การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว

การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว หลังคลอดลูก หากคุณแม่ให้นมลูกเอง นน.จะลงมาเป็นปกติภายใน 1-6 ด.โดยไม่ต้องซื้อคอร์สลดนน.ราคาแพง หรือ ซื้อยาลดนน.จากอินเตอร์เนทที่เป็นอันตรายมากิน โดยมีข้อแม้ว่า ตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน คุณแม่ควรควบคุมน้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์ให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 10-12 กก.ตลอดการตั้งครรภ์ โดยที่ 3 ด.แรก น้ำหนักต้องไม่ขึ้นเลย 3 ด.ถัดมาขึ้น 6 กก. และ 3 ด.สุดท้ายขึ้น 6 กก. ใครที่นน.ขึ้นเกินจากนี้ ไม่ดีนะคะ อย่าคิดว่าตอนท้องเป็นช่วงโปรโมชั่น อยากกินอะไรก็กินได้ตามใจอยาก อ้วนได้ไม่มีใครกล้าว่า แล้วคิดกินเพื่อลูก โด๊ปอาหารก่อภูมิแพ้เข้าไปมากมาย นมวัวเอย ผลิตภัณฑ์นมวัวเอย ทั้งชีส เค้ก ไอศครีม นมถั่วเหลืองซื้อมาเป็นลังๆ ไข่กินวันละหลายๆฟอง ขนมนมเนยทุกชนิด ปลาแซลมอนทุกมื้อ ผลที่ตามมา คือ แม่อ้วนทำให้เสี่ยงต่อเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ลูกเสี่ยงกับภาวะแพ้โปรตีนกลุ่มเสี่ยง พอคลอดลูกเสร็จ ก็ยังกินบำรุงน้ำหนักต่อ โดยคิดว่าจะทำให้ผลิตน้ำนมได้เยอะ ผลที่เกิดขึ้นคือ น้ำหนักส่วนเกินยังคงอยู่สะสมในร่างกาย แต่น้ำนมไม่ได้เพิ่มขึ้น (ดังรูปบน) เพราะปริมาณน้...

สองสิ่งที่ลูกต้องการจากพ่อแม่เพื่อตั้งหลักชีวิต/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สองสิ่งที่ลูกต้องการจากพ่อแม่เพื่อตั้งหลักชีวิต/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ (17 มกราคม 2555)



 วันสำคัญ ๆ ในบ้านเราทีไรก็จะมีการทำผลสำรวจหรือผลโพลล์จากสำนักต่าง ๆ ให้เห็นแทบจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันแล้ว สุดแท้แต่ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร ในปีนี้ก็เช่นกันมีผลสำรวจจากหลากหลายสำนักในช่วงวันเด็กที่ผ่านมา
       
       ดิฉันขอหยิบยกเอาผลสำรวจที่จัดทำโดยกลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย เกี่ยวกับอาชีพในฝันของเด็กไทย ซึ่งพบว่า แพทย์ ยังคงเป็นอาชีพในฝันที่ได้รับเลือกมากที่สุดจากเด็กๆ ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 รองลงมาคือ ครู ทนายความ พ่อครัว นักธุรกิจ สัตวแพทย์ ตามลำดับ
       
       การสำรวจครั้งนี้สอบถามเด็ก ๆ อายุระหว่าง 7-14 ปี ในประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเด็กๆ ผู้ตอบแบบสอบถามจะมีลักษณะและพื้นฐานการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน แต่อาชีพแพทย์ยังคงเป็นอาชีพในฝันสำหรับเด็กๆ ติดต่อกันมาถึง 3 ปี
       
       แต่ที่ดิฉันสนใจเป็นพิเศษและอยากนำมาขยายผลก็คือ คำถามเด็กๆ เกี่ยวกับการใช้เวลาอยู่กับครอบครัว หรือการหาเงินได้มากๆ ผลการสำรวจพบว่าเด็กๆ ร้อยละ 94 บอกว่า การใช้เวลาอยู่กับครอบครัวสำคัญกว่าการหาเงินให้ได้มาก ๆ ส่วนหนึ่งคงเนื่องมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมส่งผลให้ครอบครัวอยู่ด้วยกันในยามวิกฤต จนทำให้ส่งผลถึงคำตอบจากเด็ก ๆ โดยมีเหตุผลว่า ครอบครัวคอยให้กำลังใจกัน หากไม่มีครอบครัวก็เหมือนไม่เหลืออะไร ครอบครัวทำให้มีความสุข ครอบครัวซื้อของเล่นให้ และเด็กหลายคนอยากใช้เวลาท่องเที่ยวกับครอบครัวให้มากยิ่งขึ้น
       
       ในขณะที่สำนักเอแบคโพลล์มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยกรณีศึกษาตัวอย่างพ่อแม่ผู้ปกครองและบุตรหลานอายุไม่เกิน 19 ปีในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,205 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 4 -11 มกราคมที่ผ่านมา พบว่าเมื่อสอบถามผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นพ่อแม่ และผู้ปกครองว่าอาชีพในฝันที่อยากให้บุตรหลานเป็นมีอะไรบ้าง พบว่า อันดับแรกอยากให้เป็นแพทย์ รองลงมานักธุรกิจ ครู อาจารย์ นักวิชาการ พยาบาล ตำรวจ ฯลฯ แต่เมื่อสอบถามเด็กๆ ที่เป็นบุตรหลานวัยไม่เกิน 19 ปี พบว่า อาชีพที่อยากเป็นอันดับแรกคือ นักบิน แอร์โฮสเตส รองลงมาอยากเป็นดารา นักร้อง นักแสดง ตามมาด้วยแพทย์ นักธุรกิจ ตำรวจ ฯลฯ
       
       เมื่อสอบถามถึงการจัดสรรเวลาของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มีให้กับบุตรหลาน ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.2 ระบุว่าเพียงพอแล้ว แต่ในกลุ่มของเด็กๆ ที่เป็นบุตรหลานร้อยละ 65.3 เท่านั้นที่ระบุว่าเพียงพอแล้ว ในขณะที่บุตรหลาน เกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 34.7 ที่ระบุว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองยังจัดสรรเวลาให้บุตรหลานไม่เพียงพอ
       
       แม้ผลสำรวจจะต่างสำนักและกลุ่มตัวอย่างต่างพื้นที่กัน แต่ก็มีแง่คิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่อง “เวลา” ที่ใกล้เคียงกัน และเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมปัจจุบันเกี่ยวกับเรื่อง “เวลา” ที่เพียงพอสำหรับครอบครัว เพราะพ่อแม่และลูกเห็นต่างกัน

   
       ผลการสำรวจสะท้อนว่าความต้องการเรื่องเวลาของพ่อแม่และลูกไม่เท่ากัน พ่อแม่คิดว่าเพียงพอแล้ว ในขณะที่เด็กอยากมีช่วงเวลากับพ่อแม่ยังไม่เพียงพอ ต้องการมากกว่านี้
       
       ที่ผ่านมาเรามักได้ยินบ่อย ๆ ว่าทุกคนมีเวลาเท่ากัน แต่ทำไมผู้คนชอบพูดคำว่า”ไม่มีเวลา” และคำ ๆ นี้ก็ได้กลายเป็นเหตุผลของคำแก้ต่างของผู้คนในทุกกรณีเวลาที่คนเราไม่สามารถทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ หรือกลายเป็นข้ออ้างในแทบจะทุกกรณี
       
       รวมถึงเรื่องลูกด้วย
       
       พ่อแม่จำนวนมากทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพียงเพราะต้องการได้เงินมาก ๆ และจบท้ายด้วยประโยคสุดหรูว่าอยากให้ลูกเรียนสูง ๆ อยากให้ลูกอยู่สุขสบาย และทุกอย่างที่ทำก็เพื่อลูกทั้งสิ้น
       
       แต่..ยามที่ลูกทำอะไรผิดพลาดหรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม สิ่งที่ตามมาก็คือคำตำหนิจากพ่อแม่ว่า พ่อแม่อุตสาห์ทำมาหากินเพื่อลูก เหนื่อยสายตัวแทบขาด ทำไมลูกถึงทำตัวแบบนี้ ไม่รักดีบ้างล่ะ แล้วก็ซ้ำเติมด้วยคำว่าผิดหวังในตัวลูกมาก โดยหารู้ไม่ว่ายิ่งเป็นการซ้ำเติมภาวะจิตใจที่แย่อยู่แล้วให้หนักเข้าไปอีก
       
       จะว่าไปแล้ว สิ่งที่ลูกต้องการจากพ่อแม่ในวัยเด็กมีอยู่สองประการหลักๆ ในการตั้งหลักของชีวิต
       
       หนึ่ง - เวลาคุณภาพ
       
       การให้เวลาแก่ลูกเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้พ่อแม่และลูกใกล้ชิดและเข้าถึงชีวิตของกันและกัน พ่อแม่อาจจะคิดว่าเวลาเป็นเงินเป็นทอง แต่ในทัศนะของลูกที่ต้องการพ่อแม่ เวลาที่พ่อแม่ให้เขาสำคัญกว่าเงินทองเป็นไหนๆ เพราะการให้เวลาแก่เด็กเป็นการแสดงความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกอย่างแท้จริง
       
       แต่..เวลาที่ให้ก็ควรต้องเป็นเวลาคุณภาพด้วย
       
       เมื่อไม่นานนี้เพื่อนของเจ้าลูกชายคนโตเล่าให้เขาฟังหลังจากที่เพื่อนของเขาได้ไปกินข้าวพร้อมกับครอบครัวของเราว่า “บ้านเราไม่เคยกินข้าวแบบนี้เลย กินข้าวไปคุยกันด้วยดีจังเลย บ้านเขากินข้าวพร้อมหน้ากันก็จริง แต่แม่ก็คุยบีบีไป พี่สาวก็แชททางไอโฟนไป พ่อก็คุยโทรศัพท์ ตัวเขาก็นั่งกินข้าวไปเฉยๆ ”
       
       ฟังแล้วก็สะอึกเหมือนกัน แต่เชื่อว่ามีหลายครอบครัวที่อาจมีพฤติกรรมเช่นนี้ คือถึงแม้มีเวลาอยู่ด้วยกันก็จริง แต่ต่างคนต่างอยู่ พ่อก็มีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง แม่ก็ก้มหน้าก้มตาดูแลบ้านไป ลูกก็อยู่ในส่วนของลูกไป ไม่ได้มีการสื่อสารพูดคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกันเลย สุดท้ายเด็กก็ซึมซับรับความรู้สึกเหล่านั้น แล้วในที่สุดเขาก็รู้สึกว่าเขา “ขาด” อยู่ดี
       
       สอง - รับฟังลูกด้วยความตั้งใจและเข้าใจ
       
       เมื่อมีเวลาคุณภาพแล้ว ก็ต้องพร้อมที่จะรับฟังลูกด้วยความตั้งใจ และมองลูกด้วยสายตาของเขาด้วย
       
       พ่อแม่บางคนอาจคิดว่า เมื่อลูกต้องการเวลา ก็ได้ตามนั้น แต่ลูกต้องเป็นผู้ควบคุม ยกตัวอย่าง ลูกอยากได้เวลาคุยกับพ่อแม่ ลูกก็คุยมา พ่อแม่จะฟังลูกท่าเดียว ซ้ำร้ายพ่อแม่บางคนฟังลูกไปอย่างนั้น ไม่ได้สนใจว่าลูกพูดอะไร ลูกพูดจบแล้ว ยังไม่รู้ว่าลูกพูดอะไร ตัวอยู่กับลูกแต่ใจและสมองไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ที่แย่ไปกว่านั้นขณะรับฟังปัญหาของลูกก็จะรีบเสนอคำตอบ และช่วยแก้ปัญหาด้วยวิธีของพ่อแม่เสียเอง โดยที่ยังฟังลูกไม่จบ
       
       การรับฟังลูกในทุกเรื่องด้วยสายตาของเขาอย่างเต็มใจ จะทำให้ลูกเกิดความมั่นใจว่าพ่อแม่รักเขาและพร้อมที่จะรับฟังเขาทุกเรื่อง และมันจะนำไปสู่ความเข้าใจในตัวลูก พวกเด็กๆ จะซึมซับได้ว่าพ่อแม่ตั้งใจรับฟังเขาหรือไม่ และสิ่งเหล่านี้ก็จะติดเป็นนิสัย เมื่อเขาเติบโตขึ้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาก็จะคิดถึงพ่อแม่ และรับรู้ได้ว่าพ่อแม่คือคนที่จะรับฟังเขาอย่างเข้าใจ และพร้อมที่จะให้เวลาคุณภาพกับเขาทุกเมื่อ
       
       อย่าลืมว่า ยิ่งสังคมมีปัญหามากเท่าไร การสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตให้ลูกยิ่งมีความสำคัญมากเท่านั้น เวลาคุณภาพสำหรับครอบครัว และการรับฟังลูกอย่างตั้งใจและเข้าใจ ยิ่งมีความจำเป็นและสำคัญมากขึ้นเท่านั้น เพื่อการตั้งหลักของชีวิตลูกต่อไปในอนาคต..!!

ความคิดเห็น