ผลของการทำงานนอกบ้านต่อการให้นมแม่ และ สิทธิตามกฎหมายในการลาพักคลอด

 ผลของการทำงานนอกบ้านต่อการให้นมแม่ และ สิทธิตามกฎหมายในการลาพักคลอด


เขียนโดย พญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล   
Thursday, 25 August 2011

ผลของการทำงานนอกบ้านต่อการให้นมแม่

               ในประเทศที่พัฒนาแล้วมีแม่จำนวนมากขึ้นที่ทั้งทำงานนอกบ้านและยังให้นมแม่ต่อได้ หญิงกลุ่มนี้จะเลือกมีบุตรเมื่ออายุ 30กว่าปี ถึง 40 ปีต้นๆ และหลังจากคลอดแล้วก็ยังต้องการทำงานในสายวิชาชีพของตนต่อ แม่ที่ได้รับการศึกษาในระดับยิ่งสูงและมีความก้าวหน้าในการงานยิ่งมาก จะมีโอกาสเลือกมากขึ้นว่าจะจัดการอย่างไรเพื่อให้นมแม่ต่อเนื่องได้    หนึ่งในวิธีการที่ใช้คือบีบเก็บน้ำนมแม่ในขณะอยู่ที่ทำงาน เพื่อนำกลับมาให้ลูกในวันถัดไป

               ในปี 1987 Ryan and Martinez1ได้ศึกษาผลของการทำงานที่มีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พบว่าเมื่อลูกอายุ 6 เดือน มีเพียง 10% ของแม่ที่ทำงานเต็มเวลาเท่านั้นที่ยังคงให้นมแม่อยู่เทียบกับ 24%ในแม่ที่ไม่ได้ทำงาน     และพบว่า แม่ที่อายุเกิน 30 ปีที่ได้รับการศึกษาที่ดี และมีระดับสังคมและเศรษฐกิจดี จะมีเปอร์เซนต์การให้นมแม่ได้ถึง 6 เดือนหลังคลอดสูงที่สุด2

               การที่แม่วางแผนจะกลับไปทำงานภายใน 6 เดือนแรกหลังคลอด ไม่มีผลต่อการเริ่มต้นให้นมแม่ แต่ Gielen  et al3 พบว่ามีผลอย่างชัดเจนต่อการหยุดให้นมแม่เร็วขึ้นภายใน 2- 3 เดือนหลังคลอด  และแม่ที่ทำงานน้อยกว่าหรือเท่ากับ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะให้นมแม่ได้ยาวนานกว่า

               

                  นอกจากนี้ การศึกษาที่ Washington D. C. พบว่า แม่ที่จะกลับไปทำงาน part time มีแนวโน้มจะให้นมแม่มากกว่า  และผู้ที่ทำงานในสายวิชาชีพ(professional) จะให้นมแม่ได้นานกว่าแม่ที่ทำงานสายเทคนิค หรือขายของ4                 

               ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งของแม่ทำงานคือ การหาสถานที่สำหรับบีบและเก็บน้ำนมแม่ได้ลำบาก   มีที่ทำงานจำนวนน้อยแห่งที่จะจัดห้องให้แม่ไว้เพื่อบีบเก็บน้ำนม  เมื่อไม่สะดวกที่จะบีบเก็บน้ำนม  จึงบีบน้ำนมได้น้อยครั้ง ปริมาณน้ำนมจะค่อยๆลดลง และในที่สุดก็ต้องหยุดให้นมแม่ก่อนเวลาอันควร ดังนั้นถ้าหากต้องการยืดเวลาการให้นมแม่ให้ยาวนานขึ้น  สถานที่ทำงานต้องอำนวยความสะดวกหา “ มุมนมแม่”ให้แม่ใช้ในการบีบเก็บน้ำนมแม่ด้วย

ผลดีของการให้นมแม่เมื่อแม่ต้องกลับไปทำงาน

1.ผลดีต่อลูก    ทารกที่ต้องไปฝากเลี้ยงที่สถานรับเลี้ยงเด็กในเวลากลางวันมักเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้บ่อย การได้นมแม่ต่อเนื่อง ทำให้ทารกกลุ่มนี้เจ็บป่วยน้อยลง

2. ผลดีต่อแม่ การที่ได้อุ้มลูกขึ้นดูดนมแม่จะช่วยผ่อนคลายความเครียดจากที่ทำงานได้ เนื่องจากมีการหลั่งฮอร์โมน oxytocin  ทำให้แม่ลูกยังคงมีความผูกพันกัน

3.ผลดีต่อนายจ้าง  จากเอกสารนโยบายของ U.S. Breast feeding Committee ได้รายงานผลดีต่อนายจ้างที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไว้ดังนี้6

-ประหยัดเงินได้ 3 ดอลล่าร์ ต่อ ทุกๆ 1 ดอลล่าร์ที่ลงทุนไปในการสนับสนุนการให้นมแม่

-ลูกที่กินนมแม่เจ็บป่วยน้อยกว่า จึงลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลงได้เฉลี่ย 400 ดอลล่าร์ต่อทารก  1 คนในข­­วบปีแรก     ลดการลางานเพื่อไปดูแลลูกที่ป่วย  และทำให้ ผลการทำงานของพนักงานดีขึ้น

-พนักงานมีความภักดีต่อนายจ้าง และมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น     นายจ้างสามารถดึงดูดและคงพนักงานที่มีคุณภาพไว้ได้   และ ชุมชนมองภาพลักษณ์ของนายจ้างว่าเป็นมิตรต่อครอบครัว

สิทธิตามกฎหมายในการลาพักคลอด

- แม่ที่เป็นข้าราชการ มีสิทธิหยุดงานหลังคลอดโดยได้รับเงินเดือนเต็ม 90 วัน และยังมีสิทธิ์ลาต่อโดยไม่รับเงินเดือนได้อีก 150 วัน รวมเป็น 240 วันหรือ 8 เดือน

- แม่ที่ทำงานเป็นลูกจ้าง  ตามกฎหมายแรงงานมีสิทธิ์หยุดงานลาคลอดโดยได้รับเงินเดือนเต็ม 3 เดือน โดยได้รับเงินเดือนจากนายจ้าง 45 วัน และจากสำนักงานประกันสังคม 45 วัน

      แต่ในทางปฏิบัติมีแม่จำนวนไม่มากที่จะใช้สิทธิ์ลาคลอดอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะแม่ที่ทำงานเป็นลูกจ้างเอกชน เนื่องจากความกังวลด้านเสถียรภาพของตำแหน่งงาน ดังนั้นทางออกที่ดีที่จะช่วยแม่ได้คือการฝึกบีบเก็บน้ำนมไว้ให้ลูก


Reference

1. Ry1.Ryan AS, Martinez GA :Breastfeeding and the working mother:A profile, Pediatrics 83:524,1989

2.        2.Fein SB, Roe B : The effect of work status on initiating and duration of  breast-feeding, Am J Public Health 88:1042.1998

3.        3.Galen AC, Faden RR, O’Campo P , et al :Maternal employment during the early post partum period: Effects on initiation and continuation of breastfeeding, Pediatrics 87:29, 1991

4.        Kurinij N,Shiono PH , Ezrine SF,et al: Does maternal emplolyment affect breastfeeding? Am J Public Health 79;1247,1989

5.     แม่ทำงานกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  พญ. ปิยาภรณ์ บวรกีรติขจร  รศ. กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์  ใน “เวชศาสตร์ปริกำเนิดในเวชปฏิบัติ”  ตุลาคม 2551

1.      6. U.S. Breast feeding Committee: Workplace breastfeeding support. http://usbfg.org. Accessed July 7 , 2010

ความคิดเห็น