โฮมสคูล เปลี่ยนบ้านเป็นโรงเรียนเมื่อลูกต้องเข้าโรงเรียนที่ดีสุด แลกกับการเดินทางไกลหลายชั่วโมง บางคนเลยปิ๊งไอเดีย เปลี่ยนบ้านแสนรักเป็นโรงเรียนเสียเลย
ครอบครัวตัวหนังสือ “วรุณปิติกุล” เป็นหนึ่งในร้อยกว่าครอบครัวทั่วประเทศ ที่เลือกระบบการศึกษาทางเลือกสไตล์ Home School ให้กับลูกสาวเพียงคนเดียวของพวกเขา
พ่อแม่หัวคิดต่างให้เหตุผลในการตัดสินใจครั้งสำคัญกับอนาคตลูกสาวคนนี้ เพียงเพราะมันเหมาะสมกับลูกของพวกเขาที่สุด
จากประสบการณ์อาจารย์สอนระดับปริญญาโท คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์ ประสานมิตร นานกว่า 8 ปี สุพิตา วรุณปิติกุล เข้าใจในโครงสร้างการศึกษาในเมืองไทย และไม่ได้ต่อต้านการศึกษาในรั้วโรงเรียน แต่เธอมองว่า ระบบดังกล่าวออกแบบมาเพื่อคนส่วนใหญ่ ซึ่งอาจจะดีสำหรับบางคนเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ เธอและสามีศึกษารูปแบบการสอนของโรงเรียนทางเลือกอื่นๆ ไว้ด้วย แต่หลังจากพ่อ แม่ และหนูน้อยใบไม้ พุทธจิต วรุณปิติกุล วัย 4 ขวบตอนนั้นต้องใช้เวลาไปกลับโรงเรียนนานเกือบสองชั่วโมง พวกเขาจึงชักชวนกันเปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงเรียนดีกว่า
ทั้งสองคนเชื่อว่า พื้นฐานของลูกทุกคนต้องการพ่อแม่ ไม่ใช่คนอื่น ฉะนั้นการศึกษาทางเลือกแบบโฮม สคูล น่าจะเป็นทางเลือกที่ไม่มีทางเลือกสำหรับครอบครัวพวกเขา และมันก็คือทางเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเฉพาะหน้า
อุ้ย-สุพิตา เลือกใช้วิธีการแบบวอลดอร์ฟมาประยุกต์ใช้เป็นกรอบกว้างๆ เพราะเชื่อมั่นว่าหลักปรัชญาเป็นเรื่องสำคัญต่อมุมมองและวิธีคิดของมนุษย์ ตลอดจนวิธีการสอนของหลักสูตรจะออกแบบเฉพาะเด็กแต่ละคนเพื่อให้เติบโตตามศักยภาพและงอกงามตามบุคลิกภาพของเด็ก พร้อมทั้งส่งเสริมไปตามพัฒนาการโดยไม่ปิดกั้น
“เราจะบอกวิธีทำให้ลูกรู้ไปเลย เช่น เวลาเขาวิ่งขึ้นบันได ผู้ใหญ่มักจะบอกว่าให้เดินดีๆ แล้วเดินดีๆ เป็นยังไง เราก็บอกไปว่า เดินเบาๆ เขาจะทำตามเพราะเข้าใจ หรืออยากให้เขาทำสิ่งไหนก็บอกไปตรงๆ อย่าทำให้เด็กสับสน พวกเขาก็จะสื่อสารกับเราได้อย่างเข้าใจเช่นกัน ที่สำคัญต้องแยกความดี ความชั่วให้ได้ เน้นมองความดี แต่ต้องมองโลกความจริงด้วย โดยพยายามใส่เหตุเพื่อตอบคำถามถึงผลที่เกิดขึ้น”
บรรยากาศในการเรียนรู้ เด็กน้อยจะซึบซับความรู้ต่างๆ ผ่านการเขียนก่อน ซึ่งแม่อุ้ยที่พลิกบทบาทมาเป็นครูส่วนตัวบอกว่า เมื่อเด็กลงมือทำแล้วจะเกิดความเข้าใจตามมาเอง มันคือกระบวนการสอนที่สวนทางกับการศึกษาในระบบอย่างสิ้นเชิง
แน่นอนว่า อุ้ยต้องลงทุนเม็ดเงิน ทุ่มเทเวลา และเหนื่อยมากกว่าครูในโรงเรียนทั่วไปหลายเท่าตัว เพราะต้องใช้หนังสือจำนวนมากมายมหาศาลเพื่อรองรับความอยากรู้อยากเห็นของลูก ทั้งหนังสือเรียนตามระดับชั้นและหนังสือนอกเวลา รวมทั้งสื่อความรู้อื่นๆ และมักเป็นหนังสือและสื่อสีสันฉูดฉาดล่อใจลูกสาว
“เราเลือกเฉพาะสิ่งที่สำคัญ โดยจะดูตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการด้วย และนำมาปรับตามความสนใจของลูก เราจะเรียนจากสิ่งเป็นจริงทางสังคม ลงลึกเข้าไปในหลักการของวิชานั้น เอาจุดสตาร์ทที่เขาชอบ แล้วหาตัวเชื่อมโยงเหมือน Mind Maping เช่น ลูกสนใจเรื่องจีน ก็เอาจีนเป็นตัวตั้งต้น สอนภาษาจีน ตัวเลขจีน ประวัติศาสตร์จีน วิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ของจีน แล้วดูพัฒนาการของเขา เอาสื่อหนังสือมาเสริม”
รูปแบบการเรียนการสอนจะไม่เน้นเพื่อให้สอบได้ แต่ทุกกระบวนการจะสื่อสารให้รู้จักขวนขวาย ค้นคว้า และศึกษาด้วยตนเอง
“แต่ละวันพวกเราจะใช้เวลาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความพร้อมและจดจ่อตั้งใจของลูก ส่วนมากจะใช้เวลาครึ่งวันเพื่อให้เขาสนุกกับวิชาการที่ไม่เคร่งเครียด และแบ่งเวลามาทำกิจกรรมด้วย เช่น วาดรูป วาดการ์ตูน ทำอาหาร ทำหุ่น ปั้นดิน นั่นทำให้การเรียนที่โรงเรียนกับที่บ้านก็ไม่ต่างกัน”
เธอเชื่อว่ามนุษย์มีวิธีการหาความรู้มากมาย นั่นทำให้พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องอัจฉริยะ และเชื่อมั่นว่าในโลกนี้ ไม่มีอะไรยาก เพียงแค่เราต้องรู้สึกสนุกที่จะเรียนรู้และค้นหาความรู้ไปพร้อมกับลูกอยู่เสมอ
“พ่อแม่เป็นครูของลูกได้ อะไรที่เราไม่รู้ เราก็ช่วยกันไปหาคำตอบ ลูกก็จะสนุกด้วย ไม่ใช่นั่งรอคำตอบจากครูอย่างเดียว พยายามท้าทาย แต่ไม่ให้ยากจนเกินความสามารถของเขา ขณะเดียวกันก็ต้องให้เขารู้จักเคารพเรา ต้องมีหลักการไม่ใช่ว่าจะตามใจทุกเรื่อง โฮมสคูลที่ดีต้องไม่ตามใจลูกจนเสียคน”
แล้วเด็กจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเด็กคนอื่นได้หรือ อีกคำถามที่พ่อแม่หลายคนกังวลหนักหนา
ยุทธนา วรุณปิติกุล คุณพ่อน้องใบไม้ อธิบายว่า หลังจากนำตัวอย่างข้อสอบ และส่งลูกไปฝึกสมองทดลองปัญญาหลายสนามเพื่อเปิดโอกาส และสิ่งที่ได้กลับมาจากการสอบ คือลูกสาวสามารถทำข้อสอบได้ถูกต้อง เพราะประยุกต์จากเรื่องจริง
“ใบไม้จะคิดเป็นภาพ ทำให้เขาเรียงร้อยเรื่องได้อย่างดี และต้องขอบคุณหนังสือคณิตศาสตร์ดีๆ ที่สอนขั้นตอนการคิด อีกอย่างเราจะตั้งกฎกันว่า ทุกคำถามจะไม่มีคำตอบเพียงคำตอบเดียว เพราะความเป็นจริง มันมีหลายด้าน นั่นทำให้ลูกต้องเอาความรู้ภายในตัวเรา แล้วเอาประสบการณ์ที่เคยเจอมาวิเคราะห์ร่วม ผมพอใจที่ลูกคิดอย่างนั้น เพราะมันสะท้อนว่าเขาคิดเป็น คิดถูก และที่สำคัญ เขาต้องคิดถึงคนอื่นด้วย เพื่อให้มีจริยธรรม เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ต้องมีความรับผิดชอบ เพราะทุกการกระทำส่งผลต่อชีวิตคนอื่น”
ถึงจะสอบผ่านข้อสอบวิชาการ แต่ยังมีคำถามว่า เด็กที่เรียนแบบโฮมสคูลจะขาดชีวิตสังคมเพื่อนรุ่นเดียวกันและทันโลกหรือไม่
อุ้ยบอกว่า ทุกการเลือกมีได้ และมีเสีย แต่สำหรับระบบการศึกษาทางเลือกโฮม สคูล เป็นวิถีหรือคุณค่าที่เราเลือกแล้วว่าเหมาะสม มันไม่ใช่การปลีกวิเวก
น้องใบไม้เคยสลับเข้าเรียนที่โรงเรียนเพลินพัฒนาตอนป.1 และกลับมาเรียนที่บ้าน แล้วก็กลับเข้าไปใช้ชีวิตในโรงเรียนอีกครั้ง ปัจจุบัน น้องเรียนอยู่ชั้นม. 2 แล้ว แต่เธอก็เลือกที่จะกลับเรียนกับคุณครูผู้ให้กำเนิด และแบ่งเวลาชั่วโมงวิชาพลศึกษาและศิลปะที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นแหล่งหากัลยาณมิตร
อย่างไรก็ตาม คนเราไม่ได้ปะทะสังสรรค์กับคนในวัยเดียวกันเท่านั้น และจังหวะการเรียนรู้ก็ไม่ใช่อยู่แค่ใต้หลังคาบ้าน มนุษย์ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ลูกจึงต้องรู้จักเข้าสังคมที่หลากหลายด้วย พวกเขาจะพาลูกสาวเข้าไปเจอผู้คน และเข้าหาทุกโอกาสให้เขาได้เรียนรู้
คุณแม่อุ้ยสรุปให้ฟังว่า จริงๆแล้วโฮมสคูลกับสคูล เหมือนกันตรงที่ได้เรียนรู้สังคม แต่ต่างกันเพียงกระบวนการสอนเท่านั้นเอง
แล้วน้องใบไม้ก็ยิ้มและบอกกับเราว่า เธอเป็นคนเลือกเองที่จะให้แม่เป็นคุณครูต่อไปเพราะเข้าใจและมีความสุขเมื่อได้เรียนอย่างที่ตัวเองต้องการ
ไม่ว่าจะเรียนรู้ด้วยหลักสูตรใดก็ดีทั้งนั้น
แล้วคุณล่ะ เคยถามลูกไหมว่า โรงเรียนสนุกหรือเปล่า?
ขอขอบคุณ : ข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น