ข้อเสียของการสอนให้ลูกเชื่อฟังอย่างเดียว !!
โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เนตคนเป็นพ่อแม่มักจะชื่นชมและชื่นชอบลูกในเวลาที่เชื่อฟัง หรือปฏิบัติตามที่พ่อแม่ต้องการ แล้วก็จะบอกว่าลูกเราเป็นเด็กดี เป็นเด็กว่าง่าย เลี้ยงง่าย
ในทางตรงข้ามถ้าลูกไม่เชื่อฟัง ให้ทำอะไรถ้าไม่ยอมทำ หรือพูดอะไรมักจะเถียง หรือไม่ฟังพ่อแม่ ก็มักทำให้พ่อแม่หัวเสีย และลงท้ายต่อว่าลูกว่าเป็นเด็กดื้อ เลี้ยงยาก ยิ่งถ้ามีลูกสองคนแล้วมีนิสัยตรงข้ามกันอย่างนี้ ลูกคนที่เชื่อฟัง ก็มักจะเป็นลูกคนโปรด
และความคิดเหล่านี้ก็ไม่ใช่เฉพาะพ่อแม่ลูกเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ในสังคมทุกระดับก็มักจะชื่นชอบเด็กในทุกระดับที่เชื่อฟังเช่นกัน
เราต้องยอมรับว่าค่านิยม และทัศนคติในการเลี้ยงดูลูกในบ้านเรา ยังคงเป็นเรื่องที่ถูกบ่มเพาะกันรุ่นแล้วรุ่นเล่าสอนให้ลูกเชื่อฟังพ่อแม่ บางคนถึงขนาดสอนให้เชื่อโดยปราศจากเงื่อนไข ด้วยความคิดที่ว่าเพราะพ่อแม่รักลูก สิ่งที่ทำล้วนแล้วแต่ปรารถนาดีต่อลูกทั้งสิ้น
ทั้งที่ในความเป็นจริง สิ่งที่เชื่อฟังพ่อแม่มาโดยตลอด แท้จริงแล้ว วันหนึ่งอาจกลายเป็นดาบสองคมในการย้อนกลับมาทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว..!!
และด้วยระบบที่เด็กถูกสอนให้เชื่อพ่อแม่ พอเข้าสู่รั้วโรงเรียนก็ถูกหล่อหลอมให้เชื่อคุณครู และเมื่อเขาเติบโตเข้าสู่สังคม ก็ถูกสอนให้เชื่อผู้นำในองค์กร ในชุมชน ในหน่วยงาน องค์กรนั้นๆ เรียกง่ายๆ ก็คือ เด็กๆ ในบ้านเราส่วนใหญ่เติบโตมาในสังคมที่ถูกบ่มเพาะให้เชื่อผู้นำ
ผลที่ตามมาก็คือ
หนึ่ง เด็กไม่เป็นผู้นำ ชอบเป็นผู้ตามมากกว่า ชอบเดินตามกรอบที่ผู้ใหญ่ขีดเส้นทางไว้ให้ ดังประโยคที่เรามักได้ยินบ่อยๆ ว่า "เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด" โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาเมื่อพวกเขาเหล่านั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่
สอง เด็กไม่กล้าแสดงออก เพราะขาดความมั่นใจในตนเอง เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองมักจะเป็นคนคิด คนทำให้เป็นส่วนใหญ่ จึงไม่กล้าแสดงความคิดเห็นใดๆ ออกมา
สาม เด็กไม่กล้าปฏิเสธ เมื่อประสบปัญหาก็ไม่กล้า ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ และปัญหาเรื่องเพศก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งเช่นกัน เพราะเด็กปฏิเสธไม่เป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กสาวเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น อาจประสบปัญหาเมื่อแฟนขอมีเพศสัมพันธ์ ก็ไม่กล้าปฏิเสธ ขาดทักษะที่จะปฏิเสธ ไม่รู้จะจัดการอย่างไร จนนำไปสู่ความเลยเถิด ซึ่งทำให้เกิดสภาพปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อม และโรคภัยต่างๆ ที่มากับการมีเพศสัมพันธ์
แท้จริงแล้ว พ่อแม่ ผู้ปกครองควรสอนให้ลูกรู้จักการ "ปฏิเสธเป็น" ตั้งแต่เด็ก แต่เป็นการปฏิเสธแบบมีเหตุมีผลค่ะ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น