โรคภูมิแพ้จมูกในเด็ก (Allergic rhinitis)

ทำไมคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ถึงมักจะจามบ่อยๆ นะ...การจามเป็นหนึ่งในอาการโรคภูมิแพ้ชนิดที่เรียกกันว่า โรคภูมิแพ้จมูก (Allergic Rhinitis) หรือว่า "แพ้อากาศ" นั่นเอง เป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น มากกว่า 80% ของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ มีอาการก่อนอายุ 20 ปี แต่ก็สามารถพบได้ในคนทุกวัย โรคภูมิแพ้จมูกนี้มีอาการเรื้อรัง สร้างความรำคาญให้แก่ผู้ป่วย, ผู้ปกครอง และอาจเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ เช่น ไซนัสอักเสบ, หูชั้นกลางอักเสบ
 
        ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จมูกจะมีปฏิกิริยาตอบสนองไวเกินต่อสารก่อภูมิแพ้ เมื่อใดก็ตามที่มีสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย จะมีสารที่ชื่อว่า อิมมูโนโกลบูลินอี (Immunoglobulin E; IgE) ถูกสร้างขึ้นมาและเข้าทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ที่หายใจเข้าไป เป็นผลให้เซลล์บางชนิดภายในจมูก มีการแตกตัวและหลั่งสารเคมีออกมาทำให้เกิดการอักเสบ และมีอาการต่าง ๆ ของโรคตามมา
 
ใครบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้จมูก

        กรรมพันธุ์ ถ้าพบว่าบิดาหรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้สูงถึง 50% และถ้าทั้งบิดาและมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นเพิ่มขึ้นถึง 70% และมักจะมีอาการเร็ว
       

        สิ่งแวดล้อม สารก่อภูมิแพ้มักจะเป็นสารที่เด็กได้รับเข้าไป ซึ่งอาจเป็นจากการหายใจ สัมผัส รับประทาน หรือฉีดเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งแบ่งเป็น

สารก่อภูมิแพ้ในบ้าน เช่น ฝุ่น, ไรฝุ่น, แมลงสาบ, รังแคหรือขนของแมวและสุนัข, เชื้อราในอากาศ, ควันบุหรี่


สารก่อภูมิแพ้นอกบ้าน เช่น ละอองหญ้า, เกสรดอกไม้, ฝุ่นละออง, ควันจากรถยนต์, ควันไฟจากการหุงต้มอาหาร, ก๊าซพิษ


ปัจจัยอื่นๆ เช่น ทารกที่ได้รับนมมารดาเพียงอย่างเดียวเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน พบว่ามีโอกาสเกิดภูมิแพ้น้อยลง, ทารกที่ได้รับอาหารเสริมตั้งแต่อายุ 4 เดือนมีโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้มากกว่าทารกที่ไม่ได้รับอาหารเสริมถึง 3 เท่า
 

 



อาการของโรค 
        ผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จามบ่อย คันในจมูก และมีเสมหะไหลลงคอ โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นตลอดปี หรือเพียงบางฤดูกาลก็ได้ โดยเฉพาะฤดูฝนหรือฤดูหนาว บางรายอาจมีอาการทางตาร่วมด้วย เช่น คันตา เคืองตา ตาบวม น้ำตาไหล อันเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุภายในตา ที่เรียกว่า Allergic conjunctivitis
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการเฉพาะบางเวลา เช่น ตอนเช้าหรือกลางคืน ประมาณวันละ1-2 ชั่วโมง
 
 
อาการของโรคนี้ต่างจากอาการหวัดอย่างไร
         อาการของโรคภูมิแพ้จมูกมักมีอาการเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ อาการเด่น คือ น้ำมูกใส จาม และคัดจมูก คันจมูก บางครั้งอาจมีคันตาร่วมด้วย โดยมักไม่มีไข้ อาจมีอาการไอเรื้อรังด้วย เนื่องจากมีเสมหะไหลลงคอทำให้ระคายคอ หากมีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วยครั้งนั้นน่าจะเป็นหวัดมากกว่า นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จมูก มักมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคในกลุ่มโรคภูมิแพ้ด้วย เช่นโรคภูมิแพ้จมูก, โรคหอบหืด, แพ้อาหาร, ลมพิษเรื้อรัง, ผื่นแพ้ 
 
 
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคภูมิแพ้จมูก
โรคไซนัสอักเสบ (Sinisitis)  ไซนัส คือ   โพรงอากาศที่อยู่ในกระดูกบริเวณใกล้จมูกมีส่วนท่อต่อกับจมูก ทำให้อากาศผ่านเข้าออกได้ เมื่อเยื่อบุภายในจมูกบวมอักเสบ จะทำให้ท่อต่อนี้อุดตัน เกิดการติดเชื้อในโพรงไซนัส เกิดเป็นโรคไซนัสอักเสบ โดยมีอาการปวดบริเวณไซนัส ปวดศีรษะ น้ำมูกเขียว บางครั้งมีเสมหะไหลลงคอ


หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media) ผู้ป่วยมีอาการปวดหู หูอื้อ ถ้าเป็นเรื้อรังอาจมีหนองไหลออกจากหูเนื่องจากมีเยื่อแก้วหูทะลุ


นอนกรน (snoring) ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จมูกจะมีเยื่อบุจมูกบวม บางครั้งอาจมีต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โตร่วมด้วย
มีผลทำให้ช่องทางเดินหายใจถูกอุดกั้น และมีอาการกรนเกิดขึ้น ถ้าอาการรุนแรงอาจมีหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ขณะนอน ออกซิเจนต่ำ และมีผลต่อสมอง ทำให้เด็กสมาธิสั้น ส่งผลต่อพฤติกรรมและการเรียนรู้ได้
การรักษาและการป้องกัน
 
 
        ในครอบครัวที่ทารกมีโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ ควรส่งเสริมให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมมารดาเพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน

        เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ได้แก่ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่, ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนาน 30 นาที ความถี่ 3-4 ครั้ง/ สัปดาห์

        ควรดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดี ห้องนอนควรใช้เครื่องนอนที่เหมาะสม ไม่ควรใช้หมอนหรือที่นอนที่ทำจากนุ่น และควรหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำ งดใช้พรม ไม่สะสมหนังสือ ของเล่นหรือตุ๊กตาที่มีขนในห้องนอน ทำความสะอาดที่นอน หมอน ผ้าห่มเป็นประจำ โดยใช้การซักด้วยน้ำร้อน 60 องศา นาน 15-20 นาที เพื่อฆ่าตัวไรฝุ่น และตากแดดให้แห้ง ควรทำความสะอาด ดูดฝุ่น เช็ดถูพื้นเรือน ผ้าม่าน และทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศเป็นประจำ งดการสูบบุหรี่ในบ้าน ไม่ควรใช้แป้งฝุ่น สเปรย์ปรับอากาศ และยาจุดกันยุง อาจเลือกใช้ผ้าใยสังเคราะห์พิเศษเพื่อคลุมที่นอนและหมอน เพื่อป้องกันไรฝุ่น หรือใช้เครื่องกรองอากาศชนิดที่เป็น HEPA Filter

        ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขนในบ้าน เช่น แมว, สุนัข กำจัดขยะและเศษอาหารต่างๆ ควรมีฝาปิดมิดชิดเพื่อป้องกันแมลงสาบ และหลีกเลี่ยงสารระคายเคือง เช่น ท่อไอเสียรถยนต์

        กรณีที่พยายามหลีกเลี่ยง และพยายามออกกำลังกายแล้วอาการยังมีอยู่แนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางและรับการรักษา
 
  
 
 
 
 
ที่มา http://www.vejthani.com/web-thailand/Allergic-rhinitis.php
โดย พญ.มนิณทร วรรณรัตน
กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ
โรงพยาบาลเวชธานี
 


 

ความคิดเห็น