เด็กไทยสายพันธุ์วอลดอร์ฟ

เด็กไทยสายพันธุ์วอลดอร์ฟ

โดย : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ  คอลัมน์ จุดประกาย ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 15กันยายน 2552



ที่นี่เด็กไม่เบื่อโรงเรียน เพราะวอลดอร์ฟเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ เด็กๆ ได้เรียนรู้สิ่งที่สนใจ รักการค้นคว้า และได้พัฒนาตัวเองอย่างสมบูรณ์แบบ 14 ปีที่แล้ว หมอพร พันธุ์โอสถ ริเริ่มทำการศึกษาแนววอลดอร์ฟ โดยใช้บ้านเป็นสถานที่เรียน มีลูกของเขา 4  คนและลูกเพื่อนอีก 3 คนรวม 7 คนเป็นนักเรียนวอลดอร์ฟ ตอนนั้นเราคุยกันในห้องเล็กๆ ละครหุ่นของผู้ปกครองกำลังแสดงให้เด็กๆ ดู และมีเด็กวิ่งไปวิ่งมาระหว่างการสนทนา

ปัจจุบัน เรากลับมานั่งคุยในห้องเรียนเล็กๆ รายล้อมด้วยเด็กๆ ตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมปีที่ 6 กว่า 200 คนและคุณครูอีก 20 คนในโรงเรียนปัญโญทัยที่สอนตามแนวทางวอลดอร์ฟ จำได้ว่า ช่วงที่หมอพรริเริ่มการศึกษาแนวนี้ เขาย้ำเสมอว่า เป็นการศึกษาเพื่อสอนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบทั้งกาย ใจและจิตวิญญาณ “สิ่ง ที่สอนเด็กๆ ไม่สูญเปล่าแน่นอน เขานำไปใช้ได้ตลอดชีวิต ผมคิดว่า มาถูกทางแล้ว ที่นี่ผมเป็นครูธรรมดาคนหนึ่ง สอนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และการปั้นดิน แม้ผมจะเป็นคนริเริ่ม แต่โรงเรียนแห่งนี้ทำในนามมูลนิธิ” ธรรมชาติของมนุษย์ วอลดอร์ฟ เป็นการศึกษาทางเลือกอีกรูปแบบในสังคมไทย โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีการสอบ ไม่ต้องแต่งชุดนักเรียน เด็กๆ เรียนรู้จากการคิดและทำด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ทุกครั้งที่ทำงานเสร็จต้องบันทึกการเรียนรู้ไว้ในสมุด ช่วง 7 ปีแรก เด็กๆ จะเรียนรู้ผ่านการกระทำและการเลียนแบบ ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านสมองหรือการคิด การเรียนรู้ผ่านร่างกายในช่วงวัยนี้สำคัญมาก กระทั่งถึงช่วงวัย 7-14 ปี เด็กเริ่มเรียนรู้ผ่านความรู้สึก ศิลปะและดนตรี เพื่อเชื่อมโยงให้รู้จักชีวิตที่งดงาม เด็กเริ่มคิดอ่าน เคลื่อนไหว ร้องเพลง วาดภาพ และเรียนรู้งานหัตถกรรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กผู้ชาย

รูดอร์ฟ สไตเนอร์ ผู้ริเริ่มแนวคิดวอลดอร์ฟจะ ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพทุกๆ ด้านของมนุษย์ การศึกษาจึงเป็นศาสตร์และศิลป์ เรียนจากความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์แต่ละช่วงวัย
ดังนั้นไม่จำเป็น ต้องบังคับให้เด็กเล็กเขียนหนังสือก่อนวัย 7 ปี เพราะช่วงเวลานั้นมนุษย์ตัวเล็กๆ ร่างกายกำลังพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ การเล่นจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็กเล็ก

“เด็กเล็กเรียนรู้จากการทำตามแบบครูและแม่ การศึกษาวอลดอร์ฟบอกว่า บางครั้งพ่อแม่สามารถเป็นเสมือนครู สามปีแรกในชั้นอนุบาลไม่สอนเขียนอ่านเลย” ครูอุ้ย- อภิสิรี จรัลชวนะเพท เจ้าของโรงเรียนอนุบาลบ้านรัก เล่าถึงการนำการศึกษาวอลดอร์ฟมาใช้ในโรงเรียนกว่า 10 ปี แม้โรงเรียนอนุบาลของเธอจะผ่านวันเวลามานานกว่า 25 ปีแล้ว

กว่าจะนำแนวทางวอลดอร์ฟมา ใช้ ครูอุ้ยต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เธอบอกว่า ถ้าเข้าใจความเป็นมนุษย์ ก็จะเข้าใจเหตุผลการศึกษาแนวนี้ ซึ่งบอกไว้ชัดเจนว่า เมื่อเด็กฟันน้ำนมหัก ฟันแท้ขึ้น ก็เริ่มเรียนได้เลย

“ในช่วงอนุบาล ต้องมีครูอนุบาลที่เข้าใจเด็กจริงๆ ครูก็เหมือนแม่ที่สอนเด็ก โรงเรียนจึงหน้าตาเหมือนบ้าน”

การ พัฒนาเด็กเล็กเป็นช่วงวัยที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม ครูอุ้ยอธิบายต่อว่า แนวทางการศึกษาทั่วไปไม่ได้บอกว่า ถ้าให้การศึกษาผิดๆ อะไรจะเกิดขึ้น แต่การศึกษาแนวนี้เตือนพ่อแม่ชัดเจนว่า ถ้าให้มากไปหรือผิดวิธีจะเป็นอันตรายกับเด็กในอนาคต ดังนั้นพ่อแม่และครูต้องรู้ว่า เรื่องใดเป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสม

“ทำไมผู้ใหญ่ต้องจับเด็กอนุบาลแต่งหน้าแต่งตาขึ้นเวทีแสดง แนวคิดนี้ต่างจากวอลดอร์ฟ ถ้าเป็นการแสดงพ่อแม่จะเข้ามามีบทบาท บางครั้งคุณแม่รำละคร คุณครูรำไทย เด็กเล็กๆ ก็ไต่ไปไต่มาอยู่กับพ่อแม่และครู เป็นชุมชนที่ทำงานร่วมกัน โรงเรียนของเรามีคณะละครหุ่นของผู้ปกครอง เด็กๆ ได้เห็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำให้ดู”

แต่ละช่วงวัยต้องพัฒนาให้เหมาะสม วัย 14-21 ปีจะเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดในวิชาการต่างๆ เชื่อมโยงกับสังคมและการปฏิบัติ โดยไม่ทิ้งเรื่องศิลปะ ดนตรีและหัตถกรรม ซึ่งเติมเต็มบางอย่างให้เด็กๆ

“การพัฒนาตามแนวทางนี้ เพื่อให้เด็กตระหนักรู้ว่า เขาเป็นใคร ทำอะไรได้บ้าง เป็นสภาวะเพื่อให้รู้จักตัวเอง ไม่ใช่แค่รู้ว่า ตัวเองชอบหรืออยากเป็นอะไร แต่ต้องรู้ศักยภาพของตัวเอง”

การเรียนรู้ศักยภาพของตัวเองในความหมายของหมอพร ถูกอธิบายเพิ่มเติมว่า ในระบบการศึกษาวอลดอร์ฟ เด็กๆ จะถูกสอนให้แก้ปัญหาด้วยตัวเอง และพัฒนาตามวุฒิภาวะ

“หลาย คนที่มาดูงานที่นี่ ต่างเห็นว่าเด็กปัญโญทัยมีความเยาว์วัยสดใสแบบเด็กๆ แต่มีความรับผิดชอบสมวัย ต่างจากเด็กไทยส่วนใหญ่มีบางเรื่องทำให้เขาแก่เกินวัย แต่ความรับผิดชอบมีไม่มาก”

เมื่อเด็กเข้าสู่ช่วงมัธยม หมอพรบอกว่า พวกเขาจะตั้งคำถามกับโลกว่า เขาจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกได้อย่างไร

“เราไม่มีการวัดผลจากการสอบ แต่มีการวัดผลการเรียนรู้ตลอดเวลา เรารู้ว่า เด็กเป็นอย่างไร จะช่วยเขาแก้ปัญหาได้อย่างไร”

โจทย์นี้มีคำตอบ
“เด็กๆ จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ไหม และเข้ากับสังคมอย่างกลมกลืนหรือไม่ “ คำถามยอดฮิตที่ผู้ปกครองและคนในสังคมซักถามหมอพรอยู่เรื่อยๆ

หากค่อยๆ ทำความเข้าใจระบบการศึกษาวอลดอร์ฟ ก็จะคลายความสงสัย ช่วงแรกที่เริ่มทำโรงเรียนแนวนี้ หมอพรต้องตอบคำถามครั้งแล้วครั้งเล่า จนปัจจุบันผู้ปกครองเริ่มเข้าใจปรัชญาการศึกษา

“คนที่พูดเรื่องนี้ ได้ดีที่สุดคือ พ่อแม่เด็ก พวกเขาได้เห็นคุณภาพในตัวเด็ก เด็กมีความรู้ ความสามารถ ความตระหนักรู้ในตัวเอง แรกๆ ผมบอกผู้ปกครองว่า เด็กอาจไม่เป็นอย่างที่คุณคิด จะเป็นตามแนวทางนี้ ถ้าคุณคิดว่า ใช่…แนวทางที่คุณต้องการ ก็ส่งลูกมาเรียน” หมอพร บอกถึงการศึกษาที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์
“ถ้าการศึกษาแนวนี้ทำง่ายๆ ผมคงไม่ทำ เมื่อทำยากก็เหมือนได้ใบประกาศ เพราะได้ทำสมศักดิ์ศรีแล้ว ผมเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่มุ่งมั่นทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม”

หมอพร บอกอีกว่า ถ้าตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ไม่ได้ โรงเรียนในปัจจุบันก็จะเปลี่ยนแนวทาง แต่สิ่งที่เห็น ยังคงเป็นไปตามแนวทางเดิม

“คำถาม เรื่องเด็กจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ไหม ข้อนี้ผมอยากบอกว่า แม้เด็กจะไม่เรียนในมหาวิทยาลัย ก็สามารถเอาตัวรอด และมีมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศยินดีรับเด็กวอลดอร์ฟ พวก เขาจะรู้พลังของตัวเองในทุกๆ ด้าน ทั้งความรู้ ความต้องการของตัวเอง และตระหนักรู้ว่า ความสามารถของเขาทำเพื่อผู้อื่นในสังคมได้อย่างไร” หมอพร ย้ำและบอกว่า เด็กวอลดอร์ฟได้ เรียนรู้การแก้ปัญหาการทำงานด้วยตัวเอง มีหลักสูตรต้องออกไปเรียนนอกสถานที่ เด็กประถมปีที่ 3 -4 ต้องเรียนรู้การทำนาและอยู่ในฟาร์ม บางครั้งพาไปแล่นเรือใบ ใช้ชีวิตกับครูฝึกทหาร

การปรับตัวเป็นเรื่องจำเป็นที่เด็กวอลดอร์ฟต้อง เรียนรู้ผ่านเรื่องราวชีวิต หมอพรยกตัวอย่าง เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ครูพาเด็กประถมปีที่ 5 ไปช่วยกันจัดของให้สภากาชาดในเหตุการณ์สึนามิ ส่วนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต้องทำวิทยานิพนธ์ในเรื่องที่ตัวเองสนใจ และใช้ชีวิตร่วมกับคนในชุมชนเพื่อเรียนรู้ปัญหาสังคม

“ผม ให้พวกเขาเขียนบทความการใช้ชีวิตร่วมกับชุมชน  ตอนนี้ออกมาเป็นหนังสือ ‘ความจริงที่โลกเมิน’ บันทึกประสบการณ์ชีวิตของเด็กหนุ่มสาว 12 คน ซึ่งมีการพิมพ์ออกจำหน่าย นำรายได้ทั้งหมดมอบให้องค์กรที่ทำงานเพื่อสังคมโดยไม่หักค่าใช้จ่าย บทเรียนที่เด็กได้เรียนรู้ คุณคิดว่าธรรมดาไหมที่เด็กตั้งคำถามกับสังคม เขาบอกผมว่า แม้เขายังเด็กและไม่รู้จะทำอะไร แต่เพื่อให้สังคมดีขึ้น เขาจะทำแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี” หมอพรเล่าและยกตัวอย่างวิทยานิพนธ์ที่เด็กทำ

“เด็กคนหนึ่งตั้งเป้า ไว้ว่าจะเป็นผู้ควบคุมวงดนตรี นอกจากความรู้ที่มีอยู่และการค้นคว้าหาข้อมูล เขายังติดต่อขอเข้าไปนั่งในชั้นเรียนมหาวิทยาลัย ส่วนเด็กอีกคนคิดว่า ตัวเองไม่ได้ชาญฉลาดนัก แต่มีความสามารถด้านตีกลองก็ทำอัลบัมของตัวเอง บางคนทำหนังสั้น เขาก็ติดต่อไปดูงานกับคนทำหนัง รวมถึงถ่ายทำด้วยตัวเอง และบางคนทำโครงการผลิตก๊าซไบโอดีเซล

ในชั่วโมงเรียนทั่วไป เราให้เด็กทำแผนที่รังวัด เรายืมเครื่องมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬา ฯ แล้วส่งแผนที่ที่เด็กทำไปให้คณบดีดู เขาบอกว่า นักศึกษาวิศวะปี 2-3 ก็ทำเหมือนกัน แต่เด็กปัญโญทัยทำได้ดีกว่า “หมอพรเล่า เพื่อจะบอกว่า

“ถ้าไม่ลงมือทำ ความคิดและความฝันก็จะล่องลอย ครูมีหน้าที่แนะนำ เมื่อเด็กลงมือทำ เด็กก็จะรู้ว่า สิ่งที่คิดไว้จะเป็นจริงได้อย่างไร”

ลงมือทำคือหัวใจการเรียน

สิ่งที่ไม่เคยลืมในแนวทางนี้คือ ความงดงามของศิลปะ ไม่ว่าการปั้น การวาดรูป ดนตรี หัตถกรรม และจินตลีลา (ยูริธมี่) ฯลฯ

ศิลปะ จะถูกนำมาผสมผสานในทุกวิชา เพื่อให้เด็กเรียนรู้อย่างมีชีวิตชีวา ยกตัวอย่างเรียนคณิตศาสตร์ผ่านการเคลื่อนไหว จังหวะ และการคำนวณ โดยใช้สีสันของศิลปะฝึกการคิดที่งดงาม พวกเขาเรียนภาษาต่างประเทศด้วยวิธีธรรมชาติ โดยเลียนแบบการฟัง พูดผ่านเพลง เกม และนิทาน จากนั้นค่อยๆ  เขียนอ่าน นอกจากนี้เด็กทุกคนต้องมีประสบการณ์การทำสิ่งของและเครื่องใช้ด้วยมือตัว เอง

“ผมสอนที่นี่มา 3 ปีแล้ว ผมเคยสอนในโรงเรียนวอลดอร์ฟที่ ออสเตรเลีย ตอนนี้สอนให้เด็กทำแปลงสวนครัว” ครูทอม เล่าขณะดัดลวดเหล็ก เพื่อสอนวิชาช่างข้างรั้วโรงเรียน ส่วนวิชาหลักที่เขาสอนคือ ภาษาอังกฤษ รวมถึงการละเล่นในคณะละครสัตว์ที่ครูทอมเรียนมาตั้งแต่เด็ก อาทิ โยนบอลสามใบสลับไปมา

ส่วนมุมนอกห้องเรียน หมอพรกำลังสอนเด็กๆ ปั้นดินอย่างสนุกสนาน และหมอพรถามเด็กคนหนึ่งว่า “เมื่อวานช่วยครูจัดโต๊ะด้วยไหม”

“ช่วยจัดเก้าอี้ครับ ไม่ได้จัดโต๊ะ”

หมอ พรได้ยินคำตอบยอกย้อน แม้จะไม่ตั้งใจ แต่แสดงถึงความไม่เคารพครูที่แสดงความห่วงใย จึงให้วิดพื้น 5 ครั้ง เพราะแนวทางนี้นอกจากสอนวิชาความรู้แล้ว ยังต้องสอนให้เด็กๆ ตระหนักรู้เรื่องจิตใจที่ดีงามด้วย

“เคยมีคนถามว่า เด็กวอลดอร์ฟจะ กลมกลืนกับสังคมไหม…ถ้าความกลมกลืนหมายถึงเป็นส่วนหนึ่งของฝูง เขาไม่กลมกลืนหรอก แต่เขาจะกลมกลืนในการใช้ชีวิตที่ไม่มีปัญหา เพราะสังคมเรามีสมมติฐานที่ผิด ถ้าคนส่วนใหญ่ทำก็คิดว่าเป็นเรื่องถูกต้อง ถ้าอย่างนั้นระบบการศึกษาไทยน่าจะมีปัญหา ยกตัวอย่างเด็กคนหนึ่งเรียนเก่งมาก พอสอบตกสักวิชา ก็ฆ่าตัวตาย นั่นหมายถึงเด็กปรับตัวไม่ได้”

หากถามว่า การศึกษารูปแบบนี้จะมีโอกาสเข้าไปอยู่ในระบบไหม หมอพรบอกว่า คงมีสักวัน เพราะโลกเปลี่ยน ผู้คนก็ต้องเปลี่ยน มีคนจำนวนมากอยากทำแบบนี้ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร

“ถ้าเราคิดว่าต้องทำก็ทำได้ สิ่งที่พวกเราคิดและทำอาจล้ำสมัย ล้ำความคิดผู้คน เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดอย่างนี้ ในโรงเรียนของเรา ผมไม่เคยบอกเด็กว่าต้องเชื่อมั่นในตัวเอง ภารกิจคือการลงมือทำ ก็จะหล่อหลอมความมั่นคงภายใน” หมอพรเล่าและย้ำว่า

“ระบบการศึกษาตอนนี้ไม่ได้สอนให้คิด ไม่ได้ลงมือทำจริงจัง ไม่เน้นคุณค่าที่แท้จริงภายในมนุษย์”

ความคิดเห็น