อย่างไรที่เรียกว่า “พ่อแม่ประสบความสำเร็จในการอบรมเลี้ยงดูลูก”

 อย่างไรที่เรียกว่า “พ่อแม่ประสบความสำเร็จในการอบรมเลี้ยงดูลูก”


โดย ดร.วิศรุต  เลาะวิถี

 ภารกิจของพ่อแม่ในยุคปัจจุบันนี้ คงต้องยอมรับว่ามีภาระหนักกับการอบรมเลี้ยงดูลูกในสังคมปัจจุบัน ยิ่งกว่านั้น การใช้วิธีการเลี้ยงดูเช่นเดียวกับที่ตนเคยเป็นลูกในอดีต ก็คงจะไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากสภาพของสังคมบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก และมีความแตกต่างกับยุคสมัยที่ตนเองอยู่ในฐานะที่เป็นลูกโดยสิ้นเชิง
 

      ในขณะที่ทุกคนมีลูกที่ต้องอบรมเลี้ยงดู และย่อมเป็นความต้องการสูงสุดของผู้ที่เป็นพ่อแม่คือ ความสำเร็จในการอบรมเลี้ยงดูลูก เพื่อให้เป็นคนดี และเป็นคนที่มีความสามารถ อยู่ในศาสนาแบบยั่งยืน จริงอยู่ พ่อแม่หลายคนอาจประสบปัญหาอุปสรรคในภารกิจดังกล่าวบ้าง ก็ขอให้ฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้น เพื่อพบทางออกที่ดี และได้รับความรัก ความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า ก็ย่อมเป็นสิ่งที่พึงประสงค์อันมีคุณค่ายิ่ง


       การให้ความรักอย่างเพียงพอ ถือเป็นเรื่องสำคัญในสังคมยุคนี้ พ่อแม่บางคนอาจมองเรื่องความรักเป็นเรื่องธรรมดา และตีความหมายเป็นอย่างอื่น ทำให้สมาชิกในครอบครัวขาดแคลนความรัก หรือได้รับความรักน้อยเกินไป ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า “ความรักความสนใจที่จริงใจก่อให้เกิดความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ” นอกจากนี้ อาจมีผลพลอยได้จากการหยิบยื่นความรักให้แก่ลูกอย่างถูกต้องและเหมาะสม กล่าวคือ


ลูกได้รับรู้และรู้สึกว่าตนเป็นที่รัก ย่อมอยากแสดงความดีให้พ่อแม่เห็น เป็นการตอบแทน
ให้ความรักอย่างสม่ำเสมอและปราศจากเงื่อนไขในทุกโอกาส

       ยิ่งกว่านั้น “วินัย” เป็นคำ ๆ เดียว ที่พ่อแม่จะต้องปลูกฝัง หรือซึมซับให้เกิดขึ้นในตัวลูกให้ได้ ครอบครัวไทยโดยองค์รวม มักให้ความสำคัญในเรื่องวินัย ไม่มากเท่าที่ควร สำหรับครอบครัวมุสลิม การฝึกวินัยเกี่ยวกับการปฏิบัติละหมาดฟัรดู ถือเป็นการฝึกวินัยขั้นพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพในการสร้างวินัยในตนเองอย่างยิ่ง ดังนั้น การฝึกวินัยให้ลูกด้วยความรักแห่งการปฏิบัติละหมาดจนเป็นนิสัย แน่นอน ลูกจะได้รับการพัฒนาวินัยของตนเองได้ และเมื่อนั้น ลูกจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

 

มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น มองตนเองว่ามีคุณค่า และมองคนอื่นในแง่ดีเสมอ
รู้ว่าอะไรถูก-อะไรผิด สามารถจำแนก แยกแยะได้ถูกต้อง เพราะการปฏิบัติละหมาดเป็นการป้องกันการกระทำในสิ่งอิสลามห้ามอย่างมีประสิทธิภาพ
มีทางเลือกในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ถูกภาวะกดดัน หรือมีข้อจำกัดในการหาทางออก

      ในทำนองเดียวกัน การที่พ่อแม่สามารถเปลี่ยนแปลงลูกไปสู่พฤติกรรมดังกล่าวได้ แน่นอน อาจช่วยส่งเสริมปัจจัยทั้ง 3 ประการนี้โดย :

พ่อแม่มีความสม่ำเสมอในเรื่องของความอดทน และสามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้อย่างเป็นอย่างดี
สื่อความหมายกับลูกให้ชัดเจน ปากกับใจต้องตรงกัน
ทำความเข้าใจพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของลูกว่ามีความหมายอย่างไร ทำไปเพื่ออะไร เพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ให้ความมั่นใจ ใส่ใจพฤติกรรมที่ถูกต้อง มากกว่าการจับจ้องพฤติกรรมที่พ่อแม่ยังไม่พอใจ
ชมเชยสิ่งที่ดีของเขา
สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในบ้านให้สามารถเล่นรื้อค้นได้อย่างปลอดภัย กรณีมีลูกอยู่ในวัยกำลังเล่น กำลังซน
กำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้าใจง่าย บอกให้รู้ว่าอะไรที่พ่อแม่ต้องการให้ทำ และอะไรที่ไม่ต้องการให้ทำ
สถานการณ์บางขณะในบ้าน เช่น พี่น้องทะเลาะกัน อาจนำไปสู่การเกิดอารมณ์รุนแรง พ่อแม่ต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลม รู้จังหวะที่จะเข้าไปจัดการอย่างเหมาะสม

       ปัจจุบัน การมีเวลาให้กับครอบครัว ถือเป็นประเด็นสำคัญสำหรับพ่อแม่ในยุคนี้ พ่อแม่หลายคนมักไม่เห็นความสำคัญของเรื่องเวลา ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวมีความรุนแรงจนสุดจะแก้ไขเยียวยาได้ ดังนั้น พ่อแม่ควรมีเวลาเล่นกับลูก โดยเน้นความสนุกสนาน และสร้างสัมพันธ์ที่ดี มากกว่าการควบคุม สั่งสอน หรือเข้มงวดเรื่องการเรียน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว อาจเรียกว่า ยังขาดความเข้าใจในการสร้างสัมพันธ์กับลูกที่ดี


       การมีความสนใจและให้ความสำคัญต่อคู่สมรสของตนเอง ย่อมถือเป็นแบบอย่างหรือสื่อของการอบรมเลี้ยงดูลูกที่ดี กล่าวคือ พ่อแม่ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก่อน เพราะความรัก ความนับถือซึ่งกันและกัน การยอมรับ และให้เกียรติระหว่างกันของพ่อแม่ จะก่อให้เกิดความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจของทุกคนภายในครอบครัวอย่างมีความหมายยิ่ง


       สิ่งที่ครอบครัวจะปฏิเสธไม่ได้คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเฉพาะบุคคล หรือปัญหาของครอบครัวก็ตาม พ่อแม่ควรสอนทักษะในการแก้ปัญหาที่ถูกต้องให้แก่ลูกด้วย ในฐานะเป็นผู้มีประสบการณ์ชีวิตมาก่อน หรืออาจขอความช่วยเหลือจากบุคคลที่ใกล้ชิดหรือไว้วางใจ ให้เป็นผู้เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาให้แก่ลูกก็ได้ ทั้งนี้ ควรมีแนวปฏิบัติ ดังนี้

อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าวิธีการแก้ปัญหาที่เขาใช้ไปแล้วนั้น ไม่เหมาะสมอย่างไรบ้าง และแนะวิธีที่เหมาะสมกว่าเพื่อเขาจะได้นำไปใช้ ในคราวหน้า
สำหรับเด็กเล็ก ๆ ให้แนะนำตรง ๆ ว่าถ้าพบปัญหานี้ควรทำอย่างไร
สำหรับเด็กโตที่รู้จักคิดเองได้ พ่อแม่อาจตั้งคำถามให้เด็กคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร แล้วจึงเสนอวิธีการต่าง ๆ เพิ่มเติมให้พัฒนาความเคารพนับถือ หรือ “อิกรอม” ซึ่งกันและกัน พ่อแม่ควรทำตัวให้เป็นที่เคารพนับถือของลูก เช่น
แสดงกิริยาวาจาสุภาพกับลูก
รู้จักขอโทษเมื่อพ่อแม่เป็นฝ่ายผิด ไม่คิดว่าเป็นเรื่องเสียศักดิ์ศรี
สนใจกิจกรรมที่ลูกทำด้วยความจริงใจ
แสดงความซื่อสัตย์ รักษาสัญญาให้ลูกเห็น
แสดงความไว้วางใจรับฟังการตัดสินใจของลูก
ไม่แสดงความชื่นชม หรือเข้าข้างลูกคนใดเป็นพิเศษ หรือออกนอกหน้า

       อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จในการอบรมเลี้ยงดูลูกนั้น นอกจากจะต้องเสริมสร้างบทบาทแห่งตนดังกล่าวแล้ว จะต้องเป็น “นักฟัง” ที่ดีอีกด้วย กล่าวคือ มีความตั้งใจรับฟังลูกอย่างจริงจัง จริงใจ พ่อแม่ที่ "ได้ยิน" ลูก จะรับรู้และเข้าใจว่าลูกกำลังจะบอกอะไร และควรสนับสนุนให้แสดงความรู้สึกที่ดีและไม่ดีออกมา การให้คำแนะนำเชิงเสนอแนะ หรือใช้คำพูดสั้น ๆ ได้ใจความ ดีกว่าการอธิบายหรือเทศนายืดยาว ตลอดจนการเปิดโอกาสให้คิดด้วยตนเองก่อน แล้วจึงเสนอแนะวิธีการของพ่อแม่ภายหลัง ก็ถือว่า เป็นวิธีการกระตุ้นให้ลูกเป็นอิสระทีละน้อย เด็กเล็กควรมีเสรีภาพและรู้จักเลือกตัดสินใจในเรื่องเล็กน้อย เมื่อโตขึ้นก็ค่อยขยายให้รู้เรื่องที่ใหญ่ขึ้นตามลำดับ รวมทั้งการตั้งความหวังให้อยู่ในโลกของความเป็นจริง ตามกำหนดสภาวการณ์แห่งพระผู้เป็นเจ้า ก็ถือเป็นการปูพื้นฐานหลักศรัทธาแห่งชีวิตอีกด้วย มีผู้กล่าวไว้ว่า :


"อย่าหวังว่าทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยดีตลอดเวลา
การเลี้ยงลูกมิใช่เป็นงานที่ง่ายเหมือนปลอกกล้วย
เป็นงานที่เต็มไปด้วยความระทมทุกข์และเจ็บปวดหัวใจ
แต่ก็เต็มไปด้วยความสุขอย่างท่วมท้น และคุ้มค่าได้เช่นกัน"


       ดังกล่าวนี้ อาจประมวลได้ว่า พ่อแม่ทุกคนล้วนมีความคาดหวังแห่งความสำเร็จของการอบรมเลี้ยงดูลูกของตนทั้งสิ้น แต่ความคาดหวังนั้น ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความตั้งใจจริง และความจริงใจ โดยมอบหมายความสำเร็จแห่งภารกิจอันหนึ่งอื้งนี้ ต่อพระผู้เป็นเจ้า เพื่อมุ่งหวังความรัก และความเมตตาสูงสุดอีกด้วย มิใช่หรือ ?

ความคิดเห็น