คุณค่าของนมแม่หลัง 6 เดือน หรือ 1 ปี

 คุณค่าของนมแม่หลัง 6 เดือน หรือ 1 ปี


ตั้งแต่เขียนบทความเรื่อง "คำถามที่ไม่อยากตอบ" เกี่ยวกับประเด็นนี้ไปแล้ว ก็ตั้งใจว่าจะไม่สู้แล้วกับเรื่องนี้ เพราะรู้สึกว่าพูดไปก็เท่านั้น เอาเวลาไปทำอย่างอื่นน่าจะมีประโยชน์กว่า แต่บังเอิญว่ามีน้องพยาบาลปี 4 มาโพสต์แสดงความเห็นอ้างอิงเชิงวิชาการจากที่เธอได้เรียนมาในบทความ เรื่องนี้ ว่า "....แต่ขอให้เหตุผล นมแม่มีประโยชน์กับลูกสูงสุดในขวบปีแรกอะคะ (ด้านพัฒนาการ/ไอคิวต่างๆ) และหลังจากนั้นแทบจะไม่มีประโยชน์ใดๆ แล้วกับเด็กเล็กๆ..."

ก็ถ้าบุคคลากรที่มีหน้าที่โดยตรงในการให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยังเรียนรู้มาผิดๆ แบบนี้ แล้วแม่ๆ ที่ไม่มีความรู้ จะหันหน้าไปพึ่งใครได้ล่ะคะ

ก่อนที่จะเอาข้อมูลเชิงวิชาการ หรืองานวิจัยมาถกกัน ลองมาใช้สามัญสำนึกธรรมดาๆ พิจารณากันหน่อยดีมั้ยว่า เพราะอะไรนมแม่หลัง 6 เดือน หรือหลัง 1 ปีแล้วถึงไม่มีประโยชน์ หรือหมดคุณค่าอย่างที่ชอบว่ากัน

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าหมา แมว ลิง วัว แพนด้า หรือมนุษย์เอง เมื่อคลอดลูกออกมา ร่างกายของแม่จะผลิตน้ำนมเพื่อเป็นอาหารของลูกอ่อนตามธรรมชาติ เพราะลูกอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดยังไม่สามารถกินอาหารอื่นได้ (ยกเว้นมนุษย์ ที่พยายามจะฝืนธรรมชาติให้ได้ ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น)

นมแม่ที่เป็นอาหารที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิด มีภูมิคุ้มกันและสารอาหารครบถ้วน แปรเปลี่ยนไปตามความต้องการของทารกตามวัยที่เพิ่มขึ้น แต่พอครบหกเดือนปุ๊บกลายเป็นไม่มีประโยชน์ไปในทันทีเลย อยู่ๆ มันก็เปลี่ยนเป็นน้ำเปล่าหรือยังไงคะ มันฟังดูเหลือเชื่อเกินไปหน่อยหรือเปล่า

ถ้าทฤษฎีที่ว่า "เมื่อถึงเวลาใดเวลาหนึ่ง นมแม่จะไม่มีประโยชน์ หรือหมดคุณค่า" นี้เป็นจริง มันก็น่าจะเป็นจริงกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกๆ ชนิดในโลกนี้ด้วย ถูกต้องไหมคะ  ลองคิดดูว่าลูกวัวก็ไม่ได้กินนมวัวไปจนตาย พอมันหย่านม มันก็ไปกินหญ้าแทน เพราะนมแม่วัวไม่มีประโยชน์แล้วเหมือนกันใช่มั้ย หญ้าคงจะมีสารอาหารมากกว่าแน่ๆ มันถึงเปลี่ยนไปกินหญ้า อ้าว! แล้วทำไมสัตว์ที่แสนฉลาดอย่างมนุษย์ถึงยอมให้ลูกตัวเองไปกินนมวัวล่ะ ข้างกระป๋องเขาระบุหรือเปล่าว่าเป็นนมจากแม่วัวที่ให้นมลูกมาแล้วกี่เดือน มันหมดคุณค่าไปแล้วหรือยัง ไม่มีใครสงสัยกันเลยหรือไงคะ

คนที่เชื่อว่านมแม่ไม่มีประโยชน์หลังหกเดือนไปแล้ว แต่เชื่อว่านมวัวมีประโยชน์ตลอดไปไม่ว่าจะนานแค่ไหนนี่ ใช้ตรรกะข้อไหนมาคิดก็ไม่รู้นะคะ

มนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นสิ่งมีชีวิตชั้นสูงที่สุด มีวิวัฒนาการมากกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ  จากลิงเป็นคนที่ว่าใกล้เคียงกัน ก็ยังห่างกันเยอะ ไม่ต้องพูดถึงวัว ที่เป็นสัตว์สี่เท้าเลยว่าวิวัฒนาการห่างจากคนแค่ไหน แล้วทำไมนมคน หมดคุณค่าหลังหกเดือนไปแล้ว แต่นมวัวไม่หมดคุณค่า คิดยังไงๆ ก็ไม่เห็นน่าเชื่อเลยสักนิดเดียว

พระพุทธเจ้าสอนเรื่องหลักกาลามสูตรนี่เอามาใช้ได้เลยนะ อย่าเชื่อเพราะคนพูดเป็นหมอ เป็นครู เป็นอาจารย์ เป็น webmother ก็อย่าเพิ่งเชื่อด้วยเหมือนกัน เพราะบางทีก็มั่วๆ เอา :)

ใครพูดอะไรมา ก่อนจะเชื่อ ลองใช้สติปัญญาพิจารณานิดนึงค่ะ

พอน้องนักศึกษาพยาบาลเอาครูอาจารย์ เอาตำรามาอ้างก็เลยต้องไปค้นหาอะไรมาอ้างบ้าง กลัวแม่ที่ให้นมลูกอยู่แถวนี้จะไม่เชื่อ พาลูกไปกินนมวัวเสริม เพราะคิดว่านมแม่ไม่มีประโยชน์กันหมด

ในแง่ของสารอาหารในนมแม่นั้น จากงาน วิจัยต่างๆ พบว่า

หลังจากหนึ่งปีไปแล้ว (12-23 เดือน) ในน้ำนมแม่ปริมาณ 15 ออนซ์ ให้สารอาหารกับทารกในสัดส่วนดังนี้

    * 29% ของ พลังงาน ที่ทารกต้องการต่อวัน
    * 43% ของ โปรตีน ที่ทารกต้องการต่อวัน
    * 36% ของ แคลเซียม ที่ทารกต้องการต่อวัน
    * 75% ของ vitamin A ที่ทารกต้องการต่อวัน
    * 76% ของ โฟเลต ที่ทารกต้องการต่อวัน
    * 94% ของ vitamin B12 ที่ทารกต้องการต่อวัน
    * 60% ของ vitamin C ที่ทารกต้องการต่อวัน


ตารางสารอาหารในนมแม่เปรียบเทียบตามระยะเวลา


คราวนี้มาดูในเรื่องของภูมิคุ้มกันบ้าง

ในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด ในนมแม่ที่เราเรียกว่า Colostrum หรือน้ำนมเหลืองนั้น มีปริมาณภูมิคุ้มกันสูงมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่ทารกแรกคลอดทุกคนจะต้องได้รับน้ำนมนี้ ในช่วง 1-24 เดือนหลังจากนั้น สัดส่วนของภูมิคุ้มกันจะเปลี่ยนแปลงไป บางตัวลดลง บางตัวเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้หายหรือหมดไปเลย

ปริมาณส่วนประกอบของภูมิคุ้มกันในนมแม่เทียบตามระยะเวลา




    *  จากข้อมูลของ  Iowa State University Extension Service พบว่า ในนมแม่ปริมาณ 1 ช้อนชา มีเซลส์ที่ฆ่าเชื้อโรคถึง 3,000,000 เซลส์ เพราะฉะนั้น แม้ลูกจะได้กินนมแม่แค่วันละ 1 ช้อนชา ก็ยังมีคุณค่าอยู่ดี
    * The American Academy of Family Physicians บอกว่า เด็กที่หย่านมแม่ก่อนสองปี มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น (AAFP 2001)
    * พบว่าเด็กที่ยังกินนมแม่อยู่ในวัย 16-30 เดือน มีการเจ็บป่วยน้อยกว่า และระยะเวลาที่เจ็บป่วยนั้นน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ (Gulick 1986)
    * มีภูมิคุ้มกันจำนวนมหาศาลในนมแม่ ตลอดระยะเวลาที่แม่ยังให้นมอยู่ ภูมิคุ้มกันบางชนิดในนมแม่ กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำในปีที่สอง หรือในช่วงของการหย่านม(Nutrition During Lactation 1991; p. 134) (Goldman 1983, Goldman & Goldblum 1983, Institute of Medicine 1991)
    * องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า "อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เพิ่มขึ้น สามารถช่วยป้องกันการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบได้ถึง 10%  การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง และบางครั้งก็ได้รับการยอมรับน้อยเกินไปในแง่ของการรักษาและป้องกันการเจ็บป่วยของเด็ก"

 
เห็นไหมคะว่าเวลาที่ผ่านไป ไม่ได้ทำให้คุณค่าและประโยชน์ของนมแม่ลดลงเลย สิ่งที่ลดลงคือปริมาณนมแม่ที่ร่างกายผลิตได้ต่างหาก ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติค่ะ เพราะไม่มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดไหนที่ดำรงชีวิตด้วยการกินนมไปจนตาย

เราเริ่มอาหารอื่นให้กับทารกในวัยหกเดือน เพราะระบบการย่อยอาหารของร่างกายเขาเริ่มพัฒนาได้แล้ว สัญญานที่บ่งบอกชัดเจน คือเริ่มมีฟันขึ้น เพื่อใช้ในการบดเคี้ยวอาหารอื่น หลังจากหกเดือนเราจึงค่อยๆ ให้อาหารอื่นเพิ่มขึ้น ตามปริมาณนมแม่ที่เริ่มจะลดลง Dr. Jack Newman จึงแนะนำว่าหลังหกเดือนไปแล้ว ถ้าปริมาณนมแม่ลดลง ทำยังไงๆ แล้วก็ยังน้อยอยู่ ให้ทารกกินอาหารเสริมปริมาณเพิ่มขึ้นแทน แล้วให้พยายามกินนมแม่ต่อไป ไม่ใช่เสริมด้วยนมผสมนะคะ

ตามธรรมชาติแล้ว ถ้าลูกยังคงดูดนมแม่อย่างต่อเนื่อง น้ำนมแม่ก็จะไม่หมด อาจจะน้อยลงตามระยะเวลา แต่ไม่หมด แล้วก็ยังมีคุณค่าอยู่เต็มเปี่ยมค่ะ หลังหนึ่งปีไปแล้ว แม่ส่วนใหญ่ก็จะปั๊มนมได้น้อยลง ไม่ต้องกังวลค่ะ เป็นธรรมชาติ ลูกได้ดูดนมแม่วันละสามสี่ครั้ง ร่วมกับอาหารเสริมที่เหมาะสมก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงไปกินนมผสมเลย   

หวังว่าคุณนักศึกษาพยาบาลปีสี่ จะเปลี่ยนความคิด และหยุดบอกใครๆ ว่า นมแม่หลังหนึ่งปี มีแต่ประโยชน์ทางด้านอารมณ์ เป็นแค่อาหารใจ ไม่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต หรือพัฒนาการได้แล้วนะคะ

 หมายเหตุ *สารอาหารหรือภูมิคุ้มกันเหล่านี้ แสดงให้เห็นเฉพาะส่วนที่สำคัญๆ เพื่อนำมาเปรียบเทียบให้ดูเท่านั้นนะคะ ในความเป็นจริงแล้ว นมแม่ยังคงมีส่วนประกอบต่างๆ อีกเป็นร้อยชนิด ทั้งที่ค้นพบแล้ว และค้นไม่พบอีกมากค่ะ

ขอขอบคุณ ข้อมูลอันมีค่าจาก breastfeedingthai.com

ความคิดเห็น