้อมเข้าโรงเรียน เปรียบเสมือนไปเร่งเด็ดผลไม้ที่ยังไม่สุกลงมารับประทานหรืออ้ากลีบดอกไม้ที่ยังตูมอยู่ให้บาน ผลปรากฏว่า ผลไม้ที่ยังไม่สุกหรือยังอ่อนจะมีรสฝาด ไม่หวานเท่าที่ควร หรือกินไม่ได้ต้องทิ้งไป และดอกไม้ตูมที่เราอ้ากลีบเร่งให้บานอาจจะเหี่ยวเฉา ไม่สวยงามเหมือนดอกไม้ที่บานตามธรรมชาติ


เดวิด เอลไคด์ นักจิตวิทยาที่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยทัฟท์ (Tufts University) กล่าวว่า ถ้าเราเคี่ยวเข็ญเด็กไปโรงเรียนเร็วเกินไป เมื่อเขาโตขึ้นมาก็จะเบื่อการศึกษา (burnout) ไม่อยากเรียนหนังสือ หรือเกลียดการเรียน ทำให้เลิกเรียกกลางคัน สอบตก หรือไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษา

ที่มา : http://www.doctor.or.th/node/5300

ความคิดเห็น