8 องค์กรร่วมสนับสนุน “มุมนมแม่"
เพื่อเป็นรากฐานของชีวิตเด็กที่ดีในอนาคต
ศูนย์นมแม่ชี้สถิติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงจากร้อยละ 7.6 ลดลงเหลือร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ต่ำที่สุดน้อยกว่ากัมพูชาถึงร้อยละ 60 และเวียดนามร้อยละ 19
เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่กระทรวงแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยจัดแถลงข่าว “พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนการจัดสวัสดิการแรงงานการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” ระหว่าง กระทรวงแรงงานกับกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมอนามัย องค์การยูนิเซฟประเทศไทย องค์การอนามัยโลกประเทศไทย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “มุมนมแม่” ขึ้นในสถานประกอบกิจการ
จากผลสำรวจของศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยพบว่า สถิติการใช้บริการ “มุมนมแม่” ในสถานประกอบกิจการนั้นมีอัตราการลาหยุดงานน้อยกว่าแม่ที่ไม่ได้ให้นมลูกถึงร้อยละ 30 และผลการทำงานของแม่ที่เข้าร่วมโครงการมีประสิทธิภาพมากขึ้นถึงร้อยละ 44 ซึ่งมีสถานประกอบกิจการเข้าร่วม 38 แห่ง มีมุมนมมามาตรฐาน 27 แห่ง โดยแม่ที่เข้าโครงการทั้งหมด 529 ราย พบว่าร้อยละ 56 แม่ต้องให้นมลูกวัย 0-5 เดือน ร้อยละ 37.2 ให้นมลูกวัย 6-11 เดือน และร้อยละ 6.8 ให้นมลูกที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีความต้องการที่จะส่งเสริมให้มีศูนย์นมแม่อยู่ 2 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นายจ้าง ซึ่งจะจัดให้มีการประชุม และชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ในการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ เช่น สถิติการทำงานของลูกจ้างว่ามีการหยุดงาน ลางานน้อยลง นอกจากนั้นยังทำให้ลูกจ้างมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งคือ ลูกจ้าง ที่จะให้ความรู้ในเรื่องประโยชน์ของนมแม่ที่ลูกในช่วงแรกเกิดถึง 6 เดือนแรกควรจะได้รับ เพราะมีผลสำรวจชี้ชัดว่าทารกที่ดื่มนมแม่นั้นจะมีระดับสติปัญญาที่ดีกว่าทารกที่ไม่ได้ดื่มนมแม่นั่นเอง
แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยจะให้การสนับสนุนในเรื่องขององค์ความรู้ทางวิชาการ และร่วมจัดทำเกณฑ์มาตรฐานมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ไปพร้อม ๆ กับการขับเคลื่อนให้เกิดกระแสการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ และประสานความร่วมมือการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการระหว่างองค์กรภาคีเครือข่าย
ด้าน แพทย์หญิงยุพยง แห่งเชาวนิช ผู้จัดการโครงการสร้างรากฐานชีวิต และสังคมด้วยนมแม่ เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีมหาศาล เพราะน้ำนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารกว่า 200 ชนิด ช่วยในเรื่องพัฒนาการทางด้านสติปัญญา อารมณ์ ช่วยส่งเสริมและทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง มีรายงานการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปพบว่า ทารกที่ได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน มีระดับสติปัญญาดีกว่าทารกที่ไม่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่ถึง 2-5 จุด แต่จากการสำรวจสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทย โดยองค์การยูนิเซฟ ในปี 2549 พบว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนของเราอยู่ในระดับต่ำมาก นอกจากนี้ผลสำรวจสถานการณ์พัฒนาการเด็กไทยยังพบว่าเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี มีพัฒนาการสมวัยลดลงจากร้อยละ 72 ในปี 2547 เหลือเพียงร้อยละ 67 ในปี 2550 ดังนั้นถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรจับมือร่วมกันในการที่ช่วยเด็กไทยเติบโต แข็งแรงและมีพัฒนาการสมวัย
“การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นเรื่องของคุณภาพและสุขภาพของเด็กไทย ถ้าเราไม่สามารถสร้างพลเมืองให้มีคุณภาพ เราจะไม่มีโอกาสได้แรงงานที่มีฝีมือในอนาคต ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดให้มีมุมนมแม่อยู่ในสถานประกอบการซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก เพียงผู้บริหารมีความจริงใจ ตั้งใจและเล็งเห็นถึงประโยชน์โดยใช้งบประมาณไม่มากนัก เพียงแค่จัดสถานที่ให้เหมาะสม มีสถานที่มิดชิดเป็นส่วนตัว สะอาด ถูกสุขอนามัย มีตู้เย็น อ่างล้างมือ เก้าอี้นั่ง น้ำดื่ม สำหรับให้แม่ไปใช้บริการ แค่นี้ก็เกิดเป็นมุมนมแม่ได้ ที่สำคัญที่สุดคือการ อนุญาตให้แม่ใช้เวลางานประมาณ ครึ่งชั่วโมง วันละ 2 ครั้งมาบีบ เก็บน้ำนม” พญ.ยุพยงกล่าว
เรื่องโดย: วชิราภรณ์ ฤทธิ์สมบูรณ์ Team content
www.thaihealth.or.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น