ฉลาดรู้ด้วยดนตรี / ดร.แพง ชินพงศ์


ฉลาดรู้ด้วยดนตรี / ดร.แพง ชินพงศ์


ภาพจาก baby.kapook.com

        ดนตรีเป็นสิ่งที่ผูกพันกับมนุษย์มาอย่างยาวนาน อีกทั้งเป็นกิจกรรมที่ผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติต่างชื่นชอบ ดนตรีเป็นเรื่องของเสียงที่มีความมหัศจรรย์ เพราะมีอิทธิพลกับมนุษย์ตั้งแต่ยังอยู่ในท้องของแม่ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วเด็กจะได้ยินเสียงตั้งแต่อายุ 4 เดือนในครรภ์ ดังนั้น การที่คุณพ่อคุณแม่พูดคุยหรือร้องเพลงให้ลูกในครรภ์วัย 4 เดือนขึ้นไปฟัง จะส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็กอย่างแน่นอน และการที่คุณพ่อคุณแม่ร้องเพลงกล่อมลูกในวัยแรกเกิดหรือในวัยทารกนั้น จะเป็นการสร้างความรักความผูกพันกับลูก อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านภาษาและดนตรีให้กับลูกได้เป็นอย่างดีด้วย
       
       นอกจากนี้ ดนตรียังเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาเด็กเป็นอย่างมากในอีกหลายๆด้าน ดังนึ้
       
       1. ดนตรีพัฒนา IQ (Intelligence Quotient) แน่นอนว่าดนตรีช่วยพัฒนาความฉลาดทางด้านสติปัญญาโดยตรง เพราะเมื่อเด็กได้ฟังดนตรี สมองของเด็กจะเกิดการเรียนรู้จากทำนอง จังหวะ เนื้อร้องของดนตรีหรือเพลงขึ้นทันทีโดยไม่รู้ตัว จากความเหมือนและความต่างของเสียง จากจังหวะช้าและเร็ว จากภาษาของเนื้อเพลง ซึ่งจะช่วยให้สมองของเด็กเกิดความคิดเชิงวิเคราะห์ในเรื่องของภาษาและคณิตศาสตร์ นอกจากนี้ การให้เด็กเล่นเครื่องดนตรี จะช่วยให้เด็กได้อ่านโน้ตเพลง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ในเรื่องของคณิตศาสตร์ การจดจำสัญลักษณ์ทางด้านดนตรี ซึ่งเป็นการพัฒนาความฉลาดทางด้านสติปัญญาโดยตรง
       
       2. ดนตรีพัฒนา EQ (Emotional Quotient) ดนตรีเป็นสื่อที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์เป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราฟังเพลงจังหวะเร็วๆและมีทำนองสนุกสนาน จะช่วยกระตุ้นให้อารมณ์ของเราสดชื่นแจ่มใส อยากจะยักย้ายร่างกายไปตามจังหวะและทำนองของเพลงนั้น หรือถ้าเราฟังเพลงที่มีทำนองช้าและไพเราะ จะทำให้เราดื่มด่ำลึกซึ้งไปกับทำนองเพลงนั้น ดังนั้น เราจึงสามารถนำเพลงมาใช้ในการพัฒนาทางด้านอารมณ์ของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น เปิดเพลงที่มีจังหวะเร็วให้เด็กๆ ได้เต้นตามจังหวะเพลง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกทางด้านอารมณ์ และจังหวะเร็วคึกคักของเพลงจะช่วยทำให้เด็กมีอารมณ์ที่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า นอกจากนี้ การเปิดเพลงที่มีจังหวะช้าที่มีทำนองไพเราะมีเสียงธรรมชาติประกอบเช่น เสียงน้ำตก เสียงลมพัด เสียงนกร้อง จะเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กๆ ได้ผ่อนคลาย รู้สึกสงบและมีสมาธิดี
       
       3. ดนตรีพัฒนาAQ (Adversity Quotient) หมายถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและความเพียรพยายามในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จด้วยตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่ต้องสอนและฝึกฝนตั้งแต่เด็ก กิจกรรมดนตรีถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยในการพัฒนาความเพียรพยายามให้กับเด็กได้ดีมากทีเดียว ได้แก่ การฝึกให้เด็กเล่นเครื่องดนตรีตั้งแต่เล็ก ไม่ว่าจะเป็นเปียโน ระนาด กีตาร์ ขลุ่ย ขิม ซอ ไวโอลิน กลอง ฯลฯ  ซึ่งแน่นอนว่าการเล่นเครื่องดนตรีทุกชนิดนั้นต้องมีการฝึกซ้อมทั้งสิ้น ซึ่งการฝึกซ้อมนั้นเด็กๆต้องใช้เวลาและต้องใช้ความเพียรพยายามในการเล่นให้ถูกต้องตามโน้ต ตามจังหวะของเพลงนั้นๆ ซึ่งถ้าเขาสามารถเล่นได้ดีและไพเราะแล้ว เด็กๆ ก็จะเกิดความภาคภูมิใจและทำให้มีความเพียรพยายามมากขึ้นในการเล่นเพลงที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยอาจจะทำให้เด็กๆกลายเป็นนักดนตรีที่เก่งและมีชื่อเสียงในอนาคตได้ นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กๆ ติดนิสัยของความมีมานะในการเรียนรู้ด้านอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งจะทำให้เด็กๆ เป็นคนประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างดี
       
       จะเห็นได้ว่านอกจากดนตรีจะเป็นกิจกรรมที่สร้างความสุขให้กับเด็กๆ แล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ที่สามารถพัฒนาให้เด็กๆ ฉลาดรู้ได้อีกด้วย เช่นนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถนำกิจกรรมดนตรีมาใช้เป็นเวลาคุณภาพของครอบครัวได้ง่ายๆ เรียกได้ว่ากิจกรรมดนตรีเป็นกิจกรรมที่ทั้งให้ความรู้ ให้ประโยชน์และสร้างความสุขให้กับเด็กและทุกคนในครอบครัวไปพร้อมๆ กัน
       
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : manager.co.th

ความคิดเห็น