Mozart effect เรื่องจริงหรือแค่อิงวิจัยby รามาชาแนล(RamaChannel)สัปดาห์ก่อน อาจารย์ได้รับโทรศัพท์จากคุณแม่มือใหม่ถามว่า ถ้าให้ลูกฟังเพลงโมสาร์ทตั้งแต่อยู่ในท้อง
จะทำให้ลูกเกิดมามี IQ และ EQ ที่ดีจริงหรือไม่และจำเป็นหรือไม่
“หมอรามาฯ ไขปัญหาสุขภาพ” สัปดาห์นี้จะขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับ Mozart effect ว่าต้นตอของความคิดนี้
เกิดขึ้นได้อย่างไร จริงๆแล้วจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อปี 1993 เมื่อ Rausher, Shaw และ Ky
ได้ทำการวิจัยโดยให้นักศึกษามหาวิทยาลัยฟังเพลงโมสาร์ทโซนาต้า เป็นเวลา 10 นาที แล้ว
ไปทำแบบทดสอบของ Standford-Binet Intelligence Scale ในส่วนของการหาค่าเหตุผล
ปรากฏว่า นักศึกษาทำแบบทดสอบได้คะแนนดีมาก หลังจากนั้นก็มีการทำการวิจัยซ้ำ
โดยใช้วิธีการเดิม ใช้แบบทดสอบเดิม เพียงแต่เปลี่ยนให้ไปทดสอบในส่วนที่เป็นการวิเคราะห์แทน
ซึ่งก็ได้ผลอย่างเดียวกัน
ถึงแม้ว่าประสิทธิภาพของการเรียนรู้ยังเป็นเรื่องที่เป็นข้อสงสัย อีกทั้งระยะเวลาในการฟังก็ใช้เพียง10 นาที
แต่เพราะผลการวิจัยทำให้เกิดกระแสเพลงโมสาร์ทโซนาต้าโด่งดังไปทั่ว จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
มีการนำผลการวิจัยไปเชื่อมโยงกับความเป็นไปได้ของการพัฒนาทางสมองของเด็ก โดยเชื่อว่า
ถ้าได้ฟังเพลงโมสาร์ทตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา ลูกที่เกิดมาจะมีพัฒนาการทางสมองดีกว่าเด็กคนอื่นๆ
จนกระทั่งผู้ว่าการรัฐจอร์เจียของสหรัฐอเมริกาถึงกับผลิตแผ่นซีดีออกมาแจกคุณแม่ที่เพิ่งตั้งท้องใหม่ๆ
และผู้ประกอบการหัวใสก็ผลิตแผ่นซีดีที่บรรจุเพลงโมสาร์ทออกวางตามท้องตลาด อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
ในปีต่อๆมา นักวิจัยได้มีการทำวิจัยซ้ำที่เกี่ยวกับ Mozart effect กับการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งกลับได้ผล
ในทางตรงกันข้าม หลายๆงานวิจัยแสดงความล้มเหลวของงานวิจัยดั้งเดิม ว่าผลที่ได้ไม่สามารถใช้ได้จริงๆ
เด็กที่ฟังโมสาร์ทไม่ได้มีพัฒนาการทางสมองที่แตกต่างจากเด็กทั่วไป จนประทั่งในปี 1998 Rauscher
และ Shaw ถึงขนาดออกมาพูดถึงความล้มเหลวในการทำวิจัยซ้ำว่า งานวิจัยนั้นต้องทำภายใต้เงื่อนไข
(ที่เป็นรายละเอียด) อย่างชัดเจนเท่านั้น ซึ่งในปี 1999 Steele ได้มีการทำงานวิจัยซ้ำภายใต้เงื่อนไข
ที่ Rauscher และ Shaw กำหนด แต่ผลที่ได้ก็ยังคงล้มเหลวเช่นเดิม
จะเห็นได้ว่า ผลงานวิจัยที่ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วยังแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลว พร้อมกับข้อกังขาในประสิทธิภาพของเพลงโมสาร์ทที่เกี่ยวกับพัฒนาการทางสมองที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ก็ยังไม่สามารถหักล้างความคิด(และการประโคมโฆษณาจากสื่อต่างๆ)ที่ชักชวนให้คุณพ่อคุณแม่ไปซื้อมาฟังเล่นๆด้วยความหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าจะช่วยพัฒนาลูกในครรภ์ได้ตั้งแต่ก่อนคลอด และถึงแม้ว่าจะมองได้ว่า Mozart effect ที่เคยได้ผลครั้งแรกนั้น จริงๆแล้วก็เป็นแค่ความบังเอิญ ความจริงก็คือ เราไม่อาจทราบได้ว่างานวิจัยดั้งเดิมนั้นอาจจะไม่ได้แสดงเงื่อนไขที่สำคัญบางอย่างที่จำเป็น เพื่อให้ได้ผลลัพท์นั้นก็เป็นไปได้ หรือไม่ก็ จริงๆแล้วงานวิจัยดั้งเดิมนั้นไม่ได้มีความต้องการจะเชื่อมโยงผลกับการพัฒนาสมรรถภาพทางสมองของเด็กตั้งแต่แรกก็เป็นไปได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามที่ตามมาคือ เสียงดนตรีมีผลอะไรกับเด็กทารกบ้างหรือไม่ เพราะจะเห็นได้ว่า
มีเด็กจำนวนมาก สามารถโยกย้ายส่ายตัวตามทำนองและจังหวะของดนตรี หรือแม้กระทั่งพบว่า
เด็กทารกเมื่อได้ยินเสียงเพลงก็มีอาการ ที่คุณแม่ส่วนใหญ่เรียกว่า "อารมณ์ดี"
จริงๆแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเท่าไรนัก เพราะผลการวิจัยจาก Brown University
ได้กล่าวไว้ว่า เด็กทารกที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป สามารถแยกระดับเสียง ทำนอง หรือแม้กระทั่งความไพเราะ
ของบทเพลงได้ เด็กบางคนถึงขนาดร้องไห้เมื่อได้ฟังเพลงที่ใช้ประกอบในพิธีการส่งศพด้วยซ้ำ
แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ การที่นักประสาทวิทยาจาก University of California, Irvine
ได้กล่าวในงานวิจัยว่า การที่เด็กเล่นดนตรี คือเล่นเป็นเพลง ไม่ใช่แค่ฟังเพลง จะทำให้เซลล์สมอง
มีการเคลื่อนไหว โดยทีมนักวิจัยได้ทดสอบเด็กอายุ 3-5 ขวบที่มีการเรียนเปียโนมาอย่างน้อย 6 เดือน
เปรียบเทียบกับเด็กที่เรียนร้องเพลง เรียนคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งไม่ได้เรียนอะไรเลย
ได้ผลว่า เด็กกลุ่มแรกมีความสามารถในด้านตรรกะเชิงสัญลักษณ์ (ที่เป็นพื้นฐานของวิชาวิศวกรรมและ
คณิตศาสตร์)มากกว่ากลุ่มอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งผลงานวิจัยนี้ยังแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เมื่อนำไปใช้กับเด็กโต ซึ่งเมื่องานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ก็พบว่า ที่รัฐแคลิฟอร์เนียมีการส่งเสริมการเรียนเปียโน
อาทิตย์ละ 2 ครั้ง ให้กับเด็กชั้นประถม 2 ที่มีภาวะเสี่ยง (ที่จะเรียนไม่ไหว)และมีฐานะยากจน
ปรากฎว่าเด็กเหล่านี้สามารถทำโจทย์คณิตศาสตร์สำหรับเด็กประถม 4 ได้ดีกว่าเด็กประถม 4 อีกเป็นเท่าตัว
ดังนั้น เราอาจต้องทำการวิจัยเรื่อง Mozart effect นี้อีกหลายต่อหลายครั้ง จนกว่าจะรู้ได้อย่างแน่ชัดว่า
โมสาร์ทมีส่วนช่วยในพัฒนาการทางสมองได้จริงหรือไม่ และจำเป็นหรือไม่สำหรับคุณแม่
แต่ตอนนี้ คุณแม่หลายท่านคงคิดว่า ฟังไปก็คงไม่เสียหายอะไร ใช่ไหมคะ?
บทความโดย ดร.ปรียาสิริ มานะสันต์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมาย
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
วิทยากรรับเชิญประจำรายการ Rama Kid D Live
ช่อง รามาแชนแนล
www.ramachannel.tv
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น