คุณเป็นพ่อแม่ที่ฝันร้ายทุกครั้งที่สอนการบ้านลูกหรือไม่..!!

 คุณเป็นพ่อแม่ที่ฝันร้ายทุกครั้งที่สอนการบ้านลูกหรือไม่..!!


โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน (ASTVผู้จัดการออนไลน์)


คุณเป็นพ่อแม่ที่มักทะเลาะกับลูกในช่วงเวลาสอนการบ้านหรือไม่
       
       คุณเป็นพ่อแม่ที่สุดแสนจะใจดี แต่กลับหงุดหงิดอารมณ์เสียทุกครั้งที่สอนการบ้านลูกหรือไม่
       
       ไม่น่าเชื่อว่า..มีพ่อแม่จำนวนมากที่พบว่าช่วงเวลาสอนการบ้านของลูก กลายเป็นช่วงเวลาฝันร้ายของครอบครัวไปซะ บางครอบครัวถึงขนาดต้องจ้างคนอื่นสอนการบ้านลูกแทนอีกต่างหาก
       
       ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า เด็กก็คือเด็ก เด็กก็อยากเล่นสนุก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ไม่อยากทำการบ้าน แต่ก็ไม่อยากโดนทำโทษ ก็แหม เรียนที่โรงเรียนมาทั้งวัน กลับบ้านยังต้องมาทำการบ้านอีก ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีฤทธิ์เดช หรืออิดออดไม่อยากทำการบ้านบ้าง
       
       ยิ่งสภาพสังคมโดยรวมของเด็กที่ต้องเผชิญกับปัญหารถติด กลับบ้านก็ต้องอาบน้ำกินข้าว เหลือเวลาไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องเร่งทำการบ้าน ไหนยังไม่ได้เล่นอะไรเลย ก็ถึงเวลาต้องนอนอีกแล้ว ยิ่งถ้าเด็กคนไหนต้องเรียนพิเศษตอนเย็นด้วยแล้ว แทบจะไม่เหลือเวลาทำอย่างอื่นเลย
       
       ในขณะที่คนเป็นพ่อแม่ก็ต้องผจญปัญหาเดียวกัน เร่งรีบไปหมด ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเกิดอาการและอารมณ์หงุดหงิด อารมณ์เสียได้ง่ายเมื่อไม่ได้ดั่งใจ เมื่อพ่อแม่ลูกต่างเผชิญสภาวะแวดล้อมที่เร่งรีบไปซะหมด โอกาสอารมณ์เสียก็มากไปด้วย จึงมีโอกาสปะทะหรือทะเลาะกันได้ถ้าไม่ควบคุมอารมณ์
       
       ในฐานะที่คุณเป็นพ่อแม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายควบคุมและจัดการกับอารมณ์ของตัวเองให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นเมื่อลูกต้องเจอะเจอกับสถานการณ์พ่อแม่ชอบดุ หรืออารมณ์เสียเวลาสอนการบ้านลูก รับประกันว่าลูกจะยิ่งไม่ชอบช่วงเวลาทำการบ้านเลย และปัญหาก็จะบานปลายไปเรื่อยๆ กลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่ในเรื่องพฤติกรรมอื่นๆ ของลูกอีกด้วย
       
       ฉะนั้น พ่อแม่ต้องมีเทคนิคในการทำให้ช่วงเวลาทำการบ้านของลูกให้กลายเป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกไปด้วยก็จะดีมิใช่หรือ
       
       ข้อแรก พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจกับพื้นนิสัยของลูกก่อนว่าเป็นอย่างไร ชอบอิดออด ชอบต่อรอง หรือชอบทำอะไรเป็นพิเศษ จากนั้นต้องปรับที่ใจของตัวเองก่อนว่าจะทำให้ช่วงเวลาสอนการบ้านของลูกเป็นช่วงเวลาทำกิจกรรมสนุกร่วมกัน
       
       ข้อสอง ตั้งกฎกติกาภายในบ้านร่วมกัน เช่น ต้องทำการบ้านเสร็จก่อนจึงจะได้ทำกิจกรรมในสิ่งที่ลูกชอบ หรืออาจกำหนดช่วงเวลาทำการบ้านกัน ช่วงแรกลูกอาจรู้สึกอึดอัด แต่ถ้าทำทุกวันสม่ำเสมอ ลูกจะรู้สึกเคยชินว่าช่วงเวลานั้นเขาต้องทำการบ้าน แต่ถ้าใช้วิธีนี้ก็อาจมีการยืดหยุ่นกันได้ อย่าเคร่งคัดจนเกินไป เพราะบางครั้งสภาพอารมณ์ของลูกก็อาจไม่พร้อม

       ข้อสาม ควรดูจำนวนการบ้านของลูกว่ามีมากแค่ไหน ถ้ามาก คุณควรแบ่งการบ้านเป็น 2 ช่วง ลูกจะได้ไม่รู้สึกเบื่อ แต่ต้องตกลงกันก่อน ต้องให้เขาสมัครใจด้วย ที่สำคัญอย่าให้มีการบ้านค้างคา ไม่ส่งการบ้าน จนกลายเป็นดินพอกหางหมู เพราะจะสร้างนิสัยผัดวันประกันพรุ่งให้ลูกด้วย
       
       ข้อสี่ ช่วงเวลาขณะทำการบ้านต้องจัดสภาพแวดล้อมให้สงบ ปิดโทรทัศน์หรืออยู่ในสถานที่ที่ไม่มีเสียงรบกวน เพื่อจะได้ทำให้ลูกมีสมาธิมากขึ้น

       ข้อห้า สร้างบรรยากาศทำการบ้านให้สนุก อาจนำของจริงมาใช้ประกอบการอธิบายการบ้านให้กับลูก เช่น เรื่องต้นไม้ ก็อาจชวนลูกไปดูต้นไม้ชนิดนั้นๆ ถ้ามีอยู่ในบ้าน หรือเรื่องดวงดาว ก็ชักชวนว่าวันหยุดจะพาไปดูดวงดาวที่ท้องฟ้าจำลอง เพื่อจะได้เห็นภาพตามไปด้วย จะเพิ่มความสนใจใฝ่รู้ และสนุกมากขึ้น ที่สำคัญเป็นการต่อยอดการเรียนรู้ของลูกด้วย
       
       ข้อหก ทุกครั้งที่ลูกสามารถทำการบ้านเสร็จเรียบร้อย พ่อแม่อย่าลืมคำชม กำลังใจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก เพราะจะทำให้เขารู้สึกดีกับตัวเอง
       
       ข้อเจ็ด ถ้าติดขัดพ่อแม่ก็ช่วยลูกไม่ได้ ต้องชักชวนกันไปหาข้อมูลและคำตอบ เพราะจะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ว่าเมื่อไม่รู้ ก็ต้องแสวงหาคำตอบ เพราะถ้าลูกไม่รู้คำตอบ แล้วพ่อแม่ปล่อยให้ไปลอกเพื่อนที่โรงเรียน หรือไม่สนใจคำตอบ ลูกก็จะขาดความขวนขวาย เมื่อไม่รู้เรื่องใดก็ปล่อยไป
       
       ข้อสุดท้าย สำคัญมาก ถ้าพ่ออารมณ์เสียต้องหยุดสอนการบ้านลูกทันทีแล้วเปลี่ยนให้แม่ หรือผู้ใหญ่ในบ้านคนอื่นๆ เข้ามาทำหน้าที่แทน หรืออาจให้หยุดพักก่อน เพื่อหันไปทำอย่างอื่น และเมื่ออารมณ์ปกติก็ชวนกันมาทำการบ้านก่อน
       
       เรื่องการบ้านของลูกดูเสมือนเป็นเรื่องเล็กๆ เมื่อเรียนหนังสือก็ต้องมีการบ้าน แล้วพ่อแม่มักเข้าใจและคาดหวังว่าเมื่อลูกเรียนหนังสือแล้ว ต้องทำการบ้านได้ พอทำไม่ได้ก็จะหงุดหงิด คิดว่าลูกไม่ตั้งใจเรียนในห้องเรียน หรือบางครั้งก็ชอบมองว่าทำไมโจทย์ง่ายขนาดนี้ ลูกเรากลับทำไม่ได้ แท้จริงแล้ว เราใช้สายตาของผู้ใหญ่มอง และคิดเอาเองว่าลูกน่าจะทำได้
       
      ถ้าเราลองเปลี่ยนวิธีคิดว่า การทำการบ้านคือช่วงเวลาของการทำกิจกรรมร่วมกัน แล้วเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้สอนทักษะอื่นๆ อีกมากมายผ่านการสอนการบ้านไปด้วย และช่วงเวลานี้แหละคือช่วงเวลาของความสนุกสนาน ได้มีการสอบถามความเป็นไปที่โรงเรียน ได้เห็นพัฒนาการที่เติบโตขึ้นของลูกผ่านการบ้าน ได้รับรู้ว่าลูกของเราถนัดอะไร ไม่ถนัดอะไร เราจะได้ช่วยเสริมในสิ่งที่ขาดไม่ดีกว่าหรือ
       
       ช่วงเวลาทำการบ้านของลูกจะเป็นฝันร้ายหรือฝันดีอยู่ที่พ่อแม่จริง ๆ ค่ะ

ความคิดเห็น