การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว

การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว หลังคลอดลูก หากคุณแม่ให้นมลูกเอง นน.จะลงมาเป็นปกติภายใน 1-6 ด.โดยไม่ต้องซื้อคอร์สลดนน.ราคาแพง หรือ ซื้อยาลดนน.จากอินเตอร์เนทที่เป็นอันตรายมากิน โดยมีข้อแม้ว่า ตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน คุณแม่ควรควบคุมน้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์ให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 10-12 กก.ตลอดการตั้งครรภ์ โดยที่ 3 ด.แรก น้ำหนักต้องไม่ขึ้นเลย 3 ด.ถัดมาขึ้น 6 กก. และ 3 ด.สุดท้ายขึ้น 6 กก. ใครที่นน.ขึ้นเกินจากนี้ ไม่ดีนะคะ อย่าคิดว่าตอนท้องเป็นช่วงโปรโมชั่น อยากกินอะไรก็กินได้ตามใจอยาก อ้วนได้ไม่มีใครกล้าว่า แล้วคิดกินเพื่อลูก โด๊ปอาหารก่อภูมิแพ้เข้าไปมากมาย นมวัวเอย ผลิตภัณฑ์นมวัวเอย ทั้งชีส เค้ก ไอศครีม นมถั่วเหลืองซื้อมาเป็นลังๆ ไข่กินวันละหลายๆฟอง ขนมนมเนยทุกชนิด ปลาแซลมอนทุกมื้อ ผลที่ตามมา คือ แม่อ้วนทำให้เสี่ยงต่อเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ลูกเสี่ยงกับภาวะแพ้โปรตีนกลุ่มเสี่ยง พอคลอดลูกเสร็จ ก็ยังกินบำรุงน้ำหนักต่อ โดยคิดว่าจะทำให้ผลิตน้ำนมได้เยอะ ผลที่เกิดขึ้นคือ น้ำหนักส่วนเกินยังคงอยู่สะสมในร่างกาย แต่น้ำนมไม่ได้เพิ่มขึ้น (ดังรูปบน) เพราะปริมาณน้...

[บทความ] โฮมสคูล: อนาคตเริ่มที่บ้าน

โฮมสคูล: อนาคตเริ่มที่บ้าน



เมื่อการศึกษาของเด็กสมัยนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในรั้วโรงเรียนอีกต่อไป  พ่อแม่ผู้ปกครองในปัจจุบัน จึงสามารถมีทางเลือก  ให้บุตรหลานของตนเองเรียนหนังสือได้ที่บ้าน หรือที่เรียกกันว่า โฮมสคูล(Home School)โดยมุ่งให้เด็กได้เรียนรู้ตามความสนใจ  ตามความถนัดและตามสภาพวิถีชีวิตของครอบครัว


อีกทั้งไม่เคร่งครัดในด้านวิชาการ เหมือนในรั้วโรงเรียน จึงอาจเรียกได้ว่าเด็กโฮมสคูลสามารถเรียนรู้อย่างมีความสุขกว่าเด็กนักเรียนในระบบโรงเรียนทั่วไป เพราะได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว  ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงเรียน  และได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจจริงๆ โฮมสคูล  เป็นระบบหนึ่งในการศึกษาทางเลือก โดยมีกฎกระทรวงศึกษาธิการรองรับเมื่อปี  2547 (กฎกระทรวง ว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว  พ.ศ. 2547) ปัจจุบันมีครอบครัวที่จดทะเบียนให้การศึกษาแก่บุตรหลานในลักษณะนี้อยู่ประมาณ 200 กว่าครอบครัวทั่วประเทศ

และครอบครัวหนึ่งที่ใช้ระบบโฮมสคูลมากว่า 13   ปี  คือครอบครัวของ คุณชาตรี เนาว์ธีรนนท์ หรือ  คุณหมู แห่งจังหวัดสุพรรณบุรี  คุณหมูบอกว่าเริ่มสนใจในโฮมสคูลเมื่อตอนที่ภรรยาตั้งครรภ์  ขณะนั้นคุณหมูทำงานในบริษัทแห่งหนึ่ง จึงปรึกษากับภรรยาว่าอยากเลี้ยงลูกอย่างใกล้ชิด  และให้ลูกเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน เพราะเราไม่เชื่อว่าการศึกษาในระบบมันจะตอบสนองศักยภาพการเรียนรู้ของลูกได้อย่างแท้จริง เพราะในโรงเรียนมันมีข้อจำกัดหลายเรื่อง  เรื่องหลักสูตรก็ดี  วิธีการจัดการเรียนการสอนก็ดี เราไม่เชื่อว่ามันจะทำให้ลูกเราไปถึงจุดที่เราต้องการได้



การศึกษาในระบบทุกวันนี้  เราเห็นคนตื่นตี 4  ตี  5 เอาลูกไปกินข้าวในรถ แล้วในโรงเรียนก็มีปัญหาเยอะ  เดี๋ยวลูกกลับมีแผลบ้างล่ะ เดี๋ยวกลับมาเอาคำหยาบมาด้วยบ้างล่ะ  มีเรื่องติดยา  เรื่องมั่วสุม  ซึ่งมันเหนือการควบคุมของเรา วันนึงลูกไปอยู่โรงเรียน  6 - 8 ชม. ช่วงนั้นเราไม่รู้เลยว่าลูกเราจะเป็นยังไง  อาจจะเป็นเพราะเราพอมีลูกแล้วรู้สึกว่าห่วงลูก  อยากอยู่ใกล้ชิดตลอด  เพราะฉะนั้นการอยู่ใกล้ชิดตลอด 24 ชม. มันก็ต้องจัดการศึกษาให้ลูกด้วยตัวเอง  ตอนนั้นยังไม่มีกฎกระทรวงรองรับนะ  เราก็ทำโดยไปจดทะเบียนกับโรงเรียนหมู่บ้านเด็กของแม่แอ๊ว(รัชนี ธงไชย)ก็คือมีฐานะเป็นโรงเรียนราษฎร์  เอาไปจดไว้แล้วก็กลับมามีการเรียนการสอนที่บ้านเอง  ถึงปีก็ไปประเมินสมัยก่อนทำแบบนั้น  โดยสรุปก็คือเราไม่ศรัทธาการจัดการศึกษาในระบบ เราไม่เชื่อว่าการจัดการเรียนการสอนจากครูยุคปัจจุบันจะช่วยให้ลูกแสดงศักยภาพได้เต็มที่ และเราเป็นห่วงลูกในเรื่องความปลอดภัยเราก็เลือกทางนี้ เขาและภรรยาลาออกจากงานที่ทำ  เพื่อมาเลี้ยงลูกและให้การศึกษาในระบบ        โฮมสคูล  ด้วยความที่จบมาทางด้านกฎหมาย  และภรรยาก็เป็นนักบัญชี เขาจึงเปิดสำนักงานบัญชีเล็กๆ ที่บ้านที่สุพรรณบุรี รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับนิติบุคคล

“ก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไรหรอก  เพราะเราเป็นพวกกินอุดมคติมากกว่า  แล้วก็ใช้เวลาส่วนใหญ่เลี้ยงลูก   เพราะฉะนั้นเราก็ไม่มีปัญหาเรื่องเวลา  มีลูกคนเดียว 13 ปีแล้วไม่เคยเข้าโรงเรียน  เราก็ดูความถนัดของเขาว่าเขาถนัดอะไร เขาชอบมั้ย  ถ้าชอบเราก็ส่งเสริม  ตอนนี้เขาถนัดเรื่องคอมพิวเตอร์  ภาษาอังกฤษ  สามารถอ่านออก  เขียนได้  พูดได้  คุยกับฝรั่งได้ เราก็ต่อยอดไปทางนี้  ก็หาฝรั่งมาสอนภาษาอังกฤษอยู่ทุกสัปดาห์ เรียนมา 7 - 8  ปีแล้ว  ไม่ทิ้งเลยคอมพิวเตอร์ก็พัฒนาไปเรื่อย จากธรรมดาไปแอ็ดวานซ์ จะเป็นโปรแกรมเมอร์มั้ย หรือจะเป็นกราฟฟิค ดีไซน์เนอร์ ก็ค่อยๆ ต่อยอดไป  ตอนนี้ที่คุยกันเขาก็ไม่นึกอยากเข้ามหาวิทยาลัย แต่เราไม่ได้ปิดกั้นนะ ถ้าวันหนึ่งลูกบอกว่าอยากเข้ามหาวิทยาลัยจะไปเรียนคณะไหน เราก็จะให้เขาไปเข้า โดยที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยนั้นต้องการ สมมุติเขาต้องการเรื่อง ONET  GAT  PAT  เราก็ต้องไปทำไงให้ลูกพร้อม  แต่ทุกวันนี้เราไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้ เพราะเราไม่ได้มุ่งเอ็นทรานซ์อยู่แล้ว เราคิดว่ามันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการจัดการศึกษาในเมืองไทย แล้วเราก็เชื่อว่าครอบครัว หรือประชาชนต้องมีสิทธิ์จัดการศึกษาของตัวเองได้  แทนที่จะให้กระทรวงศึกษาฯ เป็นผู้ผูกขาดอำนาจการจัดการศึกษาโดยอ้างว่าประชาชนจัดแล้วไม่มีคุณภาพ ขณะนี้เราก็เดินทางสายนี้ เพื่อพิสูจน์ว่า  คุณภาพตามคำจำกัดความของกระทรวงศึกษา กับคุณภาพที่ครอบครัวต้องการมันคนละอย่างกัน  ของเขาคุณภาพคือต้องมีมาตรฐานอ่านออกเขียนได้   ป.นั้นเท่านั้นเท่านี้ แต่เราบอกคุณภาพของเราคือลูกมีความสุข  อยู่ดีกินดี  มีความรู้พอสมควรก็พอแล้ว  ทุกวันนี้ก็ยังเถียงกันอยู่ว่าคำว่าคุณภาพมันควรจะแค่ไหนยังไง”

ด้วยความเอาจริงเอาจังกับเรื่องการเรียนในระบบโฮมสคูล ทุกวันนี้คุณหมูจึงยังพ่วงตำแหน่งนายกสมาคมบ้านเรียนไทยอีกด้วย จึงถือเป็นหน้าที่หนึ่งที่จะต้องคอยอธิบายความให้กับผู้สนใจในระบบโฮมสคูล


"ประการแรกเลย พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ก่อนให้ถ่องแท้เลย  ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะเอาลูกเรียนโฮมสคูล  พ่อแม่ต้องมีความรู้พอสมควรก่อนว่ามันทำยังไง  ต้องถามตัวเองก่อน แล้วผมชอบบอกครอบครัวว่าถามตัวเอง  ให้ได้คำตอบก่อนว่าจะไปทางนี้ใช่มั้ย  ถ้าใช่แล้วจะไปยังไง มันมีหลายวิธี ถ้าไปแล้วอนาคตมันจะเป็นยังไง  มีปรัชญามุ่งหมายให้ลูกว่าจะไปยังไง   พอได้คำตอบชัดเจนแล้วมาถามเรา เราจะบอกชัดเจนได้ว่า  บ้านนาย ก. มาแบบนี้นะ บ้านนาย ข. มาแบบนี้นะ บ้านนาย ค. มาแบบนี้นะ  คุณก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปแล้ว  ก็ไปปรับใช้กับครอบครัวเองว่าคุณควรจะเริ่มต้นยังไง"

ซึ่งตามข้อกำหนดแล้ว  พ่อแม่ที่จะจัดการศึกษาให้ลูกจะต้องมีวุฒิการศึกษาขั้นต่ำ ม.6  และต้องไปจดทะเบียนกับสำนักงานพื้นที่การศึกษา     ตามทะเบียนบ้านหรือตามภูมิลำเนา  แบบยื่่นแผนการศึกษาให้บอร์ดอนุมัติ จากนั้นก็จัดการเรียนการสอนให้ลูก  ภายใต้การสนับสนุนดูแลของสำนักงานเขตพื้นที่ ซึ่งสุดท้ายจะมีการวัดประเมินผลประจำปี  ส่วนรูปแบบการเรียนการสอนนั้น  คุณหมูบอกว่าไม่มีรูปแบบที่ตายตัว
 
“อยู่ที่ว่าเรามีความเชื่อในปรัชญาว่าการเรียนรู้ในแบบ โฮมสคูลก็คือการเรียนรู้วิถีชีวิตของครอบครัวนั้นๆ  โดยมาบูรณาการให้มันเป็นวิชาการ  สมมุติว่าเราอยู่ร้านขายของ  ลูกก็อยู่บ้านช่วยพ่อแม่ขายของตามสภาพจริงของครอบครัวเลย หรือเป็นเกษตรกรทำนาก็ช่วยพ่อแม่ทำนา ความรู้ก็อยู่ตรงนั้น มีเรื่องนา คณิตศาสตร์  มีอะไรอยู่ในนั้นหมดเลย ทำนา ต้นข้าวก็เป็นวิทยาศาสตร์หรือค้าขายเนี่ยลูก ช่วยนับเงินก็เป็นคณิตศาสตร์ เวลามีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า  มันก็เป็นเรื่องสังคม ศาสนา วัฒนธรรม ใช้วิถีชีวิตของครอบครัวนั่นแหละเป็นตัวตั้ง ไม่เอาวิชาการมาเป็นตัวตั้ง ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว อาจจะมีคล้ายๆ กันได้  แต่ว่าไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว”

ต่อข้อห่วงใยที่ว่าในเมื่อเด็กโฮมสคูลไม่ได้ไปโรงเรียนไม่ได้พบปะเพื่อนฝูง  จึงอาจทำให้มีปัญหาในเรื่องการเข้าสังคมนั้น

คุณหมูบอกว่า      “ความรู้สึกว่านี้มันไม่ใช่ปมด้อยของพวกเราเพราะ 1. เราก็มีสังคมในเครือข่ายโฮมสคูลด้วยกัน เจอกันทุกเดือน หรือ 2-3 เดือนครั้ง  2. เราก็มีสังคมในหมู่เครือญาติพี่น้อง  3. สังคมในหมู่เพื่อนนักเรียนที่อยู่บ้านใกล้ๆ  กัน บางทีเราก็ไปจัดกิจกรรมร่วมกับนักเรียนในโรงเรียนด้วย เพื่อมีปฏิสัมพันธ์กันหรือเราไปในชุมชน วัดวาอารามคือเพื่อนมันต้องน้อยลงแน่ เพราะในโรงเรียนห้องนึงมี 50 คน แต่ของเราอยู่ในจังหวัด อย่างผมสุพรรณฯ มีคนเดียว  มีครอบครัวเดียว เพื่อนก็ต้องน้อยกว่า แต่ว่าในคำจำกัดความของคำว่าเข้าสังคมแล้วมีปัญหาเนี่ย  มันไม่มีปัญหาอะไรสามารถเข้าได้เหมือนปกติ แต่ว่าสังคมอาจจะมองแล้วรู้สึกแปลกแยกหน่อย ว่าทำไมไม่ไปโรงเรียนล่ะวันธรรมดาคนอื่นเขาไปโรงเรียนกัน  เราก็ต้องอธิบายความว่าที่เราไม่ไปเพราะเราจัดแบบนี้ๆ  กฎหมายให้อำนาจยังงี้ๆ  ก็ต้องมีหน้าที่ทำความเข้าใจไป  แต่เดี๋ยวนี้ปัญหานี้มันน้อยลงแล้ว   เพราะว่าการจัดการศึกษาโดยครอบครัวมันได้รับการเผยแพร่ไปทั่ว เมื่อก่อนนี้จะไม่รู้เรื่องว่าโฮมสคูลเป็นยังไง  มีด้วยเหรอบ้านเรา  คนจะพูดแบบนี้  แต่เดี๋ยวนี้พอบอกว่าบ้านเรียนหรือโฮมสคูลก็อ๋อคนรู้จักกันมากขึ้น”




คุณกนกพร  สบายใจ หรือ  คุณนิ่ม กับ น้องป้อมปืน  วรวัช  สบายใจ ก็เป็นคู่แม่ลูกที่ใช้การเรียนรู้ในระบบโฮมสคูลเช่นกัน คุณนิ่มบอกกับเราว่าเธอเริ่มจากการสังเกตเห็นพัฒนาการของลูกบวกกับวิถีชีวิตของครอบครัว  สิ่งที่ครอบครัวใช้เชื่อมโยงกับสังคม   “เราก็ใช้ตัวนี้แหละเป็นองค์ประกอบในการจัดการเรียนรู้ให้กับเขา  แต่ว่าเราจะดูทุกเรื่องให้มันสอดคล้องสมดุลกันกับสภาพชีวิตของเรา  วิธีการเรียนรู้ของเขามันเกิดจาก  3  ด้าน มีทั้งจากกิจกรรมในครอบครัวในชีวิตประจำวัน เป็นการเรียนรู้ร่วมกับครอบครัว  การทำงานบ้านร่วมกับพ่อแม่ การเรียนรู้วิธีคิด  ปรัชญาชีวิต หลักคิดของพ่อแม่ อยู่ที่บ้านก็ทำงานไม่ว่าจะเป็นสิ่งเขาชอบทำ อ่านหนังสือ ทำงานบ้าน เขาก็พัฒนาตัวเองไปในระหว่างอยู่ที่บ้านนี่คือกิจกรรมพัฒนาในชีวิตประจำวัน”

“อันที่ 2 คือกิจกรรมที่เกิดจากครอบครัวเชื่อมโยงสังคมรอบตัว ครอบครัว เพื่อนคุณพ่อคุณแม่ เยอะแยะไปหมด เราไปวัดใช้ชีวิตบนฐานของพระพุทธศาสนา  แล้วก็ออกแบบหลักสูตรที่เน้นการพัฒนาชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนาด้วย แล้วก็มีหลวงพ่อหลวงปู่ที่วัดเป็นอาจารย์คอยแนะนำหลักสูตรพื้นฐานการพัฒนาชีวิตมนุษย์เป็นที่ปรึกษาท่านก็ให้หลักเรื่อง ศีล  5  ท่านบอกเป็นแกนกลางในการพัฒนาชีวิตมนุษย์ และพัฒนาการศึกษาทุกด้าน  เราใช้ศีล  ใช้หลักธรรมในการดำเนินชีวิต  อันที่ 3 เป็นกิจกรรมที่พัฒนาบนฐานความถนัด  และความสนใจของลูกเอง เราก็จะเห็นว่าช่วงวัยนี้เขาสนใจเรื่องนี้ แต่ว่าในการสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันไม่ใช่เป็นการลงในรายละเอียดเหมือนในระบบโรงเรียนเวลาเราเรียนเรื่องรามเกียรติ์  มันก็จะเป็นแค่เรื่องรามเกียรติ์  แต่เรื่องรามเกียรติ์ของลูกนั้นมันจะหมุนพากระบวนการเรียนรู้ในหลายๆ   เรื่องหลากหลายวิชาอยู่ในเรื่องเดียวกัน  ครอบครัวบ้านเรียนส่วนใหญ่จะพบว่า ถ้าเราความสนใจของลูกเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ว่าเราตามใจลูก แต่ว่าเราให้โอกาสเสรีภาพทางธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กมันงอกงาม แล้วมันจะไปได้ยาวเลย มันไปอย่างฝังลึกเป็นความรู้ในตัวเขาเลย ไม่ใช่เป็นการเรียนแล้วลืม มันก็เหมือนกับการได้เรียนรู้ที่ครอบคลุม 8 หลักวิชาตามกระทรวงศึกษานั่นแหละ  แต่ว่ามันเป็นการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวมเพราะว่ามันเกิดจากฐานการเรียนรู้ภายในใจของเด็กเอง  เราพบว่าจริงๆ   เด็กบ้านเรียนเวลาเราให้โอกาสความสนใจของเขาเติบโตเนี่ย  มันเป็นการเรียนรู้จากภายในสู่ภายนอก แล้วมันเป็นการเรียนรู้จริงๆ  ไม่ใช่เอาเรื่องภายนอกมาให้เขาเรียนแล้วก็ลืม  พอสนใจก็ไปได้  พอไม่สนใจก็เรียนๆ ไปได้  แต่มันก็จะไม่เข้าไปข้างใน”


ในขณะที่น้องป้อมปืนซึ่งเรียนแบบโฮมสคูลมาตลอด และกำลังจะสอบสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เขาบอกว่าไม่ได้รู้สึกแปลกแยกแต่อย่างใด ที่เป็นเด็กโฮมสคูล เพราะถือว่าตนเอง   ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพียงแต่จะเป็นคนคิดใส่ใจ ในรายละเอียดเยอะ  “ตั้งแต่เด็กแล้วครับ เหมือนกับมีคำถามมาก และพาไปสู่การอยากรู้อยากเห็นเรื่องต่างๆ   เป็นการพัฒนาตัวเองตลอดเวลาคือผมไม่ได้มองว่าการเรียนหนังสือ มันอยู่แค่ในหลักสูตรของกระทรวงมันไม่ได้จบแค่นั้น เราต้องมองเป้าหมายไกลของเราว่าชีวิตเราต้องการจะเป็นอะไร แล้วเรื่องอะไรที่มันจะตอบโจทย์ หรือพัฒนาตัวเองให้ไปสู่เป้าหมายนั้นได้เนี่ย  เราก็แสวงหาเรื่อยๆ  พยายามพัฒนาตัวเองเรื่อยๆ”

ส่วนเรื่องการเข้าสังคม  พบปะเพื่อนฝูงนั้น น้องป้อมปืนบอกว่าชอบที่จะเจอะเจอกับคนที่วันที่โตกว่าเพราะจะได้รับประสบการณ์มากกว่า “เพื่อนในความหมายของผมอาจจะไม่จำเป็น  ต้องในวัยเดียวกันผมจะเจอผู้ใหญ่ที่โตกว่าเยอะ  แล้วผมจะชอบคุยกับคนที่โตกว่า  เพราะว่าเวลาเขาเล่าเรื่องอะไรเนี่ย เราก็จะได้ประสบการณ์จากที่เขาถ่ายทอดให้เรา  ส่วนเพื่อนในวัยเดียวกันก็มีครับ  เราก็ยอมรับในฐานะที่เป็นเพื่อนกัน  เรามองคนในวัยเดียวกันเป็นเพื่อนมนุษย์น่ะ  เราก็ไม่ได้แตกต่าง เราก็เป็นเพื่อนเขาปกติแต่ในการเรียนโฮมสคูลเนี่ย มันจะเจอกับคนหลายวัยมาก เราจะได้เรียนรู้จากคนหลายวัย ก็คือมีทั้งคนที่โตกว่า  คนในวัยเดียวกัน ไล่เลี่ยกัน  แล้วก็เด็กกว่า  ก็เหมือนกับเจอหลายเรื่องแตกต่างกัน”

แล้วคุณนิ่มก็ฝากคำแนะนำ มายังพ่อแม่ผู้ปกครองที่สนใจในระบบโฮมสคูลว่า  ไม่ต้องเป็นกังวลกับบทบาทการครูที่ต้องคอยดูแลให้ความรู้กับลูก  ขอเพียงแต่มีเวลาอยู่กับลูกอย่างใกล้ชิด “จริงๆ แล้วพ่อแม่ทุกคนมีความเป็นครูอยู่ในตัวเอง  มีสัญชาติญาณในความเป็นมนุษย์  ในการที่จะดูแลปกป้องลูก ๆอยู่แล้ว  ก็ให้ธรรมชาติอันนั้นแหละที่จะเป็นครูคอยสอนลูกต่อไป  พ่อแม่ทุกคนจัดการศึกษา โดยครอบครัวได้นะคะ บางทีสังคมเราถูกกระแสการศึกษาในระบบโรงเรียนครอบงำ  จนทำให้รู้สึกว่าการเป็นครูของลูกเนี่ย  มันต้องเป็นครูแบบครูในระบบโรงเรียน  ก็ขอแนะนำว่าต้องสลายวิธีคิดแบบนี้ออกไป แล้วใช้ธรรมชาติของเราในการดูแลลูก  เพราะว่าการดูแลลูกไม่ใช่เรื่องวิชาความรู้อย่างเดียว จริงๆ  แล้วหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน การพัฒนาเด็กมันไม่ใช่แค่ความรู้เรื่องเดียว  มันต้องเป็นเรื่องการพัฒนาทักษะ กระบวนการเรียนรู้ พัฒนาเจตนคติ ต่างๆ ร่วมกันไปในระบบโรงเรียนนั้น หลักสูตรเขาเป็นแบบแยกส่วน มองอะไรไม่เป็นองค์รวม ฉะนั้นการหมุนกลับมาใช้วิถีชีวิตความเป็นมนุษย์แบบฐานเดิมของเรา  มันจะทำทุกอย่างให้เป็นองค์รวมได้ง่ายขึ้น ทีนี้ในวัยประถมเนี่ยไม่ยากเลย สำหรับพ่อแม่  เพียงแค่เราส่งเสริมสนับสนุนลูกในสิ่งที่เขาจะพัฒนาเป็นระยะๆ  ต่อเนื่องไป  พอโตขึ้นถ้ามันเป็นความรู้ในเชิงลึกที่คนละด้านกับที่พ่อแม่มี เราก็สามารถส่งเสริมสนับสนุนในการไปพบกับผู้รู้ หรือไปหาความรู้จากทรัพยากรของสังคมอื่นๆ ได้  ซึงไม่ยากเลยสำหรับพ่อแม่  ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง”



การเรียนแบบโฮมสคูลอาจมองดูแปลกๆ  สำหรับคนทั่วไปที่เชื่อว่าการศึกษาควรอยู่ในรั้วโรงเรียนเท่านั้น แต่โฮมสคูลก็ได้รับการพิสูจน์มาแล้วในนานาอารยประเทศ ทั้งอเมริกาและยุโรปว่าสามารถทำให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีอย่างสุข   ถือเป็นระบบการศึกษาทางเลือกที่เหมาะสม     หากพ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับลูกอย่างใกล้ชิด

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะจัดการศึกษาให้ลูกแบบโฮมสคูล  สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมบ้านเรียนไทย  www.facebook.com/thaihomeschool


ที่มา all-magazine.com

ความคิดเห็น