คำพูดที่ลูกอยากได้ยินจากพ่อแม่
มีคำกล่าวว่า “การกระทำย่อมดังกว่าคำพูด” นั่นเป็นความจริง แต่สำหรับการเป็นพ่อแม่ ทั้งการกระทำและคำพูดล้วนแต่มีความสำคัญต่อความรู้สึกนึกคิดของลูก ๆ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน บทความในฉบับก่อน ๆ ที่ผ่านมาดิฉันพูดถึงสิ่งที่พ่อแม่ต้องทำไว้พอสมควรแล้ว ในฉบับนี้จึงอยากพูดถึงคำพูดที่ลูก ๆ อยากได้ยินจากพ่อแม่ ซึ่งมีคำสำคัญ ๆ อยู่หลายคำทีเดียวดิฉันสนับสนุนให้พ่อแม่พูดถ้อยคำเหล่านี้กับลูกเสมอ ๆ ถ้ายังไม่เคยทำก็ลงมือเสียเดี๋ยวนี้ ยังไม่สายเกินไปที่จะพูดคำเหล่านี้ให้ลูก ๆ ได้ยิน เพราะว่า “ถ้อยคำแช่มชื่นเหมือนรวงผึ้ง เป็นความหวานแก่วิญญาณจิตและเป็นอนามัยแก่ร่างกาย”คำพูดที่ลูกๆ อยากได้ยินจากพ่อแม่เสมอๆพ่อแม่รักลูกมากนะคำพูดประโยคนี้บอกให้ลูกรู้ว่าเขาคือคนสำคัญของพ่อแม่ ลูกต้องการเป็น “ที่รัก” ของพ่อแม่ การพูดให้เขาได้ยินบ่อย ๆ ว่าคุณรักเขามาก คือการตอบสนองความปรารถนาที่มีอยู่ในจิตใจของเขา เมื่อลูกได้ยินคำพูดแบบนี้เสมอ ๆ มันจะทำให้ลูก ๆ มีความเชื่อมั่นและความมั่นคงในชีวิต เห็นคุณค่าของตัวเอง และมีความสุข ตรงกันข้ามกับคนที่ขาดความรักและโหยหามัน ผลการศึกษาพบว่าเด็กเหล่านี้จะแสวงหาความรักในทางที่ผิด ๆ และสร้างความเสียหายให้กับตัวเองและสังคมอย่าคิดเข้าข้างตัวเองว่าลูกคงรู้อยู่แล้วว่าคุณรักเขามาก จริง ๆ เขาก็รู้ แต่การที่เขาได้ยินคุณพูดว่ารักเขาบ่อย ๆ ก็ยิ่งทำให้เขาตระหนักถึงเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น อย่ารอที่จะบอกว่ารักลูกมากจนมันสายเกินไปเมื่อไหร่ที่พ่อแม่จะบอกให้ลูกรู้ว่าคุณรักเขามาก? คำตอบก็คือทุกครั้งที่มีโอกาส ดิฉันขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่หาโอกาสที่จะบอกให้ลูกรู้ว่า “พ่อ/แม่รักลูกมากนะ” แล้วจะพูดคำนี้บ่อยแค่ไหน? ไม่มีข้อจำกัด เพราะคำว่า “รัก” พูดมากไปย่อมดีกว่าพูดน้อยไปพ่อแม่ภูมิใจในตัวลูกมากนะคำที่สองที่ดิฉันขอสนับสนุนให้คุณพ่อคุณแม่พูดกับลูกบ่อย ๆ ก็คือคำว่า “พ่อแม่ภูมิใจในตัวลูกมากนะ” อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นการยกยอปอปั้นลูก มันเป็นคนละเรื่องกัน การยกยอปอปั้นอาจะทำให้ลูกเหลิงจนเสียคนได้ แต่การบอกให้ลูกรู้ว่าคุณรู้สึกภูมิใจในตัวเขาบ่งบอกถึงการยอมรับ การสนับสนุน และการให้กำลังใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ และไม่มีใครตอบสนองสิ่งนี้ได้ดีเท่ากับพ่อแม่หากลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ภูมิใจในตัวเขา มันจะไปกระทบต่ออัตลักษณ์ของเขา ความเชื่อมั่นของเขา ความทะเยอทะยานของเขา และความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนมีคุณค่าลองมองหาสิ่งดี ๆ ในชีวิตของลูก เช่น การเป็นคนมีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่น การเป็นคนที่ทำอะไรเรียบร้อย การเป็นคนที่พูดจาไพเราะ การเป็นคนที่มีความกล้าหาญ กล้าแสดงออก เป็นต้น แล้วบอกกับเขาว่าคุณภูมิใจในตัวเขาในเรื่องเหล่านั้น คุณจะได้เห็นสีหน้าและแววตาแห่งความปลาบปลื้มของเขา และเขาจะยิ่งทำสิ่งนั้นให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องการคำชมเชยเมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ พ่อแม่บางคนอาจจะพูดว่าไม่รู้จะพูดอะไรเพราะไม่เห็นมีอะไรสักอย่างที่เราจะภูมิใจในตัวลูกได้ มีแต่ซน ดื้อ และไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ดิฉันขอแย้งว่าไม่จริงหรอกค่ะ ลูกของคุณต้องมีจุดเด่นอะไรบางอย่างในตัวของเขา บางทีที่คุณไม่เห็นเพราะคุณอยากเห็นในแบบที่คุณอยากให้เขาเป็นแต่เขาไม่ได้เป็นต่างหาก บางทีเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุณมองข้ามไปก็ได้ดิฉันมีหลานวัย 4 ขวบคนหนึ่ง เขามีจุดเด่นหลายอย่าง แต่มีเรื่องหนึ่งถ้าไม่สังเกตให้ดีก็อาจจะมองข้ามไปง่าย ๆ วันหนึ่งสามีของดิฉันเดินสะดุดขาโต๊ะจนร้องโอย เจ้าหลานตัวเล็กก้มลงจับที่เท้าและถามสองสามครั้งว่า “คุณตาเจ็บไหม” ผ่านไปอีกร่วมครึ่งชั่วโมงเขาก็ถามอีกว่า “คุณตาหายเจ็บหรือยัง” และแนะนำว่าคุณตาต้องระวังอย่าเดินไปเตะขาโต๊ะอีก และก็ถามซ้ำอีกว่ายังเจ็บไหม นั่นคือความเห็นอกเห็นใจที่มีอยู่ในตัวเขา ถ้าเราไม่สังเกตให้ดีก็จะมองข้ามไปเลย นี่คือสิ่งที่เราสามารถนำมาเป็นสิ่งที่จะแสดงความภาคภูมิใจในตัวเขาได้พ่อกับแม่เชื่อมั่นในตัวลูกเสมอคำพูดนี้เป็นคำพูดที่ยากไม่น้อยสำหรับพ่อแม่ เพราะความเชื่อมั่นที่พ่อแม่มีต่อลูกเกี่ยวข้องกับความไว้ใจและการยอมรับ คือ พ่อแม่เชื่อมั่นว่าลูกจะคิดเป็น ตัดสินใจเป็น และแสดงพฤติกรรมอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในยามที่ลูกเติบโตเป็นวัยรุ่น และอยู่ไกลหูไกลตาพ่อแม่แน่นอนการมีความเชื่อมั่นในตัวลูกไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดจากการอบรมสั่งสอนที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง (ถ้าเพิ่งเริ่มทำอาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อย) ยกตัวอย่าง เมื่อลูกของเราไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องไปอยู่หอพัก และหอพักก็อยู่ตรงข้ามกับ “Pup” และสถานบันเทิงอีกมากมายหลายแห่ง ลูกจะแอบไปเที่ยวในที่เหล่านั้นไหม? ลูกจะเอาใจใส่ต่อการเรียนแค่ไหน? เขาจะประพฤติตัวเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไปไหม? (แต่งกายไม่เหมาะสม ไม่สนใจการเรียนเอาแต่เที่ยว ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย ฯลฯ) เราก็เหมือนกับพ่อแม่ทุกคนที่ห่วงลูก วันที่เราไปส่งลูกและสำรวจบริเวณรอบ ๆ หอพักด้วยกัน ก่อนเดินทางกลับและปล่อยให้ลูกอยู่ตามลำพัง ดิฉันและสามีพูดกับลูกว่า “พ่อแม่เชื่อมั่นในตัวลูกว่าลูกจะคิดและทำอย่างถูกต้อง”คำพูดนี้ไม่ใช่เป็น “คำสบประมาท” แต่เป็นคำพูดที่บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นที่เรามีต่อลูกว่าเขารู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี อะไรเหมาะสมอะไรไม่เหมาะสม และรู้ว่าตอนนี้หน้าที่ของเขาคือเรียนหนังสือ (ซึ่งวันนี้เขาเรียนจบแล้วและมีงานที่ดีทำ) หลังจากเทอมแรกเราเคยถามเขาว่าเขาไปในที่ต่าง ๆ เหล่านั้นไหม เขาถามเรากลับว่า “พ่อแม่คิดว่าลูกจะไปไหม” เราตอบเหมือนเดิมว่า “พ่อแม่เชื่อมั่นในตัวลูก” เมื่อเขาเรียนจบแล้วเขาบอกเราว่าตลอด 4 ปีที่อยู่ที่นั่นเขาไม่เคยไปในที่เหล่านั้น และเราก็เชื่อว่าเขาพูดจริงลูกคือคนสำคัญของพ่อแม่ความจริงก็คือลูกคือคนสำคัญและคนพิเศษของพ่อแม่ แต่คุณเคยบอกความจริงข้อนี้กับลูกไหม หรือบอกเขาบ่อยแค่ไหน บางทีคนในสมัยก่อนรู้ถึงคุณค่าของสิ่งนี้ดีจึงมีคำพูดที่เฉพาะเจาะจงเพื่อสื่อความหมายว่าลูกเป็นคนพิเศษ เช่น คนสุพรรณจะเรียกลูกว่า “ไอ้/อีหมา” หมายถึงน่ารักน่าเอ็นดู หรือที่คนอิสานเรียกเด็กผู้ชายว่า “บักหำน้อย” ก็หมายถึงน่ารักน่าเอ็นดูเช่นกันทุก ๆ วันกอดเขาแน่น ๆ และบอกเขาว่า “ลูกเป็นคนสำคัญสำหรับพ่อแม่” เชื่อเถอะมันจะกลายเป็นสายใยความรักความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูกได้อย่างวิเศษพ่อแม่ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็นการเป็นที่ยอมรับของพ่อแม่เป็นอีกคำพูดหนึ่งที่ลูกอยากได้ยิน นักจิตวิทยาบอกว่าเด็กที่ได้รับการยอมรับในช่วงเริ่มแรกของชีวิตจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นคง” แต่แทนที่จะบอกให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ยอมรับเขา พ่อแม่กลับตำหนิและถูกดุด่าว่ากล่าวอยู่เสมอ ๆ หรือไม่ก็นำเขาไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น และรู้สึกโกรธที่ลูกไม่ได้เป็นไปอย่างที่พ่อแม่ต้องการในทางกลับกัน ถ้าพ่อแม่บอกให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นเสมอเพราะเขาเป็นลูกและเป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ คำพูดแบบนี้จะกลายเป็นพลังมหาศาลในความรู้สึกนึกคิดของลูก คำพูดนี้จะเป็นเครื่องรับรองถึงความรักและความเชื่อมั่นที่พ่อแม่มีต่อเขาเมื่อสิ้นเทอมแรก ลูกสาวของเรารายงานผลการเรียนของเขาให้เราทราบ เขาได้เกรด 2 กว่า ๆ เท่านั้น (ในใจของเราทั้งสองรู้สึกตกใจหน่อยที่ได้เกรดแค่นี้) เราบอกกับลูกว่าไม่เป็นไร ขอให้ลูกทำอย่างสุดความสามารถก็พอ ถ้าทำเต็มที่แล้วได้แค่เกรด 2 ก็ไม่เป็นไร และสิ่งที่เราภูมิใจเขาคือ เขาจริงจังกับการเรียนและพยายามอย่างเต็มที่ภายหลังลูกมาบอกว่าคำพูดที่เราแสดงการยอมรับในตัวเขาเป็นกำลังใจอย่างมากทั้งในการเรียนและการใช้ชีวิตของเขาพ่อแม่สนับสนุนลูกเสมอสนับสนุนในที่นี้คือยอมรับการตัดสินใจของลูก ถ้าการตัดสินใจนั้นไม่เป็นเรื่องเสียหาย เป็นเรื่องปกติที่เราและลูกอาจจะมีมุมมองที่ต่างกัน ความชอบไม่เหมือนกัน การสนับสนุนลูกคือการให้เสรีภาพกับเขาในการเลือกและการตัดสินใจ (ในสิ่งที่ถูกต้อง) โดยที่เขาไม่รู้สึกว่าจะทำให้พ่อแม่ผิดหวังและเสียใจดังนั้นจงสื่อสารกับลูกอยู่เสมอ ๆ ว่าคุณสนับสนุนเขาเสมอในสิ่งที่ถูกต้อง บอกเขาว่า “พ่อกับแม่เข้าใจและยอมรับและสนับสนุนลูกเสมอ”พ่อกับแม่ขอโทษการขอโทษลูกอาจจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่จะพูด เพราะเราเป็นพ่อแม่จะขอโทษลูกได้ยังไง “เดี๋ยวลูกก็เสียความนับถือกันพอดี” ดิฉันขออธิบายว่าการขอโทษลูกในความหมายที่ดิฉันพูดถึงคือการยอมรับว่าสิ่งที่เราซึ่งเป็นพ่อแม่คิดหรือตัดสินใจอาจจะไม่ถูก และยอมรับกับลูกว่ามันไม่ถูก การทำแบบนี้จะยิ่งทำให้ลูกนับถือคุณมากยิ่งขึ้น รักและเคารพคุณมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสอนลูกให้รู้จักยอมรับความผิดและขอโทษหากเขาเป็นฝ่ายทำผิดบ้าง คุณกำลังสอนเขาว่าคนเราอาจมีโอกาสที่ทำบางสิ่งบางอย่างผิดพลาด แต่เมื่อทำผิดแล้วก็ต้องยอมรับความผิดลูกเป็น “เด็กดี” ของพ่อกับแม่ถ้าลูกของคุณอยู่ในวัยเด็กเล็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ว่าธรรมชาติของเด็กคือ เด็กทุกคนอยากได้รับคำชมเชยและได้ยินคำยืนยันจากพ่อแม่อีกสักครั้งว่า เขาเป็นลูกที่ดีพอหรือไม่ ดังนั้นหากลูกเป็นเด็กดี มีน้ำใจ น่ารักกับทุกคน พ่อแม่ก็ควรชมเชยลูกบ้างว่า “ลูกเป็นเด็กดีของพ่อและแม่มาก” เพราะการที่เขาได้ยินคำพูดเหล่านี้ มันจะทำให้ลูกเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้นและเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวอีกด้วยจงให้ลูกๆ ได้ยินคำพูดเหล่านี้บ่อย ๆ ดีกว่าที่จะให้เขาได้ยินคำพูดที่ทำร้ายจิตใจ คำดูถูกดูแคลน เช่น ทำไมโง่อย่างนี้ ไม่เห็นจะเหมือนลูกคนอื่นเขาเลย จะบ้าตายมีลูกแบบนี้ ฯลฯขอขอบคุณข้อมูลจาก : วารสารครอบครัว ปีที่ 5 ฉบับที่ 16 โดย จินตนา รักษาศรี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น