หนูติดจอตู้ ไม่ดูจะลงแดง!

หนูติดจอตู้ ไม่ดูจะลงแดง!

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 กรกฎาคม 2555 23:31 น.



ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาลูกติดทีวี ทำให้คนเป็นพ่อแม่ยุคนี้ต้องเหนื่อยใจกับการหาทางแก้ไขพฤติกรรมลูกไม่ใช่น้อย ยิ่งเมื่อเห็นลูกจ้องทีวีตาไม่กระพริบ ราวกับจะให้เนื้อหาในรายการที่รับชมซึมซับเข้าไปในสมองก็ยิ่งทำใจลำบาก เพราะหลายรายการก็ใช่ว่าจะเป็นรายการที่เหมาะสมสำหรับเด็ก หรือบางรายการเหมาะกับเด็กจริง แต่โฆษณาที่คั่นรายการอยู่นั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าดูนัก
       
       แต่ทันทีที่พ่อแม่เข้าไปแทรกแซงการรับชม สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือ ลูกลงไปชักดิ้นชักงอ น้ำตาไหลพราก บ้างก็ร้องไห้โวยวายแสดงกิริยาอาการไม่น่าดู เรียกได้ว่า เปลี่ยนโดยฉับพลัน หรือเด็กบางคนเทคนิคก้าวไกลกว่านั้น รู้จักใช้วิธีที่ฉลาดกว่านั่นก็คือการทำตัวน่ารัก เข้ามาอ้อน หอมแก้ม เชื่อฟังพ่อแม่สุดฤทธิ์ เพียงเพื่อให้ตนเองได้ดูทีวีต่อ
       
       คุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่กำลังเจอปัญหานี้ และไม่อยากตามใจลูกอีกต่อไปแล้ว แต่ก็ไม่อยากทำร้ายหัวใจลูกด้วยการใช้ไม้แข็ง วันนี้ เรามองหาวิธีแก้ไขแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่นมาฝากกัน จะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยค่ะ
       
       1.จัดสรรเวลาอย่างชัดเจน
       
       พ่อแม่ต้องเป็นผู้ตั้งกฎในการรับชมทีวี หรือการใช้งานทีวีในรูปแบบต่างๆ เช่น ใช้เล่นเกม ใช้ดูหนัง ดูซีดี รายการประเภทใดดูได้ รายการประเภทใดห้ามดู ฯลฯ ต้องออกกฎอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี ในบางครอบครัวที่มีแม่เป็นช้างเท้าหน้าเมื่อวางกฎอย่างเคร่งครัดจะไม่ใจอ่อน เด็กจะรู้ว่าอ้อนแม่ไม่ได้ก็จะไปอ้อนพ่อแทน ซึ่งพ่อก็ควรรักษากฎอย่างเคร่งครัดเช่นกัน อย่ายอมใจอ่อนทิ้งกฎเพราะเห็นว่าลูกอ้อนน่ารักจนเกินห้ามใจเสียล่ะ
       
       2.บันทึกการใช้งาน
       
       การจดบันทึกการใช้งานว่าลูก ๆ มาดูทีวีตั้งแต่เมื่อไร กี่โมงถึงกี่โมง จดเอาไว้สม่ำเสมอ ก็อาจทำให้ลูกๆ ได้เห็นว่าพวกเขาทิ้งเวลาให้กับหน้าจอทีวี หรือจอคอมพิวเตอร์นานแค่ไหน และอาจทำให้พวกเขาอยากหากิจกรรมใหม่ๆ ทำแทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับทีวี หรืออินเทอร์เน็ตก็เป็นได้
       
       3.ให้รางวัล
       
       หากพ่อแม่สามารถจูงใจลูกๆ ให้ห่างจากทีวีได้ การมีรางวัลให้ลูกๆ บ้างก็เป็นสิ่งที่เหมาะกับเด็กๆ อยู่เหมือนกัน รางวัลอาจเป็นการไปเที่ยวด้วยกันในครอบครัว หรือทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกัน แต่ไม่ควรเอารางวัลมาล่อ หรือใช้เป็นเครื่องจูงใจเด็ก
       
       4.หากิจกรรมอื่นให้ลูกทำ
       
       แม้จะเข้าใจพ่อแม่คนทำงานที่จันทร์-ศุกร์ก็ทำงานเหนื่อยจะแย่แล้ว เสาร์อาทิตย์อยากพักบ้าง แต่ถ้าอยากให้ทีวีไม่มีความหมาย พ่อแม่อาจต้องลงทุนหน่อย กับการพาลูกทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เล่นกีฬา พาไปพิพิธภัณฑ์ ไปห้องสมุด ทำอาหาร หรืออะไรก็ได้ที่ให้ลูกได้เพลิดเพลินกว่าการนั่งดูทีวีทั้งวี่ทั้งวัน
       
       5.ปิดทีวีในเวลาที่เหมาะสม
       
       เวลาเช่นตอนเช้าก่อนออกจากบ้าน ตอนเย็นระหว่างรับประทานอาหาร ก่อนนอน เป็นเวลาที่ควรจะพักจากการรับชมทีวีบ้าง แม้ข่าวเช้าในปัจจุบันจะน่าติดตามขนาดไหน พ่อแม่อาจต้องอดใจปิดทีวีไว้ก่อน มิเช่นนั้น จะทำให้เด็กคุ้นเคยกับการมีทีวีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ไว้ส่งลูกเข้าโรงเรียนเสร็จแล้ว คุณพ่อคุณแม่จะมาเปิดเว็บผู้จัดการออนไลน์เช็กข่าวก็คงไม่สายเกินไป
       
       6.ยึดอุปกรณ์ไอทีไว้กองกลาง
       
       การให้ลูกมีคอมพิวเตอร์ ทีวี โทรศัพท์มือถือส่วนตัวในห้องนอนไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมนักในยุคปัจจุบัน ถ้าเป็นไปได้ ควรออกกฎ (อีกแล้ว) ให้ทุกคนวางของเหล่านั้นเอาไว้ในห้องกลางของบ้านที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อที่ว่าลูกใช้งานทำอะไร ดูอะไร พ่อแม่จะได้มีส่วนร่วมได้ (แน่นอนว่ากฎข้อนี้ช่วยกันการมีกิ๊กของคุณพ่อได้เป็นอย่างดี)
       
       7.บอกผู้ใหญ่ในบ้านให้รับทราบกฎโดยทั่วกัน
       
       ถ้าพ่อแม่ออกกฎแล้วแต่เด็กยังมีผู้ใหญ่คนอื่นให้ท้ายแอบเปิดให้ดู ก็คงไม่มีผล ในกรณีนี้คุณพ่อคุณแม่คงต้องคุยกับผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในบ้านถึงผลดีผลเสียของการออกกฎดังกล่าว และขอความร่วมมือเพื่อให้คุณสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกได้
       
       8.งดการรับประทานขนมระหว่างดูทีวี
       
       มีงานวิจัยหลายชิ้น ที่ระบุว่า การรับประทานขนม หรืออาหารว่างระหว่างรับชมรายการทีวีนั้นจะทำให้เกิดปัญหาน้ำหนักเกินตามมา ซึ่งปัญหานี้มีผลกระทบต่อสุขภาพ ความเชื่อมั่นในตนเองของเด็ก ดังนั้น หากต้องการดูทีวี หรือกำลังนั่งดูทีวีในเวลาที่พ่อแม่กำหนด ก็ควรงดขนม-เครื่องดื่ม ที่มีรสหวานด้วยนั่นเอง

ความคิดเห็น