การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว

การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว หลังคลอดลูก หากคุณแม่ให้นมลูกเอง นน.จะลงมาเป็นปกติภายใน 1-6 ด.โดยไม่ต้องซื้อคอร์สลดนน.ราคาแพง หรือ ซื้อยาลดนน.จากอินเตอร์เนทที่เป็นอันตรายมากิน โดยมีข้อแม้ว่า ตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน คุณแม่ควรควบคุมน้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์ให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 10-12 กก.ตลอดการตั้งครรภ์ โดยที่ 3 ด.แรก น้ำหนักต้องไม่ขึ้นเลย 3 ด.ถัดมาขึ้น 6 กก. และ 3 ด.สุดท้ายขึ้น 6 กก. ใครที่นน.ขึ้นเกินจากนี้ ไม่ดีนะคะ อย่าคิดว่าตอนท้องเป็นช่วงโปรโมชั่น อยากกินอะไรก็กินได้ตามใจอยาก อ้วนได้ไม่มีใครกล้าว่า แล้วคิดกินเพื่อลูก โด๊ปอาหารก่อภูมิแพ้เข้าไปมากมาย นมวัวเอย ผลิตภัณฑ์นมวัวเอย ทั้งชีส เค้ก ไอศครีม นมถั่วเหลืองซื้อมาเป็นลังๆ ไข่กินวันละหลายๆฟอง ขนมนมเนยทุกชนิด ปลาแซลมอนทุกมื้อ ผลที่ตามมา คือ แม่อ้วนทำให้เสี่ยงต่อเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ลูกเสี่ยงกับภาวะแพ้โปรตีนกลุ่มเสี่ยง พอคลอดลูกเสร็จ ก็ยังกินบำรุงน้ำหนักต่อ โดยคิดว่าจะทำให้ผลิตน้ำนมได้เยอะ ผลที่เกิดขึ้นคือ น้ำหนักส่วนเกินยังคงอยู่สะสมในร่างกาย แต่น้ำนมไม่ได้เพิ่มขึ้น (ดังรูปบน) เพราะปริมาณน้...

5 ปัจจัยที่ทำให้ลูกฉลาด

 5 ปัจจัยที่ทำให้ลูกฉลาด


ขอขอบคุณข้อมูลจาก motherandcare.in.th



ถามพ่อแม่ 100 คน ว่าอยากให้ลูกฉลาดหรือไม่ คำตอบก็คงเหมือนกันทั้ง 100 คน
แต่ทำอย่างไรดีล่ะที่จะทำให้ลูกฉลาด ถ้าเป็นสมัยก่อนก็จะบอกว่า เป็นไปตามบุญ ตามกรรม หรือพรสวรรค์ของคนนั้น
ถัดมาอีกหน่อยก็บอกว่าพ่อแม่ฉลาดลูกก็ฉลาด แต่ปัจจุบัน ความฉลาดเป็นเรื่องที่พ่อแม่สามารถเสริมให้ลูกได้มากขึ้น
และปัจจัยที่สำคัญที่สุด ก็คือ พ่อแม่จะสามารถส่งเสริมความฉลาดของลูกได้มากน้อยแค่ไหน

ฉบับนี้เรามาดูกันว่า อะไรบ้างที่ทำให้ลูกฉลาด และพ่อแม่จะมีวิธีส่งเสริมให้ลูกฉลาดได้อย่างไร
 
1. พันธุกรรม
คือการถ่ายทอดลักษณะจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นต่อไป เช่น สีผม สีตา ความสูง โรคบางชนิด รูปร่าง รวมถึงสติปัญญาบางส่วน (จากการวิจัยมีรายงานว่ามีส่วน 48%) ในส่วนของพันธุกรรม เราคงไม่สามารถไปแก้ไขอะไรได้
 
พ่อแม่ทำได้
การเตรียมพร้อมสุขภาพลูก ตามหลักความเป็นจริง ต้องเตรียมตั้งแต่ยังไม่ตั้งครรภ์กันเลยทีเดียว คุณแม่ต้องมีร่างกายแข็งแรง เสริมวิตามินโฟเลต เพื่อป้องกันภาวะกะโหลกศีรษะไม่ปิด และมีการเช็กสุขภาพ ตรวจเลือดเพื่อดูว่าร่างกายยังไม่มีภูมิคุ้มกันใดๆ จะได้ฉีดวัคซีนก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคนั้นๆ ระหว่างตั้งครรภ์ เพราะบางโรคมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตต่อลูกในท้องเป็นอย่างมาก

รวมทั้งค้นหาความเสี่ยงของการเกิดโรคธาลัสซีเมีย หรือไม่ ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพราะคนไทยมีพาหะของโรคนี้ค่อนข้างเยอะ ทำให้ถ่ายทอดไปยังลูก ถ้ามีลูกเมื่อแม่มีอายุเยอะหรือญาติสนิทเคยเป็นโรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับสมอง ที่เห็นได้เด่นชัดเช่น ดาวน์ซินโดรม ควรได้รับการเจาะน้ำคร่ำ เมื่ออายุครรภ์ได้ 4 เดือน เพื่อจะได้มีการวินิจฉัยว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน  ถ้ามีการวางแผนก่อนการตั้งครรภ์ และมีการดูแลครรภ์ที่ดีจะลดปัญหาเรื่องความผิดปกติของลูกไปได้มากมาย

2.  อาหาร

นอกจากอาหารจะช่วยให้ลูกน้อยเจริญเติบโตแล้ว สารอาหารบางชนิดส่งผลโดยตรงต่อความฉลาดของลูก เพราะสารอาหารจะเข้าไปมีส่วนช่วยในพัฒนาการของการเจริญเติบโตของสมอง ฉะนั้นถ้า เด็กมีภาวะขาดสารอาหาร จะมีผลต่อการเรียนรู้ จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการขาดสารอาหาร มีผลงานวิจัยที่ชัดเจนว่า เด็กที่ได้รับสารอาหารที่ดีจะมีประสิทธิภาพในการอ่าน การคิดเลขที่ดีกว่าเด็กที่ขาดสารอาหาร และในเด็กบางกลุ่ม อาจจะมีปัญหาโรคสมาธิสั้นก็เป็นได้ ฉะนั้นการให้ลูกรับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอ จะทำให้พัฒนาการทั้งร่างกาย การเรียนรู้เป็นไปอย่างสมบูรณ์

สารอาหารที่สมองต้องการเป็นพิเศษ  เช่น
กรดไขมันโอเมก้า 3 หรือ DHA : มีการเสนอผลงานของการตรวจระดับ DHA ในเลือดของเด็กอายุ 4 ปี ที่มีสุขภาพแข็งแรงพบว่า ถ้ายิ่งมี DHA ในเลือดมากเท่าใด เด็กก็จะ  ทำแบบทดสอบด้านการรับรู้ได้ดีมากขึ้นเท่านั้น
โอเมก้า 3 มีผลต่อระบบการทำงานของสมอง และระบบประสาท (จอตา) รวมทั้งช่วยปกป้องการทำงานของหัวใจให้เป็นไปตามปกติ ซึ่งอาหารที่พบโอเมก้า 3 มากก็คือ  ปลาทะเล ปลาน้ำจืด ผักใบเขียว
ธาตุเหล็ก : เราอาจจะคุ้นเคยกับประโยชน์ของธาตุเหล็กในเรื่องของการสร้างเม็ดเลือด แต่ธาตุเหล็กก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างไขมันสมอง และสารเคมีในสมอง ซึ่งทำให้การทำงานของสารเคมีเป็นไปอย่างปกติ การเรียนรู้ของลูกน้อยก็จะดีไปด้วยเช่นกัน
 
พ่อแม่ทำได้
การเตรียมอาหารให้ลูกด้วยตัวเอง ยังคงเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ เพราะอาหารที่ทำเองย่อมสะอาดกว่าอาหารนอกบ้าน คุณพ่อคุณแม่สามารถกำหนดรสชาติ และความสดของวัตถุดิบ รวมถึงให้ลูกคุ้นเคยกับการเลือกอาหารที่มีประโยชน์ ไม่พึ่งพาอาหารนอกบ้านมากเกินไป
        
 
3.  ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายของ เด็กเล็กๆ นั้นดูเหมือนไม่ใช่ปัญหาใหญ่โต เพราะเด็กวัยเตาะแตะ เป็นวัยที่กำลังพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ให้แข็งแรง และคล่องแคล่ว เด็กอยากจะเดิน จะวิ่งและเล่นอยู่เกือบตลอดเวลา

การออกกำลังกาย มีส่วนเกี่ยวข้องกับความฉลาดของลูก เพราะเมื่อร่างกายได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนโลหิตแข็งแรง ปอดมีการแลกเปลี่ยนออกซิเจนเพิ่ม มีความสุข สบายใจเนื่องจากร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน และหลับสนิท ได้ต่อเนื่องร่างกายก็จะหลั่ง Growth Hormones เมื่อร่างกายพร้อม ก็ ย่อมพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างสนุกสนาน
 
พ่อแม่ทำได้
สิ่งที่พ่อแม่ควรส่งเสริม คือ ให้ลูกมีโอกาสได้เล่นกลางแจ้ง จัดสถานที่ให้ปลอดภัยต่อการหัดเดิน หัดวิ่งของลูก คอยระวังเรื่องอากาศบ้าง ถ้าลูกเล่นมาก เหงื่อออกมาก อย่าลืมป้อนน้ำลูกให้บ่อยขึ้น และสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
 
4. คำพูดของผู้ใหญ่ในบ้าน
หลายท่านอาจจะงงว่าแค่ ‘คำพูด’ จะสำคัญอะไรกับความฉลาดของลูก แต่ถ้าลองนึกถึงพฤติกรรมของลูกให้ดี จะเห็นว่าวัยนี้สามารถใช้ภาษาสื่อสารได้ดี มีทั้งความอยากรู้ อยากสัมผัส อยากทดลอง อยากเลียนแบบ ฉะนั้นถ้าเด็กได้รับประสบการณ์ที่ดี ก็จะสะสมสิ่งเหล่านั้นจนกลายเป็นความเข้าใจ และนำไปใช้ในที่สุด
 
ดังนั้น ถ้าพ่อแม่เปิดโอกาสให้สมองของลูกมีการเรียนรู้ ได้คิด ได้ลองทำ ทดลอง โดยไม่ตีกรอบมากจนเกินไปด้วยคำพูดของผู้ใหญ่ที่บอกว่า “อย่ากระโดดนะ เดี๋ยวล้ม” “อย่าเอามือไปจับสีสิลูก สกปรก” “อย่าเล่นทรายนะ เดี๋ยวเข้าตา” ฯลฯ  ด้วยคำว่า ‘อย่า’ หรือการห้ามทำ เท่ากับเป็นการปิดโอกาสการเรียนรู้ของลูก แต่ถ้าพ่อแม่สามารถ ส่งเสริมให้ลูกได้ทดลอง ได้หยิบจับ โดยดูแลเรื่องความปลอดภัยให้แล้ว ลูกจะสนุกกับการค้นหา ทดลอง พ่อแม่เพียงแต่แนะนำ กระตุ้นให้ลองทำ เท่ากับเป็นการเสริมให้ลูกใช้สมองอย่างเต็มที่
 
พ่อแม่ทำได้
การพูดกับลูกและสมาชิกในครอบครัว ด้วยคำพูดที่อ่านหวาน รักษาจิตใจกัน ลูกจะจดจำและเลียนแบบคำพูด และลักษณะนั้นๆ เกิดความไว้ใจคนในครอบครัว และพ่อแม่ควรพาลูกไปรู้จักกับคนอื่นๆ บ้าง เป็นการส่งเสริมให้ลูกรู้จักการปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น เพื่อให้มีสัมพันธภาพ  ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
 
5. ไม่เปิดโทรทัศน์เลี้ยงลูก
หลายปีมานี้ คุณแม่คงเคยได้ยิน หรือได้รับทราบข่าวสารถึงพิษภัยของทีวีกับ เด็กเล็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การพัฒนาการเด็ก ค่อนข้างให้ความสำคัญ และเป็นประเด็นกันบ่อยครั้ง ว่าการเปิดทีวีให้เด็กดูนั้น ไม่ได้ช่วยพัฒนาสมองเด็ก แถมยังเป็นหนามแหลมกลับมาทำร้ายลูกเราได้ด้วย มีการวิจัยรับรองมากมายว่าการให้เด็กเล็กดูทีวีมีผลเสีย บางรายเป็นโรคสมาธิสั้นเพราะทีวี

ภาพเคลื่อนไหวหน้าจอ จะดึงดูดความสนใจของเด็ก ซึ่งเด็กจะได้ดูภาพ (ได้แค่ภาพสองมิติ) กับได้ยินเสียง แต่ไม่สามารถตอบโต้กับเด็กได้ และเป็นการรับสารฝ่ายเดียว ซึ่งขัดกับหลักการเรียนรู้ของเด็กที่ต้องเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งหก แต่ทีวีตอบสนองสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ เมื่อเด็กได้ดูทีวีมากๆ สมองที่ควรจะได้รับการเรียนรู้ กลับไม่ได้รับการกระตุ้น ทำให้สมองส่วนรับประสาทสัมผัสอื่นๆ ฝ่อไป (สมองจะดีได้  ต้องถูกใช้งานเป็นประจำ อย่างสม่ำเสมอ) แถมรายการที่ฉายก็ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก ทั้งในเรื่องภาพ คำพูด หรือการโฆษณาต่างๆ เป็นสิ่งที่ไม่น่าเลียนแบบ ฉะนั้นถ้าพ่อแม่ยังคิดว่า การเลี้ยงลูกด้วยทีวีเป็นเรื่องง่าย สามารถหยุดความซนของลูกวัยนี้ได้ ก็เท่ากับทำร้ายลูกตัวเองในระยะยาวก็เป็นได้
 
พ่อแม่ทำได้
การหากิจกรรมอื่นๆ ให้ลูกทำ สิ่งที่ลูกได้จะไม่ใช่คำพูดแปลกๆ เลียนแบบในจอ หรือท่าทางเลียนแบบตัวการ์ตูน แต่จะได้ประสบการณ์จากการเล่น ได้จับ ได้สัมผัส ที่สำคัญคือ ได้คิดต่อยอดสิ่งที่ตัวเองได้เล่น เช่น

+ หาสีผสมอาหารมาให้ลูกปั๊มนิ้ว วาดรูปลงกระดาษแผ่นใหญ่
+ เตรียมแป้งโดว์ให้ลูกปั้น
+ ของเล่นที่พัฒนาทักษะต่างๆ เช่น ตัวต่อ บล็อกไม้ หรือแม้แต่ก้อนหิน ใบไม้ที่อยู่บริเวณบ้าน ก็ยังนำมาเล่นกับลูกและเกิดประโยชน์มากกว่าการดูทีวี
+ อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง
+ ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่พ่อแม่สามารถเล่นกับลูกได้ไม่รู้เบื่อ เพียงแต่ต้องใช้ใจพ่อแม่เล่นด้วยเท่านั้นเอง
 
โดยสรุปแล้ว ความฉลาดของลูกนั้น ขึ้นอยู่กับสองมือของพ่อและแม่ ที่จะช่วยกันสร้างลูกขึ้นมา ให้เป็นเด็กที่มีความฉลาดจากการเรียนรู้ที่มีพ่อแม่คอยส่งเสริม หรือฉลาดแบบตามธรรมชาติ แล้วปล่อยเป็นหน้าที่ของคุณครูเมื่อถึงเวลาเข้าโรงเรียนเท่านั้น ก็เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่จะตัดสินใจค่ะ

ความคิดเห็น