เจาะคณิตศาสตร์ปฐมวัย พ่อแม่ทราบหรือไม่ลูก ๆ เรียนอะไรกัน

 เจาะคณิตศาสตร์ปฐมวัย พ่อแม่ทราบหรือไม่ลูก ๆ เรียนอะไรกัน


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์



เมื่อเอ่ยถึงวิชาคณิตศาสตร์ ต้องยอมรับว่าพ่อแม่ชาวไทยหลายคนเคยมีอดีตอันขมขื่นกับวิชานี้ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คณิตศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความคิด ทำให้มนุษย์คิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ มีแบบแผน ตลอดจนมีการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และสามารถวิเคราะห์ปัญหาหรือสถานการณ์ได้อย่างรอบคอบ นอกจากนั้นคณิตศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์อื่น ๆ อีกหลายแขนง

สำหรับเด็กปฐมวัย เป็นวัยเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้ มีความอยากรู้อยากเห็น ช่างสังเกต ชอบเล่น และสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว การส่งเสริมให้เด็กในวัยนี้มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ และมีเจตคติที่ดีต่อคณิตศาสตร์ ไม่เพียงส่งผลให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ในศาสตร์อื่น ๆ คณิตศาสตร์จึงมีบทบาทสำคัญทั้งในการเรียนรู้และมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต
       
       เด็กปฐมวัยเรียนรู้อะไรในคณิตศาสตร์
       
       การเรียนรู้คณิตศาสตร์ระดับปฐมวัย มุ่งหวังให้เด็กทุกคนได้เตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ อันเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา โดยกำหนดสาระหลักที่จำเป็นสำหรับเด็ก ได้แก่ จำนวนและการดำเนินการ จำนวน การรวมกลุ่ม และการแยกกลุ่ม การวัด ความยาว น้ำหนัก ปริมาตร เงิน และเวลา เรขาคณิต ตำแหน่ง ทิศทาง ระยะทาง รูปเรขาคณิตสามมิติและรูปเรขาคณิตสองมิติ พีชคณิต แบบรูปและความสัมพันธ์ การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น การเก็บรวบรวมข้อมูลและการนำเสนอ ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ การแก้ปัญหา การให้เหตุผล การสื่อสาร การสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์และการนำเสนอ การเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ ทางคณิตศาสตร์ และเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆ และมีความคิดสร้างสรรค์
       
       ว่าแต่ว่า คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมคะว่าในแต่ละช่วงวัยของลูก เด็ก ๆ ควรมีความรู้ความเข้าใจในคณิตศาสตร์ในระดับใดบ้าง ทางสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้กำหนดคุณภาพทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยในแต่ละช่วงอายุ ว่าควรมีความซับซ้อนแตกต่างกัน ดังนี้ค่ะ
       
       คุณภาพทางคณิตศาสตร์ของเด็กอายุ 3 ปี ควรมีความสามารถดังนี้
       
       1) มีความรู้ ความเข้าใจและมีพัฒนาการด้านความรู้สึกเชิงจำนวน เกี่ยวกับจำนวนนับไม่เกินห้า และเข้าใจเกี่ยวกับการรวมกลุ่ม และการแยกกลุ่ม
       2) มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความยาว น้ำหนัก ปริมาตร และเวลา สามารถเปรียบเทียบ และใช้คำเกี่ยวกับการเปรียบเทียบความยาว น้ำหนัก และปริมาตร และเวลา สามารถเปรียบเทียบ และใช้คำเกี่ยวกับการเปรียบเทียบความยาว น้ำหนัก และปริมาตร สามารถบอกกิจกรรมหรือเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน
       3) มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับตำแหน่ง สามารถใช้คำบอกตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ รู้จักทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยมมุมฉากจากสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และใช้ทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก สร้างสรรค์งานศิลปะ
       
       คุณภาพทางคณิตศาสตร์ของเด็กอายุ 4 ปี ควรมีความสามารถดังนี้
       
       1) มีความรู้ ความเข้าใจและมีพัฒนาการด้านความรู้สึกเชิงจำนวน เกี่ยวกับจำนวนนับไม่เกินสิบ และเข้าใจเกี่ยวกับการรวมกลุ่ม และการแยกกลุ่ม
       2) มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความยาว น้ำหนัก ปริมาตร และเวลา สามารถเรียงลำดับความยาว น้ำหนัก ปริมาตร และเวลา สามารถบอกกิจกรรมหรือเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเช้า เที่ยง เย็น และเรียงลำดับกิจกรรม หรือเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันตามช่วงเวลา
       3) มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับตำแหน่ง สามารถใช้คำบอกตำแหน่งและแสดงของสิ่งต่าง ๆ สามารถจำแนกทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก และใช้ทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก กรวย ทรงกระบอกสร้างสรรค์งานศิลปะ 4) มีความรู้ ความเข้าใจ แบบรูปของรูปที่มีรูปร่าง ขนาด สี ที่สัมพันธ์กันอย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถทำตามแบบรูปที่กำหนด



คุณภาพทางคณิตศาสตร์ของเด็กอายุ 5 ปี ควรมีความสามารถดังนี้
       
       1) มีความรู้ ความเข้าใจและมีพัฒนาการด้านความรู้สึกเชิงจำนวน เกี่ยวกับจำนวนนับไม่เกินยี่สิบ และเข้าใจเกี่ยวกับการรวมกลุ่ม และการแยกกลุ่ม
       2) มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความยาว น้ำหนัก ปริมาตร เวลา และเงิน สามารถวัดและบอกความยาว น้ำหนัก และปริมาตร โดยใช้เครื่องมือและหน่วยที่ไม่ใช่หน่วยมาตรฐาน สามารถเรียงลำดับเรียงลำดับชื่อวันในหนึ่งสัปดาห์และบอกกิจกรรมหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อวานนี้ วันนี้ พรุ่งนี้ เข้าใจเกี่ยวกับเงิน สามารถบอกชนิดและค่าของเงินเหรียญและธนบัตร
       3) มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับตำแหน่ง ทิศทางและระยะทาง สามารถใช้คำบอกตำแหน่ง ทิศทาง และระยะทาง และแสดงตำแหน่ง ทิศทาง และระยะทางของสิ่งต่าง ๆ สามารถจำแนกทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก กรวย ทรงกระบอก และจำแนกรูปวงกลม รูปสามเหลี่ยม รูปสี่เหลี่ยม สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงรูปเรขาคณิตสองมิติที่เกิดจากการตัด ต่อเติม พับ หรือคลี่ และสร้างสรรค์งานศิลปะจากรูปเรขาคณิตสามมิติและสองมิติ
       4) มีความรู้ ความเข้าใจ แบบรูปของรูปที่มีรูปร่าง ขนาด สี ที่สัมพันธ์กันอย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถต่อแบบรูปที่กำหนดและสร้างเพิ่มเติม
       5) มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและการนำเสนอข้อมูลในรูปแผนภูมิอย่างง่าย
       
       ส่วนเทคนิคจูงใจให้เด็กๆ สนุกกับการเรียนคณิตศาสตร์อีกประการหนึ่งคือ ให้เด็กได้เรียนรู้ และค้นพบสิ่งท้าทาย ด้วยกิจกรรม และเกมที่ช่วยฝึกทักษะคณิตศาสตร์ให้เด็กได้ร่วมสนุกพร้อมสอดแทรกเนื้อหาความรู้เข้าไปนั่นเอง ซึ่งหากไม่มีในหนังสือที่โรงเรียนจัดหามาให้ ก็อาจไปหาซื้อเองได้ตามร้านหนังสือทั่วไปค่ะ
       
       ทั้งหมดนี้อาจกล่าวได้ว่า เป็นโอกาสดีของพ่อแม่ในยุคนี้ที่ (เคยไม่ชอบคณิตศาตร์เอาเสียเลย) จะได้ลองเรียนรู้ และหากิจกรรมสนุก ๆ มาเล่นกับลูกไปพร้อม ๆ กับการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ ทีมงานเชื่อว่า คุณพ่อคุณแม่ที่ขยาดกับการเรียนคณิตศาสตร์ยุคก่อนมา (แบบที่มีการบ้านเป็นตั้ง ให้นั่งทำกันหัวฟู) คงมีความสุข และมีทัศนคติที่ดีในการสอนคณิตศาสตร์ลูก ๆ กันมากขึ้นค่ะ
       
       อ้างอิงข้อมูลจาก สสวท.
       
       หมายเหตุ : ทาง สสวท. ได้จัดทำแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้คณิตศาสตร์ปฐมวัย ตามสาระ มาตรฐาน และตัวชี้วัด รวมทั้งตัวอย่างกิจกรรมไว้อย่างละเอียดและชัดเจน เพื่อให้ครูและผู้เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางจัดประสบการณ์การเรียนรู้คณิตศาสตร์ปฐมวัย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับกรอบมาตรฐานการเรียนรู้คณิตศาสตร์ปฐมวัย ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 และสามารถเชื่อมต่อกับสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
       
       ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมที่นางนงลักษณ์ ศรีสุวรรณ เลขานุการคณะกรรมการกำหนดแนวทางการจัดทำคู่มือกรอบมาตรฐานการเรียนรู้คณิตศาสตร์ปฐมวัย ฯ สาขาคณิตศาสตร์ประถมศึกษา สสวท. โทร. 0-2390-4021 ต่อ 2501 อีเมล์ nsris@ipst.ac.th

ความคิดเห็น