ภัยร้ายใน ร.ร.อนุบาลจีนPosted by: Mother&Care July 17, 2014เมื่อช่วงเดือนมีนาคม เกิดข่าวสะท้านสะเทือนแวดวงการศึกษาระดับปฐมวัยในประเทศจีนขึ้น นั่นคือมีการตรวจพบว่าโรงเรียนอนุบาลหลายโรงเรียนในหลายพื้นที่ของประเทศ ป้อนยาต้านไวรัสให้กับเด็กเป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายปีโดยที่ไม่มีการแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ จนสุดท้ายเรื่องมาเปิดเผยเมื่อผู้ปกครองสังเกตพบว่าบุตรของตนมีอาการเจ็บป่วย ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นผลข้างเคียงจากยาต้านไวรัสที่กินเป็นเวลานาน
ข่าวดังกล่าวส่งผลอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อโรงเรียนอนุบาล ผู้ปกครองส่วนใหญ่โกรธแค้น ไม่พอใจและต้องการให้โรงเรียนแสดงความรับผิดชอบ ด้านคณะ-กรรมการวางแผนครอบครัวและสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงศึกษาจีน ได้ออกคำสั่งด่วนให้มีการไต่สวนโรงเรียนอนุบาล ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นทั่วประเทศ เพื่อตรวจดูว่าเจ้าหน้าหรือครูได้จัดยาให้เด็กนักเรียนกินหรือไม่
ทั้งนี้ คำสั่งการตรวจสอบโรงเรียนฯ ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากมีรายงานข่าวแฉโรงเรียนอนุบาลในมณฑลส่านซี และจี๋หลิน จัดยาต้านไวรัสให้เด็กกินโดยที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่รู้และไม่มีการแจ้งฯ เพื่อขอความยินยอม โดยรายงานข่าวฯ ระบุถึงเหตุที่โรงเรียนให้เด็กกินยาโดยไม่แจ้งผู้ปกครองว่า ต้องการให้เด็กกินยาเพื่อป้องกันโรคติดต่อหลายๆ โรคที่มักเกิดขึ้นในโรงเรียนอนุบาล ทั้งโรคหวัดและโรคที่เกิดจากไวรัสอื่นๆ
เจ้าหน้าที่ตำรวจเผยว่าโรงเรียนอนุบาลสองแห่งในเมืองซีอัน มณฑลส่านซี ได้จัดให้เด็กกินยามานาน 5 ปีแล้ว โดยผู้ปกครองกว่า 500 คน ในเมืองซีอันบอกว่า ลูกๆ ของพวกเขามีอาหารปวดหัว ปวดตามร่างกาย คัน และเบื่ออาหาร ฯลฯ ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการจับกุมเจ้าหน้าที่โรงเรียน 5 คน รวมทั้งครูใหญ่ของโรงเรียนทั้งสองแห่งที่เมืองซีอัน ในฐานะผู้ต้องสงสัยจัดยาให้เด็กกินโดยผิดกฎหมาย
ขณะที่สาธารณสุขมณฑลจี๋หลิน จัดให้เด็กนักเรียนอนุบาลจำนวน 167 คน จาก 4 โรงเรียนอนุบาลในจี๋หลินเข้ารับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล พบว่า 4 รายมีน้ำขังในกระดูกเชิงกราน 1 รายไตโตผิดปกติ และอีก 6 รายมีระดับเอนไซม?กล?ามเนื้อหัวใจ (Cardiac Enzyme) ผิดปกติซึ่งต้องได้รับการวินิจฉัยเชิงลึกต่อไป
ในใบประกาศของหน่วยงานรัฐ ได้ประณามโรงเรียนอนุบาลเหล่านี้ว่ากระทำการอันละเมิดกฎหมายอย่างร้ายแรงและ “ส่งผลกระทบเสียหายต่อสังคมอย่างมาก” เจ้าหน้าที่โรงเรียนสามารถจัดยาให้เด็กกินได้ในบางสถานการณ์ที่จำเป็น แต่จะต้องยึดถือหลักแนะแนวอย่างเคร่งครัด ทั้งยังต้องมีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหรือแพทย์ก่อน และได้รับใบรับรองจากหน่วยงานด้านการศึกษาและสาธารณสุขระดับสูงกว่าระดับอำเภอ/เขต
ทั้งนี้ จุดใหญ่ใจความที่ผู้ปกครองรับไม่ได้ รวมทั้งเหตุที่หน่วยงานรัฐออกมาประณามว่าเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบเสียหายต่อสังคมอย่างมาก เป็นเพราะเป้าประสงค์ของการให้เด็กอนุบาลกินยานั้นมีวาระซ่อนเร้น ที่บอกว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กนักเรียนป่วยแล้วขาดเรียนหรือลาหยุด เพราะจำนวนนักเรียนที่มาโรงเรียนเกี่ยวพันโดยตรงกับรายได้ของโรงเรียน ที่กล่าวเช่นนี้ เนื่องจากในหลายโรงเรียนอนุบาลของจีน มีกฎว่าผู้ปกครองต้องจ่ายเงินประกันการศึกษาให้กับโรงเรียนอนุบาล แต่หากเด็กๆ ลาหยุดเป็นระยะเวลาตามที่กำหนด ผู้ปกครองสามารถงดเว้นการจ่ายเงินประกันให้โรงเรียนได้ในช่วงเวลาดังกล่าว และบางโรงเรียนผู้ปกครองจะได้เงินประกันคืนอีกด้วย ซึ่งทางโรงเรียนไม่ต้องการจะเสียเงินส่วนนี้ จึงมีนโยบายให้ครูประจำชั้นดูแลให้เด็กนักเรียนลาป่วยลาหยุดให้น้อยที่สุด ซึ่งเป็นที่มาของมาตรการให้เด็กกินยากันการป่วยไว้ก่อน จนเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงตามมา
อี๋ว์ เฟิง รองคณะบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเภสัชกรรมแห่งชาติจีน ได้ให้ความเห็นว่า ร่างกายของเด็กยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ จึงต้องระมัดระวังในการใช้ยามากกว่าผู้ใหญ่ อัตราเฉลี่ยของผลข้างเคียงหรือผลทางลบจากการใช้ยาก็มากกว่า นอกจากนั้นหากพูดถึงจรรยาบรรณทางด้านวิชาชีพเภสัชกรรม ในทุกกรณีการทดสอบยาในเด็กเป็นเรื่องผิด ดังนั้นการที่โรงเรียนอนุบาลบางแห่งให้เด็กกินยาต้านไวรัสเป็นระยะเวลาติดต่อกันยาวนาน อาจจะส่งผลทางลบต่อร่างกายเด็กอย่างยากที่จะคาดคะเนได้
การส่งบุตรหลานไปอยู่ในโรงเรียนอนุบาล แน่นอนว่าผู้ปกครองไม่สามารถตามไปดูแลได้ตลอดเวลา เช่นนั้นจะป้องกันปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า โรงเรียนอนุบาลในไต้หวัน มีมาตรการที่ออกมาเพื่อให้ผู้ปกครองวางใจว่าทางโรงเรียนจะไม่ให้เด็กกินยาพร่ำเพรื่อ โดยการให้ผู้ปกครองแสดงเจตจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรกับฝ่ายกฎหมายของโรงเรียน หากต้องการให้ทางโรงเรียนป้อนยาเด็กแทน ในระหว่างที่เด็กมาโรงเรียน
เจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการไต้หวันรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ตามปกติโรงเรียนไม่มีสิทธิ์ป้อนยาเด็กหากไม่ใช่กรณีเร่งด่วน ยกเว้นว่ามีใบมอบอำนาจจากผู้ปกครอง ซึ่งหากโรงเรียนใดฝ่าฝืน จะมีโทษปรับราว 3,000 – 30,000 ดอลลาร์ไต้หวัน
โดยในรายละเอียดของใบมอบอำนาจดังกล่าว ระบุว่ายาต้องเป็นยาที่ผู้ปกครองนำมาเองและสั่งโดยแพทย์ที่ได้มาตรฐานเท่านั้น นอกจากนั้นยังต้องระบุเวลาใช้ยา ระบุว่าเป็นยาใช้ภายในหรือใช้ภายนอก แพ้ยาอะไรบ้าง ซึ่งหากในใบมอบอำนาจมีข้อมูลไม่ละเอียดครบถ้วน ทางโรงเรียนมีสิทธิ์ที่จะไม่ป้อนยาให้นักเรียน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการไต้หวันเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครองได้
นอกจากนี้ ฟั่น เซียนโย่ว ศาสตราจารย์ประจำคณะวิทยาการศึกษา มหาวิทยาลัยครูหัวจง มณฑลเหอเป่ย ประเทศจีน ยังเน้นย้ำว่า ปัจจุบันนี้ จำนวนโรงเรียนอนุบาลที่ดำเนินการโดยเอกชนนั้นเพิ่มจำนวนมากกว่าในอดีตมาก การควบคุมดูแลอาจยังไม่ทั่วถึงและเข้มงวดพอ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทางการที่จะมีมาตรการควบคุมดูแลโรงเรียนอนุบาลเอกชนให้ได้มาตรฐาน แก้ปัญหานี้ให้ได้โดยเร็ว เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ
* กลุ่มผู้ปกครองเมืองซีอันแสดงความโกรธแค้นที่ทราบว่าโรงเรียนจัดยาให้บุตรหลานของตนกินมาเป็นเวลา 5 ปี ขณะเข้าร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลังเกิดเหตุการณ์
ดวงพร วงศ์ชูเครือ : อดีตเด็กสาขาหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คลุกคลีกับข่าวนิตยสารตั้งแต่เรียนจบ จนกระทั่งแว่บไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่งพักใหญ่ ก่อนที่จะสั่งสมเรื่องราวเกี่ยวกับจีนกลับมาถ่ายทอดเป็นงานเขียนผ่านคอลัมน์นี้
* วริษฐ์ ลิ้มทองกุล และดวงพร วงศ์ชูเครือ สองหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไฟแรง ที่เลือกแนวทางการศึกษาทางตะวันออก ด้วยการศึกษาต่อที่ประเทศจีน จะมาสลับกันเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจที่ประสบพบเจอเกี่ยวกับครอบครัวชาวจีน มาฝากผ่านคอลัมน์นี้ค่ะ
Text ดวงพร วงศ์ชูเครือ
______________________________
แหล่งที่มา Mother&Care Magazine, มาเธอร์แอนด์แคร์ คู่มือเลี้ยงลูก เพื่อ คุณแม่สมัยใหม่ ตั้งแต่ ตั้งครรภ์ จนถึงลูกอายุ 9 ปี ติดตามอ่านฉบับเต็มแบบออนไลน์ได้ที่ Mother&Care e-Magazine หรือ ติดตามที่ Community Club คุณแม่ Facebook Mother&Care ที่รวมเรื่องราวเรื่องน่ารู้ สำหรับคุณแม่มือใหม่คะ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น