คุณเป็นพ่อแม่ที่"ของขึ้น"เมื่อลูกถูกเพื่อนแกล้งหรือไม่
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 20 มีนาคม 2555 12:13 น. เวลาที่เห็นลูกร้องไห้เพราะถูกเพื่อนแกล้ง ไม่ว่าจะเป็นการเตะ ผลักล้ม ทึ้งผม ฯลฯ เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ส่วนหนึ่งรู้สึก "ของขึ้น" ขึ้นมาทันที แม้จะพยายามข่มใจว่าเป็นเรื่องของเด็กเล่นกันก็ต้องมีทะเลาะกันเป็นธรรมดา แต่ก็อดโกรธไม่ได้ รวมถึงอยากให้คุณครู หรือโรงเรียนเข้ามารับผิดชอบไม่ให้ลูกถูกแกล้งอีก ไม่เพียงเท่านั้น พ่อแม่ยุคใหม่บางท่านถึงกับสอนให้ลูกรู้จัก "สวนกลับ" เพื่อนก็มี เขาชกมา ก็สอนให้ลูกชกตอบ เพื่อนเตะมา ก็ให้ลูกเตะตอบ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ถึงจะเข้มแข็ง ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าแนวคิดทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องดี เพราะการสวนกลับเพื่อน นอกจากจะทำให้ลูกถูกทำโทษทั้งคู่โทษฐานมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันแล้ว เด็กอาจติดนิสัยชอบใช้ความรุนแรง และนิสัยนี้มักจะนำมาซึ่งความเดือดร้อนสารพัดมาสู่ชีวิตลูกในภายภาคหน้าอีกด้วย ถ้าอย่างนั้น เวลาลูกถูกเพื่อน ๆ เกเรหาเรื่อง จะทำอย่างไรกันดี ทีมงาน Life & Family มีวิธีที่แตกต่างจากการใช้กำลังปะทะมาฝากกัน นั่นก็คือ การใช้สติ ไหวพริบ และการเปิดใจให้เป็นประโยชน์ ลองพิจารณากันเลยค่ะ 1. หา "สติ" ให้เพื่อนด้วย... คำพูดประโยคนี้ "หยุดนะ นายไม่มีสิทธิ์มาแกล้งเรา" โดยใช้ร่วมกับการแสดงออกทางสีหน้า - แววตา รวมถึงเปล่งเสียงพูดอย่างเข้มแข็ง มั่นใจ และดังพอสมควร ก็สามารถหยุดเด็กเกเรหรือทำให้เด็กคนนั้นผงะไปชั่วระยะหนึ่งได้ ที่สำคัญ การพูดประโยคนี้ได้ในสถานการณ์คับขันเป็นการแสดงออกถึงความเข้มแข็งทางจิตใจอย่างหนึ่งที่เด็ก ๆ ควรฝึก (แทนการฝึกการง้างหมัดเข้าใส่เพื่อน) 2. "นายแกล้งเราทำไม" เด็กเกเรมักจะชอบรุมเด็กที่ดูอ่อนแอ ไม่มั่นใจ เวลาเข้าไปหาเรื่องแล้วเห็นฝ่ายตรงข้ามหงอจนตัวลีบ ไม่กล้าสบตา ก็ยิ่งได้ใจ ย่างสามขุมเข้าใส่ ดังนั้น หากลูกของคุณแสดงออกถึงความกล้าหาญ มั่นใจ ด้วยการมองหน้า และสบตากับเพื่อนเกเรตรง ๆ รวมถึงถามว่าทำไมถึงต้องหาเรื่องกันด้วยก็ช่วยให้สมองของอีกฝ่ายหยุดคิดหาเหตุผล แทนการใช้กำลังปล่อยหมัดเข้าใส่หน้าลูกของเราได้เช่นกัน 3. เปิดใจรับฟัง เด็กต่อให้เกเรแค่ไหนก็ยังรู้สึกดีที่มีคนเปิดใจรับฟัง เด็กบางคนอาจมีเรื่องอึดอัดใจ ไม่พอใจ หงุดหงิด แต่ไม่มีใครรับฟัง จึงต้องระบายความอึดอัดนั้นด้วยการแกล้งเพื่อน หากเขาได้พูด และมีคนรับฟัง - เข้าใจก็อาจทำให้เขารู้สึกดีขึ้นได้ นอกจากนั้น หากต้นเหตุของการหาเรื่องทะเลาะมาจากลูกของเราเคยไปทำเขาไว้ก่อน ก็ควรสอนให้ลูกยอมรับ และขอโทษถึงการกระทำในอดีตด้วย เพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ไม่ผูกใจเจ็บ และกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน นอกจากนี้ การเดินหนี ก็เป็นการหลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาทที่ดี แต่ในบางกรณีก็อาจใช้ไม่ได้ เพราะเด็กบางคนอึดอัดใจจนเต็มที่ และต้องการหาใครสักคนมารองรับอารมณ์อยู่แล้ว การหันหลังให้ อาจเป็นการยั่วยุให้เขาเริ่มต้นการใช้กำลังกับลูกเราก็เป็นได้ หรือการไปพูดคุยกับคุณครูถึงเรื่องที่ลูกถูกเพื่อนหมายตาเอาไว้ก็เป็นเรื่องที่ควรทำ แต่ก็ต้องทำใจเผื่อไว้ด้วยว่าคุณครูอาจไม่สามารถดูแลลูกเราได้ตลอดเวลา มันคงต้องมีบางช่วงที่เด็กอยู่ห่างสายตาครู ดังนั้น การสร้างความเข้มแข็งที่ถูกต้องให้กับลูกผ่านการทำความเข้าใจ รับฟังปัญหา - ความทุกข์ของเพื่อนเกเร จึงเปรียบเหมือน "เบาะ" ที่ช่วยดูดซับความรุนแรงจากหัวใจของเพื่อน และไม่ให้พลังนั้นมาทำร้ายตัวของลูกเราได้อย่างดี ที่สำคัญ มันยังมีคุณค่าในระยะยาว ในฐานะที่ช่วยหยุดความเลวร้ายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดตามมาจากการใช้ความรุนแรงของเด็กได้อีกด้วย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น