ลูกไม่กินผักโทษใครไม่ได้นอกจากพ่อแม่/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

 ลูกไม่กินผักโทษใครไม่ได้นอกจากพ่อแม่/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน




ดิฉันเคยงง และสงสัยว่า ทำไมทุกครั้งที่ซื้อโจ๊ก แล้วบอกผู้ขายว่าโจ๊กเด็กเมื่อไร พ่อค้าหรือแม่ค้าก็จะไม่ใส่ผักให้โดยอัตโนมัติ ทำให้ต้องขอผักและขิงเพิ่มทุกครั้ง
       
       ที่น่าประหลาดใจ ก็คือ เป็นเหมือนกันแทบทุกร้าน บางร้านดีหน่อย คือ ถามก่อนว่าใส่ผักด้วยไหม
       
       ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร..แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะซื้อใส่ถุงเท่านั้น ต่อให้นั่งกินที่ร้าน ถ้าเห็นเป็นเด็กปุ๊บ ก็จะไม่ใส่ผักและขิงทันที

   
       ขณะที่ร้านก๋วยเตี๋ยวบางแห่งก็เช่นกัน ผู้ขายต้องถามเสมอว่าของเด็กใส่ผักไหม
       
       หรือเป็นเพราะมีเด็กที่ไม่กินผักในโจ๊กและก๋วยเตี๋ยวมากกว่าเด็กที่กินผัก..!!
       
       แต่ที่สงสัยหนักเข้าไปอีก คือแล้วทำไมพ่อแม่ผู้ปกครองถึงไม่ใส่ใจหรือยอมล่ะ?
       
       ปัญหาเรื่องเด็กไม่กินผักเป็นปัญหาใหญ่ของเด็กไทยจำนวนมาก จนถึงขนาดล่าสุดทางสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเปิดเผยว่า เด็กไทยกว่า 90% กินผักผลไม้น้อย โดยทำการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยด้านโภชนาการ ปี 2551-2552 พบผู้หญิงไทยร้อยละ 18.5 หรือ 4 ล้านกว่าคนจากทั้งหมดกว่า 21 ล้านคน ที่กินผักผลไม้ตามเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือ 400-600 กรัมต่อวัน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำมาก
       
       แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ กลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปี พบว่า มีเพียงร้อยละ 6.8 หรือ 3 แสนคนเท่านั้น ที่กินผักผลไม้ได้ตามเกณฑ์ และนั่นหมายความว่า เด็กยิ่งเล็กยิ่งบริโภคผักน้อยลงไปอีก
       
       และหากประเทศไทยไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้ จะต้องแบกรับภาระจากปัญหาสุขภาพในระยะยาว มีรายงานว่า ร้อยละ 19 ของโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหาร, ร้อยละ 31 ของโรคหัวใจขาดเลือด และร้อยละ 11 ของโรคหลอดเลือดสมอง มีสาเหตุมาจากการกินผักผลไม้ไม่เพียงพอ
       
       แล้วเราจะปล่อยให้ลูกของเราไม่กินผักและผลไม้หรือ..!!
       
       อย่าลืมว่าคนที่มีอิทธิพล และทำให้ลูกกินผักและผลไม้หรือไม่ อยู่ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองหรือคนในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเป็นแม่ เพราะต้องเป็นผู้ให้นมแม่ เป็นผู้ปรุงอาหารให้ลูกน้อย ได้ตระหนักและมีความรู้ในการปรุงอาหารให้ลูกได้กินการอาหารครบทั้ง 5 หมู่อย่างเพียงพอหรือไม่
       
       แต่เนื่องจากปัจจุบัน พบว่า ผู้เป็นแม่ก็มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมการกินผักและผลไม้เช่นกัน ฉะนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารของตัวเองและครอบครัวให้ได้ก่อน จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ในการปลูกฝังและฝึกฝนให้ลูกได้กินผักและผลไม้ที่หลากหลายตั้งแต่วัยทารก ก็จะส่งผลให้ลูกสามารถกินผักและผลไม้ได้หลากหลายเมื่อโตขึ้น
       
       เริ่มจากพ่อแม่ควรสอนให้ลูกคุ้นเคยกับผักและผลไม้ โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อลูกได้รับอาหารเสริมหลังจากที่ลูกกินนมแม่อย่างเดียวจนถึงวัย 6 เดือน ก็สามารถเริ่มอาหารเสริมตามวัย ซึ่งอาจเริ่มด้วยข้าวบดน้ำซุปไม่ปรุงรส แล้วค่อยๆ เพิ่มชนิดอาหารทั้งเนื้อสัตว์และผักบดลงไปด้วย เป็นการฝึกให้ลูกเรียนรู้อาหารชนิดต่างๆ และสามารถกินอาหารได้ทุกชนิดเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
       
       ในช่วงของการผสมผักลงในข้าวนั้นควรเลือกผักที่ทำให้สุกแล้วอ่อนนุ่ม และควรเริ่มในปริมาณน้อยๆ ก่อน เพื่อสังเกตการยอมรับของลูก เมื่อไม่มีอาการแพ้ ก็สามารถเพิ่มหรือเปลี่ยนชนิดของผักให้หลากหลาย เมื่อลูกโตก็จะเริ่มคุ้นเคยกับผักเหล่านั้น
       
       เป็นธรรมดาที่ครั้งแรกให้ลูกกินผักอาจได้รับการปฏิเสธก็ไม่ควรบังคับ เพราะจะทำให้เด็กต่อต้านมากขึ้น ต้องใจเย็นๆ เว้นระยะเวลาสักหน่อยแล้วพยายามให้กินใหม่ครั้งละน้อยๆ ในที่สุดลูกน้อยจะยอมรับได้เอง
       
       ประเด็นสำคัญที่ต้องเข้าใจ ก็คือ เด็กส่วนใหญ่ไม่ชอบผักเพราะรสชาติที่ขมหรือมีกลิ่นแรง ในครั้งแรกๆ จึงควรเลือกชนิดของผักให้ลูกชนิดที่ไม่กลิ่นฉุน เช่น ตำลึง ฟักทอง ผักกาดขาว กะหล่ำดอก เป็นต้น เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้นก็ค่อยๆ เพิ่มชนิดของผักให้หลากหลายมากขึ้น พร้อมกับสร้างความรู้สึกที่ดีให้แก่ลูกเกี่ยวกับผัก หรืออาจจะหาหนังสือนิทานที่เกี่ยวกับเรื่องผักมาเล่าให้ลูกฟังว่าถ้าไม่กินผักแล้วจะเป็นอย่างไร ฯลฯ
       
       ที่สำคัญ อย่าลืมว่าเมื่อลูกกินผักและผลไม้แล้ว ก็ต้องชื่นชมและให้กำลังใจลูกทุกครั้งด้วย
       
       จากนั้นเมื่อลูกโตขึ้น ลูกเริ่มมีฟัน ลูกจะใช้ฟันกัดหรือเคี้ยวอาหารมากขึ้น ก็อาจหาผักที่มีสีสวยๆ และไม่แข็งมากนัก เช่น แครอท แตงกวา มาหั่นเป็นชิ้นขนาดพอจับได้ถนัดมือให้ถือกินเล่น ซึ่งจะพบว่าเด็กจะชอบและยอมรับได้เป็นอย่างดี แต่ก็ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้กัดชิ้นใหญ่จนเกินไป เพราะอาจจะหลุดติดคอได้
       
       รวมไปถึงเมนูอาหารประจำบ้าน ที่อาจมีเมนูอาหารของเจ้าตัวเล็กต่างหากด้วย ควรกำหนดให้ทุกมื้ออาหารมีผักเป็นส่วนหนึ่งของอาหารทุกมื้อด้วย พร้อมทั้งผลไม้ที่ลูกโปรดปรานรวมอยู่ด้วยทุกครั้ง เพื่อให้เด็กคุ้นและสามารถกินผักได้สม่ำเสมอ
       
       แต่ถ้าหากลูกไม่ยอมกินผักมาโดยตลอด เพราะพ่อแม่ไม่ได้ฝึกฝนมาตั้งแต่เล็ก ก็อาจต้องเหนื่อยหน่อย พ่อแม่ต้องพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินใหม่ด้วย เริ่มจากการปรับเมนูในบ้าน โดยคำนึงถึงสารอาหารมากกว่าความอยากอาหารบางชนิดเท่านั้น
       
       ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับเด็กไทยในทุกวันนี้ ก็คือ พ่อแม่มักตามใจเมื่อลูกเรียกร้องจะกินอาหารชนิดใดก็ตาม ทั้งที่เป็นอาหารที่มีไขมันสูง หรือกินอาหารประเภทเดียวซ้ำๆ พ่อแม่ก็ยอมตามใจ เพราะกลัวลูกหิว กลัวลูกไม่ยอมกิน กลัวลูกกินได้น้อย กลัวลูกผอม ฯลฯ
       
       สุดท้ายปัญหาก็ตกอยู่ที่ลูก ทั้งเรื่องการขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย และโรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ
       
       แล้วจะไปโทษใครได้ ถ้าไม่ใช่ตัวพ่อแม่เอง..!!!

ขอขอบคุณ : ASTVผู้จัดการออนไลน์ ค่ะ

ความคิดเห็น