[บทความ] ทำไมถึงเข้าใจว่านมไม่พอ

 ทำไมถึงเข้าใจว่านมไม่พอ


สวัสดีค่ะ
 
หายหน้าหายตาไปนานมากๆ เลยค่ะคราวนี้  หลังจากหลบไปชาร์จแบตเกือบสองอาทิตย์ก่อนสงกรานต์ ก่อนไปก็ตั้งใจว่ากลับมาหยุดสงกรานต์จะเขียนเรื่องใหม่ลงเว็บ เสียที  แต่ปรากฎว่าพอกลับมา งานหลวงก็กองอยู่พะเนิน กว่าจะจัดการเรียบร้อยก็หมดแรง  หลังจากนั้นก็เกิดอาการ writer's block หมดมุข หมดมู้ด ไปเลย ไม่รู้จะจับต้นชนปลายตรงไหนดีค่ะ

ใช้เวลาตั้งสติเกือบเดือน ก็เริ่มจะมีมู้ดขึ้นมาบ้าง   เรื่องที่จะคุยกันคราวนี้ ได้มาจากข้อมูลที่แม่ๆ ทั้งหลายส่งมาจากหน้า workshop เพิ่มน้ำนมค่ะ  ความจริง work shop นี้ควรจะปิดไปตั้งแต่ลงบทความเรื่อง "นมแม่ ถ้าเข้าใจยังไงก็พอ" ไปแล้ว  เพราะถ้าใครก็ตาม ได้ลองตั้งใจอ่านบทความนั้นแบบจริงๆ จังๆ ร่วมกับบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายในเว็บ  ก็น่าจะมีความเข้าใจและสามารถแก้ปัญหาเรื่องนมไม่พอ ของตนเองได้ในระดับที่เหมาะสมกับเงื่อนไขของแต่ละครอบครัวได้ไม่ยากแล้ว

แต่ปรากฎว่าปริมาณอีเมล์ที่ส่งมา ร่วม workshop นี้ไม่ได้ลดลงเลย  แสดงให้เห็นว่ายังมีคุณพ่อคุณแม่อีกไม่น้อยทีเดียวที่ยังคง "ไม่เข้าใจ" นมแม่ก็เลยยัง "ไม่พอ" อยู่นั่นเอง  อาจจะเป็นเพราะไม่ได้อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง อย่างตั้งใจมากพอ  หรือไม่มีเวลาที่จะตั้งใจอ่านอย่างจริงจัง เพราะต้องรีบไปดูแลลูก หรือเราอาจจะเขียนไม่รู้เรื่อง  ทำให้คนอ่านไม่เข้าใจ  หรือคิดว่าส่งมาก่อน เผื่อมีทางลัด ปิ๊ง! อยู่ดีๆ นมแม่ก็มาจากไหนไม่รู้ เพียงพอในบัดดล จะเพราะอะไรก็ไม่รู้  รู้แต่ว่าที่เคยคิดว่าจะเลิกพูดเรื่องนี้แล้ว คงเลิกไม่ได้  ท่าจะต้องพูดเรื่องนี้กันต่อไปอีกนาน  เพราะตราบใดที่ยังคงมีแต่ความรู้ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เต็มไปหมดแบบนี้  พ่อแม่มือใหม่ทั้งหลายก็คงต้องประสบปัญหา "นมไม่พอ" กันไม่จบไม่สิ้นเสียที

ลองมาดูตัวอย่างของ "ความไม่เข้าใจ" กันค่ะ

    * ตอนนี้ลูกอายุครบสิบวันแล้วแต่ยังมีนมไม่พอให้ลูกกินเลยค่ะ ถ้าปั๊มมือออกมาได้ยังไม่ถึงครึ่งออนซ์เลย กลุ้มใจมากค่ะ
    * น้ำ นมไม่พอทำให้ลูกตื่นบ่อย พยายามให้ลูกทานนมแม่ แต่รู้สึกว่าไม่พอ เพราะเค้าทานซักพักจะโมโห ดิ้นๆๆ แล้วก็ร้องไห้คะ เลยบางทีต้องชงนมมาให้ แต่ตอนนี้รู้สึกว่าลูกไม่ชอบทานนมผสมเลยคะ พอให้ทานก็พุ้ยๆ ออกมา แต่พอ ให้เค้าทานนมแม่ เค้าก็ดูดๆ แต่เราไม่มีนมให้เค้าทานคะ เค้าก็จะร้องโยเย กลุ้มใจมากคะ
    * น้ำนมไม่พอทำให้ลูกตื่นบ่อย ลูกอายุ 1 เดือนครึ่ง
    * ลูก สาวอายุได้ 42 วันแล้ว ทีแรกก็ไห้แต่นมแม่แต่คิดว่าลูกร้องบ่อยคงหิวไม่อิ่มเลยไห้นมผสมด้วยเลยทำ ไห้น้ำนมน้อยลงมาก ตอนนี้คิดแล้วรู้สึกเสียใจว่าไม่น่าไห้ลูกกินนมผสมเลยจะทำยังไงดีค่ะ ช่วยที


คงเป็นเพราะเราถูกสะกดจิตทางสมองโดยไม่รู้ตัวจากข้อมูลแอบแฝงเหล่านี้

"นมแม่เป็นอาหารที่ดี่ที่สุดสำหรับทารก  หากนมแม่ไม่พอให้ใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก" 

เมื่ออ่านอย่างผิวเผิน เราก็คิดว่าข้อความนี้สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ใช่ไหมคะ  แต่ในความเป็นจริงมันถูกโปรแกรมเข้าไปในสมองคนอ่านไปพร้อมๆ กันว่า "นมแม่ไม่พอ เป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นจึงต้องเตือนกันไว้ว่า ถ้าไม่พอ ก็ให้ใช้นมผสมแทนได้"  เชื่อไหมว่าเคยมีคุณพ่อท่านหนึ่งโทรมาปรึกษาเรื่องนมแม่  คุยกันไปคุยกันมาสักพัก แล้วคุณพ่อท่านนั้นถามว่า "มีด้วยหรือ คนไทยที่มีนมพอ โดยไม่ต้องใช้นมผสมน่ะ"

ตารางการผสมนม
อายุ 0-2 สัปดาห์ ใช้นมผสม 3 ช้อนตวง น้ำสุก 3 ออนซ์ จำนวน 6-7 มื้อต่อวัน

เหมือนกันเลยค่ะ  อ่านแล้วก็ไม่เห็นมีอะไร แค่บอกวิธีใช้และเตรียมนมธรรมดา  แต่สมองเรามันรับรู้อะไรจากข้อมูลนี้โดยไม่รู้ตัวบ้าง  มันทำให้เราเข้าใจว่าเด็กจะต้องกินนมครั้งละ 3 ออนซ์ ทุก 3-4 ช.ม. เพราะฉะนั้นเมื่อลูกดูดนมแม่ทั้งวัน ดูดบ่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น  แสดงว่านมไม่พอ  อ๊ะ  ไม่แน่ใจ ไหนลองบีบหรือปั๊มออกมาดูซิ  ตายแล้ว! ไม่ถึงครึ่งออนซ์เลย  แบบนี้จะพอได้ไง

เวลาที่มีใครๆ บอกว่านมไม่พอ ปั๊มออกมาได้ไม่ถึงออนซ์ นี่  เมื่อถูกถามกลับว่า "แล้วคุณคิดว่าควรจะต้องปั๊มได้เท่าไหร่ ถึงจะพอ" คำตอบมีตั้งแต่

"ไม่รู้เหมือนกัน"
"สองออนซ์มั้ง"
"สามออนซ์หรือเปล่า"
"อย่างน้อยก็น่าจะสี่ออนซ์"


เห็นไหมคะว่าทั้งๆ ที่คุณทั้งหลายก็ไม่รู้ว่า "พอ" หรือ "ไม่พอ" นี่มีตัวเลขที่แท้จริงหรือเปล่า แล้วถ้ามี มันเท่าไหร่กันแน่  ทั้งๆ ที่ไม่รู้นี่ล่ะค่ะ  แต่ทุกคนก็คิดตรงกันหมดว่ามัน "ไม่พอ"

พอจะเขียนเรื่องนี้ ก็เลยต้องกลับไปรื้อคู่มือเลี้ยงลูกหลายๆ เล่มที่มีอยู่  แล้วก็ลองอ่านดูใหม่  ทำให้เห็นเลยว่าคู่มือทั้งหลายที่มีอยู่ในบ้านเราทุกวันนี้ ร้อยละ 95 (ประมาณเอาเองค่ะ) เป็นคู่มือสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมผสม  แม้จะมีคำแนะนำในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยก็ตาม  ก็เป็นคำแนะนำที่ขัดกับความเป็นจริง ซึ่งทำให้พ่อแม่มือใหม่ทั้งหลาย ที่ไม่ได้ขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม หลงทิศหลงทาง และล้มเหลวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ง่ายๆ  ทั้งๆ ที่ก็ตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกินร้อยแท้ๆ ก็เพราะคำแนะนำในการกำหนดปริมาณการกินของนมผสมนี่ละค่ะ ตัวดีเลย

การจะตัดสินว่านมแม่พอหรือไม่พอ นั้น เราสามารถดูได้จากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของเด็ก  แต่เนื่องจากเครื่องชั่งต้องละเอียด อาจจะวัดได้ยาก ก็สามารถดูได้จากจำนวนครั้งของการปัสสาวะ และอุจจาระแทน (อ่านเพิ่มเติม เรื่อง นมแม่พอหรือไม่  )

การปั๊มหรือบีบนมออกมาวัดนั้นสร้าง ความเข้าใจผิดอย่างแรงทีเดียว  เพราะการบีบหรือปั๊มนมนั้นเป็น Skill ที่ต้องใช้การฝึกฝนและทำเป็นประจำ  ปริมาณน้ำนมที่จะบีบหรือปั๊มได้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น

เริ่มบีบหรือปั๊มตั้งแต่เมื่อไหร่ การบีบหรือปั๊มในช่วงสัปดาห์แรกๆ หลังคลอด หรือคนที่ไม่เคยปั๊มมาก่อนเลยนั้น ในช่วงแรกอาจจะได้เพียงแค่ติดก้นขวดหรือไม่กี่หยด ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เมื่อฝึกฝนบ่อยๆ บีบหรือปั๊มทุกวัน ปริมาณก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ประสิทธิภาพของอุปกรณ์ที่ใช้ก็มีผลกับปริมาณน้ำนมที่ปั๊มได้เช่นกัน การที่บีบหรือปั๊มออกมาได้นิดหน่อย ไม่ได้หมายความว่าในเต้านมคุณมีนมอยู่แค่นั้น (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การบีบน้ำนม และ การปั๊มนม)

แล้วปริมาณน้ำนมที่ลูกต้องการล่ะเท่าไหร่กันแแน่

คนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ฉลาด ที่สุด  แต่ความฉลาดนี้ดูเหมือนจะกลายเป็นปัญหาเมื่อนำมาใช้กับเรื่องที่ควรจะเป็น ธรรมชาติอย่าง การเลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง  ถ้าคนไม่คิดประดิษฐ์อาหารอื่นเพื่อทดแทนนมแม่อย่างนมผสมขึ้นมาเพื่อค้ากำไร  เราก็คงไม่มีทางเลือกอื่น  นอกจากให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่แรกคลอดโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก

กระเพาะของเด็กแรกเกิด ที่มีน้ำหนักตัวเพียงแค่ 2-3 กก. มีขนาดเพียงแค่ลูกกอล์ฟ  มันบรรจุอะไรไม่ได้มากค่ะ  เพราะเพิ่งจะเปิดโรงงาน ต้องค่อยๆ รับทีละน้อย หัดย่อย หัดดูดซึมอาหารง่ายๆ ไม่มีสิ่งแปลกปลอมอย่างนมแม่ ปริมาณน้ำนมที่ลูกดูดเข้าไปแรกๆ อาจจะแค่ไม่กี่หยด หรือไม่กี่ช้อนชา  ลูกต้องการปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยๆ  เพื่อฝึกฝน เมื่อร่างกายลูกเริ่มปรับตัวได้ ลูกจะดูดได้ปริมาณมากขึ้น ร่างกายแม่ก็จะผลิตน้ำนมมากขึ้นตามความต้องการของลูก ระยะห่างในการดูดอาจจะน้อยลง ทั้งนี้ต้องไม่มีการแทรกแซงจากนมผสมนะคะ 

ลองดูสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิด อื่นๆ อย่างเช่น หมา แมว  เวลาที่มันคลอดลูกใหม่ๆ  แม่มันจะกกอยู่กับลูกทั้งวันทั้งคืน นัวเนียกันอยู่แบบนั้น  เคยมีใครไปนั่งนับบ้างมั้ยคะว่า ลูกหมามันดูดนมแม่วันละกี่ครั้ง ครั้งละกี่นาที แม่มันเดินมาบอกเจ้าของหรือเปล่าว่า ลูกมันร้องงี๊ดๆ ทั้งวันเลย  มันสงสัยว่าลูกมันอาจจะไม่อิ่ม นมมันอาจจะไม่พอ เจ้านายช่วยไปโลตัสซื้อเอนฟาด็อกให้กระป๋องนึง

หมาแม่ลูกอ่อนมันจะนอนเอกเขนก ลูกหมาแต่ละตัวก็จะเลือกเต้าที่ตัวเองต้องการ ดูดๆ จนพอใจแล้วก็หยุด นอนอยู่ข้างๆ เดี๋ยวๆ ก็ลุกมาดูดใหม่ ร้องงี๊ดๆ ทั้งวัน  ตั้วนั้นดูด ตัวนี้นอน คลุกเคล้าคลอเคลียกัน 24 ชั่วโมง  แม่หมามันไม่มีบ่นนะคะ "เอ๊ะ ก็เพิ่งจะกินไปหยกๆ  จะมาดูดอะไรอีกล่ะเนี่ย"

แล้วคนเราเลี้ยงลูกด้วยนมกันแบบไหน

"ลูกดูดนมตลอดทั้งวันเลยค่ะ เพิ่งจะดูดไปแป๊บเดียว ร้องอีกแล้ว ไม่ยอมนอน แม่ไม่มีเวลาทำอะไรเลย"

แล้วคุณแม่อยากจะทำอะไรคะในเวลา นี้  ตลอดเวลาเก้าเดือนที่เฝ้าหวัง เฝ้ารอจะได้เห็นหน้าลูก อยากจะรู้ว่าหน้าตาเหมือนใคร น่ารักขนาดไหน พยายามจัดเตรียมสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อลูก เท่าที่กำลังทรัพย์แต่ละคนจะอำนวย  พอลูกออกมาให้เชยชมแล้ว จะอยากเอาเวลาไปทำอะไรกันเอ่ย

มีคุณแม่โทรมาบ่นว่าไม่มีเวลาทำ อะไรเลย ถามได้ความว่าลูกเพิ่ง 10 วัน ทำธุรกิจส่วนตัว อยากจะเอาเวลาไปทำงานบ้าง ขอให้โยนให้คุณพ่อไปเลยนะคะ เรื่องอื่นๆ ทั้งหลาย ไม่ต้องไปพะวงค่ะ ให้คนอื่นจัดการค่ะ  เพราะแม่ลูกอ่อนก็มีหน้าที่สำคัญมากกว่าคือ ดูแลลูกค่ะ  อยู่กับลูก 24 ช.ม เรื่องอื่นๆ อีก 3 เดือนค่อยว่ากันค่ะ

 

การที่ลูกร้องเป็นเรื่องผิดปกติที่ เกิดขึ้นเป็นปกติ  เป็นสัญญาณที่บอกถึงการมีตัวตนและชีวิตของเขา บอกถึงความต้องการของตนเอง  ร้องเพราะหิว ร้องเพราะไม่สบายตัว ร้องเพราะมีลมในท้อง ร้องเพราะต้องการความอบอุ่น ความปลอดภัย ร้องเพราะกลัวหรือไม่ชอบพฤติกรรมที่ถูกกระทำบางอย่าง เช่น เปลี่ยนผ้าอ้อม อาบน้ำ

เด็กที่เกิดใหม่ๆ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับร่างกายเขาหลายอย่าง  จากที่เคยนอนสงบสุขอย่างอบอุ่นอยู่ในท้องแม่  ได้รับอาหารและอากาศในการดำรงชีวิตผ่านสายสะดือ  เมื่อต้องออกมาเผชิญชีวิตด้วยตัวเองในโลกภายนอก ต้องเปลี่ยนระบบการทำงานของร่างกาย ต้องหายใจทางจมูก ต้องกินทางปาก ต้องใช้ระบบย่อยอาหารของตัวเอง ต้องพบเจอกับสิ่งต่างๆ มากมายที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น เมื่ออยู่ในท้องแม่

ลองนึกถึงตัวเราเองตอนไปโรงเรียน ครั้งแรก  เปลี่ยนที่ทำงานใหม่  แต่งงานมาอยู่รวมกับครอบครัวแฟน ฯลฯ  กลัวมั้ยคะ กังวลหรือเปล่า ลูกก็เหมือนกันค่ะ เขาต้องการการปรับตัวเป็นอย่างมากถึงมากที่สุด  เป็นไปไม่ได้ที่ลูกจะกิน นอนเป็นเวลา  อย่างที่เราต้องการ  แบบนั้นต้องเลี้ยงตุ๊กตาของเล่นค่ะ  ไม่ใช่ของจริง

ถ้าเราพยายามคิดถึงการเลี้ยงลูก อย่างเป็นธรรมชาติ  เราก็จะไม่วิตกกังวลจนเกินเหตุ  ไม่ต้องดูกฎเกณฑ์อะไรมากมาย  เมื่อเวลาผ่านไป ทุกอย่างก็จะเข้าที่เข้าทางโดยไม่รู้ตัวค่ะ

ปิดท้ายด้วยตัวอย่างที่อ่านเจอมาจากเว็บของคุณ Diane Wiessinger อ่านแล้วก็ต้องอมยิ้มค่ะ คุณไดแอนบอกให้ดู  ลิง และม้า เป็นตัวอย่าง   เวลาที่แม่ลิงมันจะเอื้อมมือไปเอากล้วย  ถ้าลูกยังอยู่กับตัวแล้วไม่ถนัด มันก็จะวางลูกก่อน แล้วก็ไปเอากล้วยที่ตัวเองต้องการ  เมื่อได้แล้ว ถ้าลูกลิงร้อง ก็อุ้มลูกมาดูดนมใหม่ ถ้าไม่ร้องก็แล้วไป  มันไม่สนใจหรอกว่าเอ๊ะ ลูกชั้นกำลังดูดนมอยู่ ยังไม่ถึงสิบนาทีเลย อิ่มหรือยัง ต้องรอให้ดูดให้เสร็จก่อนหรืออะไร   ส่วนแม่ม้าก็เช่นกัน ถ้ามันคิดว่าหญ้าที่มันกำลังกินอยู่นี้ไม่อร่อย  ตรงโน้นน่ากินกว่า  มันก็เดินไปเลย  ลูกที่กำลังดูดนมอยู่ก็ปากหลุดจากเต้า เดินตามไป  พอแม่ม้าได้ที่หญ้าถูกใจยืนนิ่งๆ เมื่อไหร่  ลูกม้าก็ตามมาดูดนมต่อ

คุณไดแอนบอกว่า ให้ลืมกฏเกณฑ์ทุกสิ่งทุกอย่างแล้วชีวิตจะดีขึ้นค่ะ  คุณแม่หิวก็ไปกินข้าวค่ะ อยากอาบน้ำก็ไปอาบน้ำ ไม่ต้องมาพะวักพะวงว่าลูกจะอิ่มหรือเปล่า กินเสร็จหรือยัง ฝากให้คนอื่นอุ้มไปก่อน เค้าอยากอุ้มกันทั้งบ้านอยู่แล้วค่ะ  ถึงลูกร้องบ้างก็ปกติ  (ไม่ต้องบอกนะคะว่าลูกตัวเอง ร้องไม่เหมือนใคร ร้องโมโหไม่ยอมจริงๆ นะ ร้องแผดเสียงเหมือนจะเป็นอะไรก็ไม่รู้  ลูกใครๆ ก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้นค่ะ ไม่มีเด็กคนไหนร้องไห้จนเป็นอันตรายถึงชีวิตหรอกค่ะ)  กินข้าว อาบน้ำเสร็จก็กลับมาดูกันใหม่  อยากดูดนมอีกมั้ย อยากดูดก็มาดูดกัน ถ้าไม่ดูดก็แล้วไปค่ะ

ที่มา : http://www.breastfeedingthai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=405117&Ntype=7

ความคิดเห็น