การตลาดของนมผงที่มีการแจกนมผงตัวอย่างฟรีแก่แม่หลังคลอด โฆษณาในทุกสื่อ เป็นการตลาดที่ไร้จริยธรรมหรือไม่?
เขียนโดย พญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล Friday, 27 January 2012 นมผงสำหรับทารกไม่ใช่สินค้าโดยทั่วไป แต่เป็นอาหารที่จะต้องเข้าสู่ร่างกายทารกที่ยังแบบบาง การตลาดของสินค้าที่อาจมีผลกระทบต่อทารกเล็กๆ จึงไม่ควรจะเหมือนกับการตลาดของสินค้าทั่วไป ความจริงข้อที่1 “เมื่อไรที่ทารกเริ่มได้กินนมผง ยากที่จะเปลี่ยนกลับมากินนมแม่” นมผงที่แจกให้แม่หลังคลอด เพื่อให้แม่มีไว้ใกล้ๆมือ เมื่อไรที่เริ่มชงให้ลูกแรกเกิดที่กำลังร้องกิน เท่ากับเริ่มติดกับดักขั้นแรก บริษัทนมรู้ดีเท่าๆกับที่หมอเด็กรู้ดีว่า เมื่อไรก็ตามที่ทารกแรกเกิดได้ดูดนมจากจุกนมยาง เมื่อนั้นทารกจะเริ่มเรียนรู้ว่า นมนั้นไหลง่ายอย่างกับน้ำก๊อก ไม่ต้องออกแรงเท่าไรเลย แสนจะสบาย (คนเราติดความสบายมาตั้งแต่แรกเกิด)ถ้าลองให้ลูกแรกเกิดได้ดูดนมผงจากขวดบ่อยๆ พอให้ดูดนมจากอกแม่ก็จะไม่ดูดแล้ว แม่จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “มันไม่ทันใจน่ะคุณหมอ ดูดจากเต้านมไหลไม่ทัน “ ลูกเขาไม่ได้ต้องการนมจำนวนมากที่ไหลเร็วๆสักหน่อย พ่อแม่ต่างหากที่ไม่เข้าใจ ไปยัดเยียดให้เขาดูดจากจุกตั้งแต่แรก ลูกแรกเกิดมีอะไรใส่ปากก็ดูดทั้งนั้น ถ้าในโลกนี้ไม่มีจุกหรือขวดนมเสียอย่าง เวลาลูกร้อง แม่ก็จะต้องพยายามหาวิธีให้ลูกกินนมจากเต้าให้ได้ การที่มีขวดกับนมผงอยู่ใกล้มือ ทำให้บริษัทนมมีโอกาสที่จะได้ลูกค้าเพิ่มค่อนข้างสูง และเป็นลูกค้าชั้นดีเสียด้วย เพราะจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี โดยไม่ยอมเปลี่ยนยี่ห้อง่ายๆ Brand loyalty ค่อนข้างดี ดังนั้นใครชิงลูกค้าได้ตั้งแต่ต้น กำไรเห็นๆอยู่ ไร้จริยธรรมขั้นแรก คือ รู้ว่าถ้าได้ดูดนมผงจากจุกขวด จะดูดนมแม่ได้น้อยลง หรือไม่ดูดเลย แต่ก็ยังแจกเอานมผงนั้นไปไว้ข้างเตียงแม่หลังคลอดให้หิ้วกลับบ้าน (เพราะรู้ว่าที่บ้าน ถ้าไม่มีใครคอยให้กำลังใจ เดี๋ยวลูกร้องคงได้ชงนมผงแน่)
อาจจะมีคนแย้งว่า ก็ถ้าแม่ไม่มีนมจริงๆจะให้ทารกอดตายหรือ ในทารกที่คลอดครบกำหนดปกติจะมีไขมันที่อยู่ใต้ผิวหนังเป็นพลังงานสำรองอยู่แล้ว ไม่ต้องกินอะไรเลย 7 วันก็ยังมีชีวิตรอดได้ ในวันแรกๆ น้ำนมแม่น้อยจริง แต่เพียงพอกับลูกวัยนั้นซึ่งไม่ได้ต้องการนมเยอะเป็นออนซ์ๆอย่างที่เราคิด ลูกต้องการความอบอุ่นจากอกแม่ ซุกไซ้กอดกันทั้งวันทั้งคืน หิวก็ดูดจากเต้า ทารกมีสัญชาติญาณที่จะคลานบนอกแม่ขึ้นไปหาเต้านม และอ้าปากออกงับเต้านม เพียงแต่เราต้องให้โอกาสแม่ลูกได้อยู่ด้วยกัน ทำความรู้จักกัน โดยไม่ต้องมีสิ่งใดมาขวางกั้น เอ๊ะ! แล้วมีใครคิดถึงสุขภาพของทารกกันบ้างหรือยัง ลูกแรกเกิดยังพูดไม่ได้ ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ มีแต่พ่อ แม่ หมอ ที่จะต้องคอยทำหน้าที่นี้ให้ ตอนที่ลูกยังอยู่ในท้อง แม่จะกินอาหาร หรือยา อะไร ก็จะระมัดระวังตัว ไม่กินยาโดยไม่จะเป็น หมอจะให้ยาในแม่ท้องก็ต้องคิดแล้วคิดอีก แต่พอทารกคลอดออกมาปุ๊บทำไมเราจึงเอานมผงที่ทำจากนมวัว(เติมสารชื่อหรูๆหลายอย่าง ผ่านขบวนการผลิตจากโรงงาน)มาให้ทารกกินโดยไม่คิดระวังอะไรเลย ทั้งๆที่ทารกแรกคลอดยังเปราะบาง เซลล์ในร่างกายยังเจริญไม่เต็มที่ยังมีโอกาสจะเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปได้อีกมาก แล้วถ้าเราให้อาหารที่เป็นของแปลกปลอมเข้าร่างกายของทารก เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สารเหล่านั้นจะมีบางอย่างไหมที่อาจจะไปทำอันตรายต่อเซลล์ที่ยังอ่อนๆเหล่านั้นทำให้อาจจะพัฒนาผิดแผกไปจากที่ควรจะเป็นความจริงข้อที่ 2 “เซลล์ของลูกมนุษย์ควรจะได้รับการหล่อเลี้ยงจากสารชีววิทยาที่ผลิตขึ้นมาจากร่างกายของมนุษย์ ร่างกายของเผ่าพันธุ์เดียวกัน”แม่ๆส่วนใหญ่เขาจะทราบกันหรือเปล่าว่า นมผงนั้นไม่ได้ปราศจากเชื้อโรค ในการผลิตเขาจะระวังไม่ให้มีการปนเปื้อน แต่ในประวัติศาสตร์ของการผลิตนมผง จะมีการปนเปื้อนด้วยเชื้อโรคอยู่เป็นระยะๆ แต่ข่าวในเมืองไทยจะเงียบมาก ไม่ค่อยมีการกระโตกกระตากให้ใครรู้ กลัวลูกค้ากระเจิงไร้จริยธรรมขั้นต่อมา คือการโฆษณาโดยแอบอ้างว่าเทียบเคียง หรือใกล้เคียงนมแม่ เพราะ ได้เติมสารนั้นๆๆที่ในนมแม่มีมานานแล้ว มีการโฆษณาในทุกสื่อจนผู้คนเชื่อว่ามีสารมากกว่านมแม่เสียด้วยซ้ำไป หลายครั้งหลายคราที่เราจะต้องมานั่งอธิบายว่า ที่เขาเติมๆเข้าไปนั่นน่ะ ก็เพราะของเขา “ ขาด” ใช่ไหม ของเขาแต่แรกเริ่มมันไม่มีใช่ไหมล่ะ ถึงจะต้อง “ เติม” เข้าไป ลูกกินนมแม่ก็ดีอยู่แล้วไม่ต้องไปห่วงว่าจะไม่ได้สารสังเคาระห์ต่างๆเหล่านั้น นมแม่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเจตนาจะเป็นปฏิปักษ์กับบริษัทนมผงใดๆทั้งสิ้น นมผงก็ยังมีที่ใช้อยู่ดี เด็กหลายคนที่คลอดก่อนกำหนด ก็มีชีวิตรอดมาได้ด้วยนมผง แต่ไม่ใช่มาใช้ในทารกทุกราย และไม่ต้องมาแจกฟรี หรือ โฆษณาโหมกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์กันทุกวี่ทุกวันได้ไหม เชื่อเถอะยังขายได้ กำไรก็ยังไม่หดลงไปสักเท่าไรขอให้เรามีกติกาที่เขียนขึ้นมาเป็นเส้นบันทัดฐานให้ทุกคนปฏิบัติตาม อย่าล้ำเส้น ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนในขอบเขตที่เหมาะควร ผู้ที่เป็นหมอ พยาบาลทั้งหลายก็ควรจะต้องสนับสนุนให้ทารกได้กินนมแม่ให้นานที่สุดเท่าที่แม่ลูกต้องการ และไม่ควรเป็นผู้ไปแจกนมผงฟรีเสียเอง ถึงแม้จะไม่สนับสนุน ก็อย่าได้พูดทับถมนมแม่ ไม่อยากได้ยินออกจากปากหมอคนไหนเลยว่า นมแม่หลังเท่านั้นเท่านี้เดือนหมดคุณค่าแล้วโรงพยาบาลมีนโยบายสนับสนุนนมแม่ ให้ลูกได้ดูดเร็ว ดูดบ่อย และดูดได้ถูกต้องสังคมมองการให้นมแม่ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา และให้การสนับสนุน ที่สาธารณะมีมุมให้นมแม่ ที่ทำงานมีสถานที่ให้พนักงานพักไปปั๊มนมแม่เก็บไว้ให้ลูกได้บริษัทนมและผู้แทน หรือพนักงานการตลาด ทำตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ที่มีมาตั้งแต่ พศ. 2524 ปรับปรุงมา 4 ครั้ง ล่าสุดคือเมื่อ พศ. 2551 ถ้าทำได้ตามหลักเกณฑ์ จะไม่มีใครมาว่าได้อีกว่า ทำการตลาดที่ไร้จริยธรรม
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น