เพลงของโมสาร์ทพัฒนาเซลล์สมองให้เด็ก โดย DMH Staffs.

 เพลงของโมสาร์ทพัฒนาเซลล์สมองให้เด็ก


โดย DMH Staffs.

หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๘ นำเสนอเรื่อง โมสาร์ท เอฟเฟ็กต์ พัฒนาการเซลล์สมอง สร้างสรรค์มุมคิดคณิตศาสตร์ ว่า บทเพลงของโวล์ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ท ( Wolfgang Amadeus Mozart ) นักประพันธ์ชาวออสเตรีย เป็นต้นแบบงานวิจัยด้านคณิตศาสตร์และแพทยศาสตร์ ในส่วนของคณิตศาสตร์ Rachel Thomas กล่าวใน Music to their ears ว่า นักวิทยาศาสตร์หลายรุ่นได้ ศึกษาความสัมพันธ์ทางดนตรีกับสัดส่วนของสมอง ที่เรียกว่า โมสาร์ท เอฟเฟ็กต์ ( Mozart effect ) พบว่า เพลงของโมสาร์ทช่วยให้เด็กนักเรียนมีสมาธิกับการเรียนที่ดีขึ้น

ซึ่งอาจารย์ในโรงเรียนประถมของประเทศอังกฤษ Windhill Primary School in Southern Yorkshire ได้พิสูจน์ว่า ดนตรีของศิลปินดังสามารถทำให้เกิดสมาธิในการเรียนได้จริง จึงมีการนำเพลงของโมสาร์ท รวมถึงเพลงของโชแปง บิโธเฟ่น และบราห์มส์ ใส่น้ำเสียงของนักร้องดังหลายคนไปทดสอบในหลักสูตรนักเรียนการบิน พบว่า บทเพลงของโมสาร์ทเหมาะสำหรับเด็กที่เรียนคณิตศาสตร์อย่างมาก เนื่องจากรูปแบบตัวโน้ตที่ซับซ้อน ได้ล่องลอยไปกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวกับการคิดคำนวณในแบบที่ดนตรีชนิดอื่นไม่สามารถทำได้

ซึ่งในปี ค.ศ. ๑๙๙๓ เริ่มศึกษา ผลกระทบของดนตรีโมสาร์ท ต่อสุขภาพ โดย ดร.กอร์ดอน ชอว์ ( Dr.Gordon Shaw ) และ ดร.ฟรานเซส เราสเชอร์( Dr.Frances Rauscher ) นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ( University of California ) พบว่า ดนตรีของโมสาร์ทมีส่วนช่วยให้ความสามารถในเชิงตรรกะ และความจำของมนุษย์ดีขึ้น ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของทารกและลูกน้อย โดยเฉพาะการเสริมสร้างเหตุผล และความจำ

ดอน แคมป์เบล นักดนตรีและอาจารย์ชาวอเมริกัน ได้เขียนหนังสือชื่อ เดอะ โมสาร์ท เอฟเฟ็กต์ ( The Mozart Effect ) ปี ๑๙๙๗ พร้อมกับนำเพลงของ โมสาร์ทเป็นชุดซีดี ชื่อ มิวสิค ฟอร์ เดอะ โมสาร์ท เอฟเฟ็กต์ ( Music for The Mozart Effect ) บอกว่า พ่อแม่ควรใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือบำบัด และส่งเสริมพัฒนาการของลูกอายุต่ำกว่า ๓ ปี การจะรับพลังของดนตรี ต้องกระทำอย่างมีแบบแผน และช่วงเวลาที่เหมาะสมของการรับรู้ สิ่งที่ค้นหาจากดนตรี คือ รูปแบบ ท่อนเพลงซ้ำๆ ความหลากหลาย ความชัดเจน และอื่นใดต้องไม่รับดนตรีมากเกินไป และแนะนำว่า ควรหาโอกาสร้องเพลงในกิจกรรมประจำวัน




นอกเหนือจากบทความดังกล่าวนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยกระทรวงสาธารณสุขเอง ก็ได้มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาสมองของเด็ก ได้ถือให้เป็นนโยบายเร่งด่วนอันหนึ่งในการผลักดัน ไอคิวและอีคิว ให้เป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาสมองของเด็กไทย

โดยเฉพาะในวัยแรกเกิดเป็นต้นมาเพื่อเพิ่มทักษะทางเชาวน์ปัญญา จึงได้ผลิตแผ่นซีดีเพลงขึ้นมา โดยยึดแนวเพลงของโมสาร์ทที่ชื่อว่า "Piano Sonata for Two Piano" หรือที่มักจะเรียกกันทั่วๆไปสั้นๆว่า "K448" ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเพลงนี้มีผลต่อการพัฒนาสมองของเด็กเป็นอย่างมาก ดังนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้แนวคิดดังกล่าวมาผลิตแผ่นซีดีเพลง โดยประยุกต์ให้เป็นแนวดนตรีตามแบบพื้นบ้าน 4 ภาคของประทศไทย

แต่อย่างไรก็ดี โดยพื้นฐานทำนองดนตรีแล้วก็ยึดหลักให้คล้ายๆกับเพลงต้นฉบับของโมสาร์ทที่ว่านี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลดังที่มีผู้รู้ได้กล่าวอ้างไว้ โดยซีดีเพลงดังกล่าวได้บรรจุไว้กับ ถุงของขวัญที่แจกให้เด็กแรกเกิดทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นมา เพื่อให้คุณแม่มือใหม่ทั้งหลายทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตชนบทที่ห่างไกลได้มีอุปกรณ์สำหรับช่วยเลี้ยงดูบุตรหลานของท่านเหล่านั้นได้เจริญเติบโตมาให้มีระดับไอคิวที่สูงขึ้นได้

กล่าวโดยสรุป แม้ว่าการแจกถุงของขวัญของรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขจะมีข้อโต้แย้งบ้างบางประการ โดยเฉพาะอุปกรณ์การเล่นของเด็กนั้น แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทีมงานกรมสุขภาพจิตมั่นใจว่าเด็กที่เกิดในวันดังกล่าว จะได้รับสิ่งที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาสมองของเด็ก นั่นก็คือ ได้รับแจกซีดีเพลงกล่อมเด็กนั้น มีคุณค่าต่อการพัฒนาสมองของเด็ก และส่งผลต่อการเพิ่มระดับเชาว์ปัญญา ถึงแม้ว่าเพลงที่ได้รับแจกไปนั้นจะไม่เหมือนกับต้นฉบับจริงที่มีการพิสูนจ์ทางวิทยาศาสตร์มาแล้วก็ตาม ท่านผู้อ่านท่านใดที่สนใจต้องการเพลงของจริงแท้ต้นตำรับของโมสาร์ท ก็สามารถหาซื้อมาได้จากร้านขายซีดีเพลงคลากสิคค่ะ


ผู้แต่ง: เรียบเรียงโดย DMH Staffs. - dmhstaff@dmhthai.com - 29/8/2005

ความคิดเห็น