อย่าปล่อยให้ของเล่นเด็กกลายพันธุ์เป็นออนไลน์อย่างเดียว..!!/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 สิงหาคม 2555 00:51 น. ความทรงจำประเภทได้เล่นสนุกนอกบ้านในวัยเด็กกับเพื่อนบ้านยังอยู่ในความทรงจำแบบมิลืมเลือน เพราะได้วิ่งเล่นนอกบ้าน มีสารพัดเกมแล้วแต่ว่าเล่นกับเพื่อนต่างวัยหรือต่างเพศ ทั้งกระโดดหนังยาง กระต่ายขาเดียว ตี่จับ ลิงชิงบอล หมากเก็บ ฯลฯ เรียกว่า มีสารพัดเกมให้เล่นชนิดไม่มีเบื่อ บางครั้งก็สลับกับการเล่นกีฬา ประเภทแบดมินตัน ปิงปอง วิ่งแข่ง ฯลฯ ก็คึกคัก สนุกสนานทุกวันหลังเลิกเรียน หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ ยามที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ ไม่สามารถเล่นนอกบ้านได้ พวกเราก็จะชวนกันเล่นในบ้าน สลับกันไปว่าจะเล่นบ้านใคร มีตั้งแต่เล่นหมากฮอสบนถุงโชคดีในสมัยก่อนที่มีตารางเสร็จสรรพ หรือไม่ก็เป็นประเภทเกมกระดาษที่มีมากมาย สามารถเล่นได้เป็นวันๆ เรียกว่า คิดเกมใหม่ๆ ได้ไม่เว้นแต่ละวัน บางวันต้องต่อคิวกันเล่น แย่งกันเล่นบ้าง ทะเลาะกันบ้าง ก็สุดแท้แต่สถานการณ์ แต่สิ่งที่ทำให้เด็กๆ ในยุคนั้นได้เรียนรู้ นอกจากทักษะชีวิตทางด้านเกมกีฬานั้นๆ แล้ว พวกเราได้เรียนรู้วิชา “คน” กันด้วย เรียนรู้ซึ่งกันและกัน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน การเรียนรู้เพื่อนต่างวัยหรือต่างเพศ ยามทะเลาะกันก็หาทางกลับมาคืนดีกัน และพยายามปรับตัวเข้าหากัน ในขณะที่เด็กยุคปัจจุบันนับวันก็ยิ่งขาดทักษะเหล่านี้..!!! สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป รูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองกลายเป็นตัวใครตัวมัน วิถีชีวิตที่ไม่เอื้อให้เด็กได้เล่นนอกบ้านเหมือนในอดีต เพราะเต็มไปด้วยพื้นที่อันตรายทั้งจากรถยนต์และคน ทำให้เด็กยุคนี้ต้องเติบโตในบ้าน ไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน บ้านไหนที่มีเนื้อที่ประเภทเป็นบ้านเดี่ยวก็โชคดีหน่อย ลูกได้วิ่งเล่นนอกบ้าน แต่ร้อยทั้งร้อยเด็กเหล่านี้ก็ไม่อยากวิ่งเล่นคนเดียว ถ้าไม่มีเพื่อนหรือผู้ใหญ่ในบ้านเล่นด้วย ด้วยเหตุและปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กยุคนี้นับวันจึงมักจะอยู่ในบ้าน และทำให้รูปแบบการเล่นของเด็กยุคนี้เปลี่ยนไป เด็กจะเล่นภายในบ้าน พ่อแม่จะซื้อของเล่นให้ลูก ถ้าลูกมีพี่น้องหรือมีเด็กในวัยเดียวกันก็ยังดี แต่ปัจจุบันครอบครัวส่วนใหญ่ก็มีลูกน้อยลง บางครอบครัวมีลูกโทน ฉะนั้น ก็ยิ่งเป็นเงื่อนไขทำให้รูปแบบการเล่นของลูกแคบลงไปอีก ในขณะที่ปัจจุบันเป็นโลกยุคไอที ยิ่งทำให้รูปแบบการเล่นของเด็กยุคนี้ มุ่งสู่การเล่นแบบไอที ของเล่นจะเน้นไปที่ของเล่นด้านเทคโนโลยี เช่น เกมออนไลน์ ซึ่งกลายเป็นรูปแบบการเล่นของเด็กยุคนี้ที่เข้าถึงได้ง่ายดาย และยิ่งเทคโนโลยีพัฒนามากเท่าใด การเข้าถึงเกมออนไลน์ของเด็กก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ก่อนหน้านี้ ของเล่นไฮเทคของเด็กอย่างมากก็ประเภทเครื่องบินบังคับวิทยุ รถยนต์ หรือหุ่นยนต์ ซึ่งก็ยังต้องใช้กล้ามเนื้อมือและทักษะในการบังคับทิศทางของเครื่องเล่นเหล่านั้น และยังสามารถเล่นกับผู้อื่นได้ แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่าเด็กหันไปสนใจของเล่นประเภทเกมออนไลน์ในคอมพิวเตอร์ ไอโฟน ไอแพด ฯลฯ ยิ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์ประเภทแท็บเล็ตพีซี มีแอปพลิเคชั่นเกมที่สามารถดาวน์โหลดไปไว้ที่เครื่องมืออุปกรณ์ที่ต้องการได้ง่าย สะดวกรวดเร็วอีกต่างหาก เมื่อเร็วๆ นี้ มีการสำรวจในประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา พบว่า 39 % ของผู้ใหญ่ ที่เป็นเจ้าของไอแพดได้มีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันสำหรับเด็กอายุ 6-11 ปี มาไว้ในเครื่อง และพบว่า คนเป็นพ่อแม่นั้นก็มีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันต่างๆ มากขึ้น เฉลี่ย 6.8 ครั้งในช่วงเวลา 3 เดือน และโหลดมาเพื่อให้ลูกเล่นเกมโดยเฉพาะ ในขณะที่บ้านเราก็สามารถพบเห็นเด็กกับบรรดาสมาร์ทโฟน หรือไอแพด ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นของพ่อแม่ นั่นแหละ ที่เด็กนั่งเล่นเกมออนไลน์บนอุปกรณ์เหล่านั้นแทบจะทุกหนทุกแห่ง จนกลายเป็นภาพคุ้นชิน ดิฉันเคยสัมภาษณ์ ดร.นพ.ยุทธนา ภาระนันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาให้คำปรึกษาและเวชศาสตร์ครอบครัว ถึงเรื่อง “เทคโนโลยีกับการเลี้ยงลูก” คุณหมอ เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าเทคโนโลยีเปรียบในทางการแพทย์ก็เหมือนมีดผ่าตัด สมมติเราใช้มีดในการรักษาเยียวยาคน ผ่าตัดเอาส่วนที่ไม่ดีออกไปก็เกิดประโยชน์นะครับ แต่ถ้าเกิดเราทำตกหล่น แล้วมีดไปบาดนิ้วบาดมือนี่ก็เดือดร้อนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องรู้เท่าทัน รู้เท่าทันหมายถึงว่า เราก็ต้องรู้ทั้งพิษภัย รู้ทั้งประโยชน์แล้วก็รู้ว่าลูกเราถึงวัยไหนที่จะใช้ระดับไหนให้เกิดประโยชน์ที่สุด ในต่างประเทศเป็นห่วงเรื่องติดเกมกันมาก เคยมีการสำรวจวิจัยว่าเด็กประถม 1-2 โดยเฉลี่ยเข้าเล่นเกมจำนวน 11 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เฉลี่ยวันหนึ่ง 1-2 ชั่วโมง แต่บางคนใช้ 4 - 5 ชั่วโมง เด็กที่หมกมุ่นมากๆ จะมีผลต่อพฤติกรรมการเข้าสังคม เขาจะไม่ค่อยอยากสุงสิงกับใคร ปัญหาที่ตามมาคือเรื่อง EQ (ความฉลาดทางอารมณ์)ที่จะมีมนุษยสัมพันธ์จะน้อย บางคนโตไปอายุ 21 ปี กลายเป็นเด็กเหมือนอายุ 12 ปี แล้วก็จะมีปัญหาตามมาทางด้านจิตใจ เข้ากับสังคมไม่เป็นก็จะซึมเศร้าง่าย พ่อแม่ต้องสกรีนหรือคัดกรอง อย่างเช่น อินเทอร์เน็ต เนื่องจากว่าถ้าปล่อยให้ลูกไปเล่นในห้องของตัวเอง เราไม่อยู่ในที่เราจะเข้าถึงได้จะอันตรายมาก เราต้องตั้งกติกาไว้เลยว่าให้ลูกเล่นกี่โมงถึงกี่โมง เล่นวันหนึ่ง 1-2 ชั่วโมงก็พอแล้ว แล้วก็เอาเวลาที่เหลือไปทำการบ้าน ไปใช้เวลากับคน” การพูดคุยในวันนั้น เป็นการเน้นเรื่องการสื่อสารกับ “คน” เพราะกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของเด็กยุคนี้ที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารระหว่างกัน ยังไม่นับรวมสุขภาพและพฤติกรรมที่อาจมีปัญหาตามมาอีกมากมาย อันที่จริงแล้วเรื่องของเล่น หรือการเล่นเ เป็นเรื่องสำคัญของเด็กที่คนเป็นพ่อแม่ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะรูปแบบการเล่นของลูก ส่งผลต่อการเติบโตของลูกทั้งชีวิตได้เลยทีเดียว ประโยชน์จากการเล่นเป็นเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่ยุคใหม่ให้ความสำคัญมากขึ้นก็จริง แต่รู้หรือไม่ว่า “รูปแบบการเล่น” ของลูกก็บอกนิสัย พฤติกรรมและมีส่วนต่อการหล่อหลอมให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหนอีกด้วย สิ่งที่ควรคำนึงถึงนอกเหนือจากความรู้เรื่องการเล่นกับพัฒนาการตามวัยแล้ว ควรจะเน้นถึงเรื่องการส่งเสริมทักษะชีวิตของลูกผ่านการเล่นด้วย และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ พ่อแม่ต้องเอาตัวเองเข้าไปเล่นกับลูกด้วย ยิ่งสภาพสังคมเปลี่ยนไป สภาพครอบครัวก็เปลี่ยนไป รูปแบบการเล่นของครอบครัวก็ควรจะต้องเปลี่ยนไปด้วย พ่อแม่ควรเล่นกับลูก ชวนกันทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ไม่ใช่เพื่อความสนุก หรือเพื่อสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นการฝึกวิชาความเป็น “คน” ที่ต้องมีทักษะในการสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์ในการใช้ชีวิตที่ดีมีความสุขได้ ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกเป็นเด็กมีปัญหามิใช่หรือ ถ้าไม่อยากให้ลูกของเราต้องมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ก็อย่าปล่อยลูกไว้กับโลกออนไลน์อย่างเดียว..!!
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น