ผู้ใหญ่ในบ้านขัดแย้งกัน..ลูกหลานรับกรรม

 ผู้ใหญ่ในบ้านขัดแย้งกัน..ลูกหลานรับกรรม


โดยพี่ตุ๊บปอง (เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป)



แม่สอนเสมอว่า..
ปู่ย่าตายาย คือ อริยทรัพย์ของหลาน บ้านไหนมีปู่ย่าตาหรือยายช่วยเป็นหลักในการเลี้ยงหลาน หรือเป็นหูเป็นตาให้ บ้านนั้นถือเป็นโชค
ยิ่งถ้าการเลี้ยงดูลูกหลานในรูปแบบที่อลุ้มอล่วยยอมรับกันและกันได้ ก็ถือว่า "เฮง"
แต่ถ้าพ่อแม่ ปู่ย่าตายายขัดแย้งกันในวิถีการเลี้ยงลูก ดูแลหลาน เมื่อนั้นลูกหลานนั่นแหละที่ต้องรับกรรม ต้องถูกผลกระแทกของการกระทำทั้ง 2 ฝ่าย 2 ฝั่ง มากระทบ จนกระเทือนอยู่ร่ำไป

แม่ว่า..เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจร่วมกันตั้งแต่ต้นมือ คือ..
ปู่ย่าตายายเลี้ยงลูกของตนในยุคหนึ่ง
ต่อเมื่อลูกโตจนถึงวันที่มีลูกของตนเอง ก็เลี้ยงดูลูกของตนในอีกสมัยหนึ่ง ซึ่งทั้งปู่ย่าตายาย พ่อแม่ และลูกหลาน 3 ยุค 3 สมัยมีปัจจัยแวดล้อมที่ทั้งต่างกันบ้าง เหมือนกันบ้าง คลายกันบ้าง..แต่ความจริง คือ ไม่ใช่ยุคเดียว สมัยเดียวกัน
ดังนั้น..
การที่จะให้คนที่เกิดและเติบโตต่างยุคต่างสมัย นั้นมาเลี้ยงคนรุ่นต่อไปในรูปแบบเดิม ๆ ไม่ปรับบ้าง เปลี่ยนบ้างคงหลุดยุค ตกสมัยกลายเป็นทุกข์ได้เหมือนกัน

หลายบ้านที่พ่อแม่เลือกวิถีการเลี้ยงลูกตามยุคตามสมัยของตน
ในขณะที่ปู่ย่าตาหรือยายเกิดอาการ "ติดดี..ถือดี" ฮึดฮัดขัดใจที่เลี้ยงหลาน "ไม่เข้าท่า" ไม่ได้ดั่งใจ เพราะไม่ผิดไปจากวิถีที่ตนเลี้ยงลูกมา เติบโตกระทั่งได้ดิบได้ดี จนทุกวันนี้
แล้ว..
พ่อแม่ กับ ปู่ย่าตายายก็ขัดใจกัน จนบางบ้าน บานปลายเป็นความไม่พอใจชนิดที่ "จะหยุดก็ไม่ได้ จะไปก็ไม่ถึง"

แม่สอนว่า..
ถ้าลูกรั้งอารมณ์ให้เย็นได้ก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้ารั้งอารมณ์ไม่รอด ลูกอาจจะจอดด้วยคำพูดพื้น ๆ แต่เสียดแทงใจพ่อแม่ว่า..
" พ่อ..หยุดเลยทำอย่างนี้กับหลานไม่ได้นะ..แม่อย่าทำกับหลานอย่างนั้นซิ มันไม่ดีนะน่ะ"
คำพูดอย่างนี้ของลูก ยังไง ๆ ก็ทำให้พ่อแม่เจ็บปวด..แน่นอน
เรื่องนี้ลูกจึงต้องระวังไว้ให้จงมาก
เพราะธรรมชาติของพ่อแม่ คือ คนเลี้ยงดูลูกที่มองเห็นลูกมาตั้งแต่ลูกยังเป็นวุ้น
ดังนั้น ถ้าลูกแน่ใจว่าไม่มีอะไรจะหยุด หรือปรับพฤติกรรมของพ่อแม่ได้นอกจากคำพูด ลูกก็ต้องเรียนรู้ศิลปะในการพูดอย่างสันติให้มาก
เพราะ..
มันเป็นการยากมากที่จะทำให้พ่อแม่ที่เคยชี้ถูกชี้ผิดกับลูกมาก่อน ให้มายอมรับสถานการณ์ที่มันพลิก กลับมาเป็นคนที่ต้องมาฟังการชี้ถูกชี้ผิดจากลูก..มันจึงเป็นเรื่องยากมาก
แต่ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้..แต่มันต้องหาวิธีการ

เบื้องต้น คนเป็นพ่อเป็นแม่คงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า..
ที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านด้วยกันทั้งคู่ ปู่ย่าตายาย คือ มือวางอันดับหนึ่งที่ควรจะเลือกให้เป็นคนดูแลหลาน เพราะมีความรัก ความผูกพันและใกล้ชิดโดยสายเลือด
ต่อถ้าไม่ได้จริง ๆ จึงค่อยหาพี่เลี้ยง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่มีอัตราเสี่ยงมาก ๆ เพราะถ้าเลือกคนไม่ดีลูกก็จะถูกทำร้ายอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว แต่จะดีขึ้นมาได้มาก ก็ต่อเมื่อมีปู่ย่าตายายคอยเป็นหูเป็นตากำกับให้..จะได้ดูแลลูกให้ดี

ดังนั้น เมื่อวางใจเท่าปู่ย่าตายายดูแลหลาน ภาพที่เห็น คือ ปู่ย่าตายายหลายคนเอ็นดูหลานมากกว่าที่ลูกซะอีก ในขณะที่ก็มีเรื่องของความเชื่อและความรู้บางอย่างที่อาจไม่ตรงกัน
เช่น..
ทุกครั้งที่ลูกร้องพ่อแม่อาจจะไม่อุ้มทุกครั้ง เพราะเชื่อว่าถ้าอุ้มมากไป เด็กจะติด พอติดมาก ๆ ปุ๊บ ที่นี้ พ่อแม่ก็ไม่ต้องทำอะไรกันพอดี พ่อแม่จึงเห็นสมควรว่าต้องสอนให้ลูกรู้จักการรอบ้าง
แต่กับปู่ย่าตายายแล้ว..ไม่ได้เลยทีเดียว พอหลานร้องปุ๊บ ก็กลัวหลานขาดความอบอุ่นแล้ว ร้องนิดก็อุ้ม ร้องหน่อยก็อุ้ม ร้องแอ๊ะก็กอดทุกที
เมื่อต่างฝ่ายมีความเชื่อแตกต่างกัน ทำให้ไม่เข้าใจกัน วิกฤตการณ์ย่อม ๆ ก็เกิดขึ้นภายในบ้าน..อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในหลาย ๆ บ้าน
หรืออย่าง..
ปู่ย่าตายายชอบพาหลานดูละครโทรทัศน์น้ำเน่าเร้ากิเลส แต่พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกดู
และอีกมากมายหลายเรื่อง..รวมถึงเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง

ทางเลือกก็คงมีไม่มาก..
เรื่องลูกร้อง ก็คงต้องการพูดคุยโดยใช้หลัก "ใจเขาใจเรา" ว่า ต่างฝ่ายต่างก็รักลูกรักหลานด้วยกันทั้งนั้น จึงควรมาปรับแนวความคิดและวิธีการเลี้ยงลูก ดูแลหลานร่วมกันบ่อย ๆ ก็อาจจะดีขึ้นได้บ้าง..แต่ก็อย่าคาดหวังแบบเล็งผลเลิศนะ
ถ้าลูกอยู่กับพ่อแม่ ก็เลี้ยงในวิถีของตนเอง
ถ้าหลานอยู่กับปู่ย่าตายาย ก็เคารพในวิถีการเลี้ยงหลานของปู่ย่าตายาย
ต้องทำความเข้าใจกับลูกว่า..
ทำอย่างนี้กับปู่ย่าตายายได้ แต่ทำกับพ่อแม่ไม่ได้ ขออย่างนี้ปู่ย่าตายายให้ แต่พ่อแม่ไม่ให้ คือ พ่อแม่ต้องมีจุดยืนของการตัดสินใจที่มั่นคง ไม่โลเล จนทำให้ลูกสับสน

ส่วนเรื่องโทรทัศน์..ก็คงมีทางออก ซัก 3 ทาง
หนึ่ง..บอกปู่ย่าตายายตรง ๆ ว่าข้อเสียของการดูโทรทัศน์ที่มีต่อเด็กนั้นมันมีข้อเสียมากมายและซีเรียสอย่างไรบ้าง แล้วขอร้องว่าถ้าหลานอยู่ด้วย ต้องปิดโทรทัศน์ ถ้าพูดกันดี ๆ อย่างอ่อนน้อมก็อาจจะบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น แต่ถ้าบอกว่านี่เป็นกติกาของบ้านนะ..ห้ามเด็ดขาด อย่างนี้บ้านแตกเอาได้ง่าย ๆ เพราะปู่ยาตายายมักเป็นคนที่ยึดยุค ติดสมัยว่าลูกจะมาชี้นำ ตำหนิพ่อแม่ไม่ได้
สอง..ซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ให้เลย คิดซะว่าเสียเงินซื้อโทรทัศน์ไปเท่าไร แต่ก็ยังน้อยกว่าการเสียเงินมารักษาสมองของลูกในภายหลัง
สาม.. ถ้าปู่ย่าตายายใช้ความเป็นพ่อแม่มาอ้าง แล้วลูกต้องฟังว่ายังยืนยันที่จะดูทีวีตรงนั้น..ใครจะทำไม อย่างนี้ก็พาหลานก็ออกไปที่อื่นซะ
นี่แค่เรื่องเบา ๆ ที่เกิดขึ้น..ยังมีเรื่องใหญ่ ๆ อีกแยะ..ก็ต้องแก้กันเป็นรายกรณี

แม่สอนลูกจึงรู้ แม่ทำให้ดูลูกจึงเห็น ลูกจึงทำเป็นดั่งคำแม่สอน
รักแม่เป็นที่สุด

ความคิดเห็น