แม่ไทย.. เล่าเรื่องอนุบาลในญี่ปุ่น จากนิตยสาร Mother&Care ฉบับ กย. และ ตค. 2557

แม่ไทย.. เล่าเรื่องอนุบาล ในญี่ปุ่น

แม่ไทย.. เล่าเรื่องอนุบาล ในญี่ปุ่น จากนิตยสาร Mother&Care ฉบับ กย. 2557



อนุบาลในญี่ปุ่น (ตอนที่ 1)

แม่แจน –  เป็นคุณแม่ที่คุ้นเคยกับ Mother&Care เป็นอย่างดี เป็นหนึ่งในคุณแม่ตัวอย่างของการให้นมแม่ได้อย่างประสบความสำเร็จ วันนี้ลูกชายแม่แจน น้องต้นหนาวอายุ 5 ปี 9 เดือนแล้ว และได้ตามคุณพ่อ (คุณยงยศ แก้วพิทักษ์คุณ) ซึ่งได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นแม่แจนและลูกที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น จึงมีเรื่องโรงเรียนอนุบาลที่ญี่ปุ่น มาเล่าให้ชาว Mother&Care อ่านกันค่ะ


อนุบาลในฝัน

หากพูดถึงประเทศญี่ปุ่นแล้ว เราคงนึกถึงความมีวินัยของคนญี่ปุ่นเป็นอันดับต้นๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะครอบครัวและการศึกษาในระดับปฐมวัย มีส่วนสำคัญอย่างมากในการหล่อหลอมบุคลิกลักษณะของคนในสังคม เชื่อแน่ว่าหากได้เข้ามาสัมผัสกับโรงเรียนอนุบาลญี่ปุ่นแล้ว หลายๆ คนคงบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นโรงเรียนในฝันเลยทีเดียว

โรงเรียนอนุบาลที่นี่มีมาตรฐานใกล้เคียงกันมาก เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องแย่งกันเข้าโรงเรียนดังๆ และส่วนใหญ่คุณพ่อคุณแม่จะให้ลูกเข้าเรียนใกล้บ้าน เพื่อสะดวกในการเดินทาง ส่วนเด็กๆ ก็ไม่เหนื่อย ดังนั้นในตอนเช้าอาจจะเห็นภาพน่ารักๆ ที่คุณแม่เดินจูงลูกมาส่งที่โรงเรียนด้วยตัวเอง ใครอยู่ไกลขึ้นหน่อยก็จะขับรถไปส่งลูกด้วยตัวเอง เพราะคุณแม่ส่วนใหญ่ไม่ต้องทำงานนอกบ้าน
สำหรับเด็กๆ ที่ต้องขึ้นรถโรงเรียน ทางโรงเรียนจะมีรถโรงเรียนบริการให้ฟรีค่ะ

ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะตัดสินใจว่าให้ลูกเข้าเรียนที่ไหน ทางโรงเรียนจะมีวัน Open House ให้ผู้ปกครองและเด็กๆ เข้าไปดูกิจกรรมได้เดือนละ 1 วัน
โดยโรงเรียนที่นี่จะเปิดภาคเรียนในเดือนเมษายน คุณแม่จะพาลูกอายุเท่าไหร่ไปก็ได้ พาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวัยเข้าเรียนก็ได้
โดยทางโรงเรียนจะมีกิจกรรมเข้าจังหวะ มีการเล่นเปียโนแล้วคุณแม่กับลูกทำกิจกรรมวงกลมร่วมกัน ส่วนกิจกรรมนั้นจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละเดือนค่ะ บางเดือนก็ให้เด็กๆ มาร้องเพลงให้ฟังบ้าง เล่านิทานประกอบเพลงบ้าง โดยกิจกรรมที่นำมาแสดงเป็นกิจกรรมที่คุณครูใช้เล่นกับเด็กๆ ในห้องเรียนอยู่แล้ว เด็กๆ จึงได้แสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ และไม่ถูกปรุงแต่งใดๆ เป็นการฝึกเด็กให้กล้าแสดงออกอย่างถูกที่ถูกทาง


เรียนอนุบาล = สอนธรรมชาติให้เด็ก

การศึกษาในระดับอนุบาลของญี่ปุ่นไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ เพราะฉะนั้นเด็กๆ จะเรียนอนุบาลหรือไม่ก็ได้ จะเข้าเรียนตอน ป.1 เลยก็ได้ โดยโรงเรียนที่ต้นหนาวเข้าไปเรียนนั้น จะแบ่งห้องเรียนตามอายุของเด็ก มีตั้งแต่ห้องอายุ 2 ปี จนถึง 5 ปี ฉะนั้นก็ไม่ต้องรีบให้ลูกเข้าเรียนเกินวัยแบบโรงเรียนอนุบาลไทย และอนุบาลที่นี่ไม่ได้สอนวิชาการใดๆ ไม่ได้สอนอ่าน สอนเขียน แต่จะเป็นการทำกิจกรรม ซึ่งแน่นอนว่า ‘ไม่มีการบ้าน’ ไชโย้…

ซึ่งเรื่องหลักๆ ที่โรงเรียนปลูกฝังคือ ความมีระเบียบวินัย และการช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้น เช่น มีราวแขวนเสื้อที่มีรูปสติ๊กเกอร์สัตว์ต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ของเด็กแต่ละคน เด็กๆ ต้องจำรูปตัวเองเอาไว้ เมื่อถึงห้องเรียนก็นำเสื้อกันหนาวไปแขวนไว้ที่ของตนเอง นำของใช้ส่วนตัวไว้ในล็อคเกอร์ตนเอง เป็นต้น
ที่นี่เด็กๆ จะต้องนำของใช้ส่วนตัวไปเอง เช่น กล่องข้าวกลางวันที่ห่อมาจากที่บ้าน เด็กๆ จะนำไปใส่ไว้ตะกร้าที่เตรียมไว้ พอใกล้ถึงเวลาทางโรงเรียนจะนำไปอุ่นให้เด็กๆ / เตรียมถ้วยน้ำสำหรับดื่มน้ำและนมไปเอง และต้องเก็บเอง เป็นต้น (อ่านต่อฉบับหน้า)

_____________________________

แหล่งที่มา Mother&Care Magazine, มาเธอร์แอนด์แคร์ คู่มือเลี้ยงลูก เพื่อ คุณแม่สมัยใหม่ ตั้งแต่ ตั้งครรภ์ จนถึงลูกอายุ 9 ปี ติดตามอ่านฉบับเต็มแบบออนไลน์ได้ที่ Mother&Care e-Magazine หรือ ติดตามที่ Community Club คุณแม่ Facebook Mother&Care ที่รวมเรื่องราวเรื่องน่ารู้ สำหรับคุณแม่มือใหม่คะ

http://www.motherandcare.in.th/in-trend_3/


แม่ไทย.. เล่าเรื่องอนุบาล ในญี่ปุ่น (ตอนที่ 2)

แม่ไทย.. เล่าเรื่องอนุบาล ในญี่ปุ่น จากนิตยสาร Mother&care ฉบับ ตค. 2557

เล่น = เรียนรู้



คราวนี้มาถึงกิจกรรมในห้องเรียนกันบ้าง ถ้ายังไม่ถึงเวลา เด็กๆ จะเล่นอิสระภายในห้องเรียนตามมุมต่างๆ เช่น มุมเลโก้, มุมเครื่องครัว, มุมพับกระดาษ (origami), มุมปั้นแป้งโดว์, มุมนิทาน ฯลฯ เมื่อถึงเวลาเข้าเรียน (9.00 น) คุณครูจะชวนเด็กๆ ทำกิจกรรมร่วมกันสนุกๆ ต่างๆ และไม่เหมือนกันในแต่ละวัน ซึ่งมักเป็นกิจกรรมตามวัย กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญต่างๆ บางทีก็เป็นกิจกรรมที่ชุมชนใกล้โรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เช่น

- ไปเที่ยวสวนสัตว์ประจำเมือง
- วาดภาพจากรูปถ่ายที่ถ่ายจากสวนสัตว์
- ร้องเพลง/เล่นกิจกรรมเข้าจังหวะ คุณครูร้องเพลงเล่นเปียโน สอนกิจกรรมผ่านบทเพลง โดยเพลงจะสอนสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน เช่น สีต่างๆ ธรรมชาติ ความแข็งแรงของร่างกาย ฯลฯ



- เชิญผู้สูงอายุในชุมชมมาร่วมเล่นเกมผ่านบทเพลงกับเด็กๆ ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอื่นที่วัยต่างกัน
- เชิญผู้สูงอายุมาทำสวนกับเด็กๆ (ในเมืองที่เราอยู่มีผู้สูงอายุค่อนข้างมากและเป็นเมืองเกษตรกรรม คุณตาคุณยายแข็งแรงมากๆ เลยค่ะ)
- ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กห้องอื่นที่อายุต่างกัน
- เล่นสนามเด็กเล่นกลางแจ้ง มีคุณครูดูแล บางคนอาจจะเล่นเครื่องเล่นสนาม หรือวิ่งเล่นกันเองกับเพื่อนกับคุณครู ซึ่งบริเวณโรงเรียนที่ต้นหนาวเรียนอยู่นี้ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยทุ่งนา มีต้นซากุระตลอดแนว อากาศสดชื่นเหมาะกับการวิ่งเล่นกลางแจ้ง



- ทำกิจกรรมศิลปะที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญ มีการเชื่อมโยงให้เด็กๆ เกิดความสนใจ เช่น ในวันเด็กมีการเชิญคุณยายมามอบหนังสือนิทานที่เกี่ยวกับวันเด็กผู้ชาย แล้วคุณครูกับคุณยายช่วยกันเล่าให้เด็กๆ ฟัง แล้วให้เด็กๆ ตัดแปะกระดาษ ระบายสีต่างๆ ให้เป็นธงรูปปลา เป็นผลงานส่วนตัวและให้ทำเกล็ดปลาคนละ 1 ชิ้น โดยแต่ละเกล็ดนำมาประกอบรวมเป็นตัวปลาร่วมกันเพื่อนๆ ในชั้นเรียน
- มีกิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่เดือนละ 1 ครั้ง เช่น สวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับจักรวาล ฯลฯ
- มีกิจกรรมทัศนศึกษาร่วมกันครอบครัวปีละ 1 ครั้ง เป็นกิจกรรมที่พ่อแม่เข้าร่วมด้วย
- ทางโรงเรียนมักมีกิจกรรมที่คุณแม่ต้องเข้าร่วมด้วยและมักจะย้ำเสมอว่า คุณแม่ต้องไป เพื่อจะได้เห็นว่าตอนอยู่ในห้องเรียนลูกๆ เล่นอะไรกันบ้าง



1.ทางเดินไปโรงเรียนตามแนวต้นซากุระ
2.ทางเดินเข้าโรงเรียนในช่วงวันเด็ก ให้เด็กๆ ทำเกล็ดปลาคนละชิ้น เพื่อมาประดับบนตัวปลารวมกัน ที่ทางเดินภายในโรงเรียน ในกิจกรรมวันเด็กผู้ชาย
3.สนามเด็กเล่นของโรงเรียนที่มีอัตราส่วนพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่โรงเรียนทั้งหมด เด็กๆ จะได้วิ่งเล่นกลางแจ้งทุกวัน และเล่นหิมะกันที่นี่ในฤดูหนาว
4.สระว่ายน้ำที่เด็กๆ ได้เล่นน้ำทุกวันในฤดูร้อน
5.บรรยากาศห้องเรียน
6.ห้องครัวของโรงเรียน ให้ความสำคัญกับความสะอาดและโภชนาการตามวัยของเด็กๆเวลาในช่วงเช้าจะหมดไปกับกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากๆ เพื่อความแข็งแรงของร่างกาย กิจกรรมที่พัฒนากล้ามมือมัดเล็กมัดใหญ่ กิจกรรมปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้นและต่างวัย



เมื่อถึงเวลาอาหารกลางวัน ทางโรงเรียนจะจัดอาหารให้ แต่เด็กๆ ต้องเตรียมข้าวมาจากบ้านกันเอง และผู้ปกครองจะทราบว่าลูกกินอะไรเป็นอาหารกลางวัน เพราะจะมีรายการอาหารล่วงหน้าบอกไว้ก่อนอยู่แล้ว ซึ่งการกินอาหารกลางวันคุณครูจะจัดเด็กเป็นกลุ่มๆ หมุนเวียนกันช่วยกันหิ้วตะกร้าที่ใส่กล่องข้าวของเด็กๆ เอาไว้ไปส่งห้องครัว
พอถึงเวลาอาหารกลางวันทางโรงเรียนจะอุ่นกล่องข้าวให้ (กล่องข้าวเด็กๆ ควรจะเป็นอลูมิเนียมนะคะ) เมื่อทางโรงเรียนจัดการเสร็จแล้ว คุณครูจะให้เด็กอีกกลุ่มเป็นคนแจกกล่องข้าวและเสิร์ฟอาหารให้กับเพื่อนๆ เป็นการฝึกการช่วยเหลือผู้อื่นผ่านสิ่งที่ต้องทำทุกวัน เป็นการซึมซับจิตอาสาอีกทาง (จากที่มาอยู่ที่นี่จะเห็นว่าคนญี่ปุ่นมีจิตสาธารณะสูง คิดถึงส่วนรวมก่อนตัวเองเสมอ)



เมนูอาหารของทางโรงเรียนจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่จะทำเป็นหลักการว่าต้องครบหมู่ มีประโยชน์ สด สะอาด ในหนึ่งวันจะเสิร์ฟอาหาร 3 อย่าง คือ อาหารจานหลัก กลุ่มสลัด กลุ่มซุป หลังจากกินข้าวกลางวันกันอิ่มดีแล้ว ก็จะให้เด็กๆ พักผ่อน โดยคุณครูจะเล่านิทานให้ฟังก่อนนอน เมื่อตื่นขึ้นมาช่วงบ่ายก็จะกินของว่างร่วมกัน แล้วกลับบ้านประมาณ 15.30 น.



นอกเหนือจากการดูแลให้เด็กๆ แข็งแรงตามวัยแล้ว ทางโรงเรียนมีการวัดส่วนสูง-น้ำหนัก ตรวจปัสสาวะ เช็กพยาธิ ทางโรงเรียนยังมีคุณหมอเด็กจากทางโรงพยาบาลมาเช็กสุขภาพด้านต่างๆ ให้ด้วย แล้วถ้าพบว่าเด็กมีปัญหาอะไรก็จะออกใบให้ไปตรวจที่โรงพยาบาล
สำหรับโรงเรียนที่น้องต้นหนาวเรียนอยู่เป็นโรงเรียนรัฐบาล ค่าใช้จ่ายจึงถูกมาก เพราะโรงเรียนรัฐบาลที่นี่จะเก็บค่าเล่าเรียนไม่เท่ากันในแต่ละครอบครัว แต่จะเก็บตามรายได้ของแต่ละครัวเรือน โดยเก็บค่าเล่าเรียนเป็นรายเดือน ระหว่าง 4,000-34,000 เยนต่อเดือน



ที่เล่ามาอาจจะดูเหมือนทุกอย่างจะดีไปหมด แต่ทราบไหมคะ กว่าจะผ่านไปแต่ละด่านแต่ละวันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย สำหรับครอบครัวเราที่มาใช้ชีวิตอยู่ต่างเมืองต่างภาษา แถมยังไม่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นมาก่อน แต่ต้องมาอยู่ในเมืองที่ต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นเท่านั้นค่ะ
______________________________
แหล่งที่มา Mother&Care Magazine, มาเธอร์แอนด์แคร์ คู่มือเลี้ยงลูก เพื่อ คุณแม่สมัยใหม่ ตั้งแต่ ตั้งครรภ์ จนถึงลูกอายุ 9 ปี ติดตามอ่านฉบับเต็มแบบออนไลน์ได้ที่ Mother&Care e-Magazine หรือ ติดตามที่ Community Club คุณแม่ Facebook Mother&Care ที่รวมเรื่องราวเรื่องน่ารู้ สำหรับคุณแม่มือใหม่คะ

http://www.motherandcare.in.th/school-japan/

ความคิดเห็น