การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว

การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว หลังคลอดลูก หากคุณแม่ให้นมลูกเอง นน.จะลงมาเป็นปกติภายใน 1-6 ด.โดยไม่ต้องซื้อคอร์สลดนน.ราคาแพง หรือ ซื้อยาลดนน.จากอินเตอร์เนทที่เป็นอันตรายมากิน โดยมีข้อแม้ว่า ตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน คุณแม่ควรควบคุมน้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์ให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 10-12 กก.ตลอดการตั้งครรภ์ โดยที่ 3 ด.แรก น้ำหนักต้องไม่ขึ้นเลย 3 ด.ถัดมาขึ้น 6 กก. และ 3 ด.สุดท้ายขึ้น 6 กก. ใครที่นน.ขึ้นเกินจากนี้ ไม่ดีนะคะ อย่าคิดว่าตอนท้องเป็นช่วงโปรโมชั่น อยากกินอะไรก็กินได้ตามใจอยาก อ้วนได้ไม่มีใครกล้าว่า แล้วคิดกินเพื่อลูก โด๊ปอาหารก่อภูมิแพ้เข้าไปมากมาย นมวัวเอย ผลิตภัณฑ์นมวัวเอย ทั้งชีส เค้ก ไอศครีม นมถั่วเหลืองซื้อมาเป็นลังๆ ไข่กินวันละหลายๆฟอง ขนมนมเนยทุกชนิด ปลาแซลมอนทุกมื้อ ผลที่ตามมา คือ แม่อ้วนทำให้เสี่ยงต่อเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ลูกเสี่ยงกับภาวะแพ้โปรตีนกลุ่มเสี่ยง พอคลอดลูกเสร็จ ก็ยังกินบำรุงน้ำหนักต่อ โดยคิดว่าจะทำให้ผลิตน้ำนมได้เยอะ ผลที่เกิดขึ้นคือ น้ำหนักส่วนเกินยังคงอยู่สะสมในร่างกาย แต่น้ำนมไม่ได้เพิ่มขึ้น (ดังรูปบน) เพราะปริมาณน้...

นมพอหรือไม่ นมไม่พอ ...จริงเหรอจ๊ะ

 นมพอหรือไม่


ลูกกินนมได้มากเพียงพอหรือเปล่า

คุณแม่ที่ให้ลูกกินนมตัวเองมักจะมีคำถามอยู่บ่อยๆ ว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกกินนมได้มากเพียงพอ เนื่องจากเต้านมของคนเราไม่ใช่ขวดนม เราจึงไม่สามารถยกเต้านมขึ้นส่องกับไฟ เพื่อดูว่าลูกกินนมไปได้กี่ออนซ์ ประกอบกับสังคมของเราก็เป็นสังคมที่หมกมุ่นอยู่กับตัวเลข มันจึงเป็นเรื่องยาก ที่จะให้บรรดาคุณแม่ทำใจรับได้กับการไม่สามารถวัด หรือระบุได้อย่างแม่นยำว่าลูกกินนมไปเท่าไร อย่างไรก็ตามเรามีวิธีการหลายวิธี ที่จะช่วยให้รู้ว่าลูกกินนมได้มากพอหรือเปล่า ในระยะยาวการเพิ่มน้ำหนักตัวเป็นสิ่งที่ชี้วัดได้ดีที่สุด แต่อย่าลืมว่าเกณฑ์การเพิ่มน้ำหนักตัวที่เหมาะสม สำหรับทารกที่กินนมผสม อาจจะไม่ใช่เกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับทารกที่กินนมแม่

 
วิธีที่จะช่วยให้รู้ว่าลูกกินนมได้มากพอ

1. การดูดนมของทารกมีลักษณะเฉพาะ
 เด็กทารกที่กินนมได้มากพอ จะมีการดูดนมจากอกแม่ในลักษณะพิเศษเฉพาะ ในขณะที่เด็กทารกกินนมได้ (ไม่ใช่ แค่เพราะเขามีเต้านมอยู่ในปากและทำท่าดูด) คุณจะต้องเห็นว่าหลังจากที่เขาอ้าปากและดูดนมได้ปริมาณมากพอ จะต้องมีการหยุดเคลื่อนไหวตรงปลายคางก่อนที่เขาจะปิดปาก ดังนั้นการดูดนม 1 ครั้ง คือ อ้าปากกว้าง --> หยุด --> ปิดปาก

ถ้าคุณต้องการจะสาธิตการดูดแบบนี้ด้วยตัวเอง ให้ลองเอานิ้วชี้ใส่ปากตัวเอง และดูดนิ้วเหมือนกับดูดน้ำจากหลอดกาแฟ ขณะที่คุณดูดเข้าไป คางของคุณจะลดต่ำลงและค้างอยู่ในตำแหน่งนั้นไปเรื่อยๆ เมื่อคุณหยุดดูด คางของคุณจะกลับมาที่ตำแหน่งเดิม ถ้าคุณสังเกตเห็นการหยุดเคลื่อนไหวแบบนี้ที่บริเวณคางของลูก นั่นหมายความว่า ลูกของคุณดูดนมได้จนเต็มปากของเขาในการดูดแต่ละครั้ง ยิ่งมีการหยุดเคลื่อนไหวนานเท่าไร ทารกก็ยิ่งดูดนมได้มากเท่านั้น

เมื่อคุณเข้าใจการดูดนมที่มีการหยุดเคลื่อนไหวของคางแบบที่ว่านี้แล้ว คุณก็ไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับคำแนะนำไร้สาระต่างๆ ที่บอกต่อๆ กันมาเกี่ยวกับการให้ลูกกินนมแม่  เช่น ต้องให้ลูกดูดนมจากเต้านมข้างละ 20 นาที ทารกที่ดูดนมในลักษณะนี้ (มีการหยุดเคลื่อนไหวคาง) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 20 นาที อาจจะไม่ยอมดูดนมอีกข้างหนึ่งเลยด้วยซ้ำ ในขณะที่เด็กทารกที่อมหรือตอดหัวนมอยู่ 20 ชั่วโมง (โดยไม่ได้กินนม) ก็จะยังรู้สึกหิวอยู่หลังจากแม่ให้นมเสร็จแล้ว เว็บไซต์ Dr.Jack (เลือกหัวข้อ Pause in chin) มีวิดีโอแสดงการหยุดเคลื่อนไหวคางของทารกในระหว่างดูดนม



2. อุจจาระของทารก ช่วงสองสามวันแรกหลังคลอด ทารกจะถ่ายอุจจาระเป็นสีเขียวเข้มหรือเกือบดำที่เรียกว่ามีโคเนียม (meconium) ทารกจะสะสมมีโคเนียมไว้ในช่องท้อง ในระหว่างที่อยู่ในครรภ์แม่ และจะถ่ายมันออกมาในช่วง 1-2 วันแรก เมื่อถึงวันที่ 3 อุจจาระควรจะสีอ่อนลง หลังจากที่เด็กได้กินนมแม่เพิ่มขึ้น ตามปกติเมื่อถึงวันที่ 5 อุจจาระควรจะมีลักษณะเหมือนอุจจาระที่เกิดจากนมแม่แล้ว อุจจาระจากนมแม่จะค่อนข้างเหลวจนถึงเป็นน้ำ สีเหลืองมัสตาร์ด และมักจะมีกลิ่นเล็กน้อย อย่างไรก็ตามลักษณะของอุจจาระอาจแตกต่างไปจากนี้มากก็ได้ มันอาจจะเป็นสีเขียวหรือสีส้ม อาจมีคราบน้ำนมหรือเมือกปนอยู่ด้วย หรืออาจจะเป็นฟองคล้ายครีมโกนหนวด (เนื่องจากฟองอากาศ) ความแตกต่างของสีสันไม่ได้แสดงว่ามีสิ่งผิดปกติ สำหรับทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียว และเริ่มถ่ายอุจจาระที่มีสีอ่อนลงในวันที่ 3 นั่นหมายความว่าเขามีอาการปกติดี
 
การสังเกตความถี่และปริมาณการถ่ายอุจจาระของลูก (โดยไม่หมกมุ่นหรือวิตกกังวลกับมันมากเกินไป) เป็นหนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดในการดูว่าลูกกินนมได้มากพอหรือเปล่า (รองจากการสังเกตวิธีการดูดนมที่กล่าวไปแล้วข้างต้น) หลังจากผ่านไป 3-4 วัน ทารกควรจะถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้น และเมื่อถึงหนึ่งสัปดาห์เขาควรจะถ่ายอุจจาระอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อวัน โดยอุจจาระควรจะเป็นสีเหลือง ยิ่งไปกว่านั้นทารกส่วนใหญ่มักจะอุจจาระใส่ผ้าอ้อมทุกครั้ง ที่แม่ให้กินนม ถ้าหากลูกยังคงถ่ายออกมาเป็นมีโคเนียมในวันที่ 4 หรือ 5 คุณแม่ควรจะพาไปหาหมอภายในวันเดียวกัน ทารกที่ถ่ายอุจจาระออกมาเป็นสีน้ำตาลอย่างเดียว อาจจะหมายความว่าเขากินนมไม่ได้มากพอ แต่นี่ก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่เชื่อถือสักเท่าไร

ทารกที่กินนมแม่บางคน หลังจากผ่านไปประมาณ 3-4 สัปดาห์ จู่ๆ อาจจะเปลี่ยนเวลาการถ่ายอุจจาระจากวันละหลายๆ ครั้ง ไปเป็น 1 ครั้งทุกๆ 3 วันหรือห่างกว่านั้น  ทารกบางคนอาจจะยืดเวลาไปถึง 15 วันหรือมากกว่าโดยไม่มีการถ่ายอุจจาระเลย ตราบเท่าที่ทารกยังมีอาการอื่นๆ เป็นปกติดี และอุจจาระที่ถ่ายออกมายังคงเป็นสีเหลืองและมีลักษณะเหลวนุ่ม ก็ไม่ถือว่าเขามีอาการท้องผูก และไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกกังวลแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องพาลูกไปพบแพทย์เพื่อบำบัดรักษา เพราะไม่มีความจำเป็นต้องบำบัดรักษาอาการที่เป็นปกติดี

สำหรับทารกอายุตั้งแต่ 5-21 วันที่ไม่ได้ถ่ายอุจจาระปริมาณมากๆ อย่างน้อย 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมง ควรถูกพาไปพบผู้เชี่ยวชาญที่คลินิกนมแม่ในวันเดียวกัน โดยทั่วไปการถ่ายอุจจาระปริมาณน้อยๆ และไม่บ่อย ในช่วงอายุเท่านี้จะเป็นการแสดงว่าทารกกินนมได้ไม่เพียงพอ  แน่นอนว่ามีข้อยกเว้นสำหรับข้อสังเกตนี้ บางทีทารกก็อาจจะปกติดี แต่จะเป็นการดีกว่าถ้าเขาได้รับการตรวจเช็คจากผู้เชี่ยวชาญ

3. ปัสสาวะ หลังจากทารกอายุประมาณ 4-5 วัน ถ้าเขาฉี่จนผ้าอ้อมเปียกชุ่ม 6 ผืนใน 24 ชั่วโมง (เน้นว่าเปียกชุ่ม ไม่ใช่แค่เปียกๆ) คุณแม่สามารถจะแน่ใจได้ค่อนข้างมากว่าลูกกินนมได้มากเพียงพอ (ในกรณีที่ให้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว) อย่างไรก็ตามผ้าอ้อมสมัยใหม่ แบบใช้แล้วทิ้งที่โฆษณาว่าซูเปอร์ดราย มักจะให้สัมผัสที่ค่อนข้างแห้ง ถึงแม้ว่าจะกักเก็บปัสสาวะไว้จนเต็มแผ่น แต่ผ้าอ้อมที่เต็มไปด้วยปัสสาวะจะต้องหนัก แน่นอนว่าการสังเกตปริมาณปัสสาวะนี้ ใช้ไม่ได้ในกรณีที่คุณแม่ให้ลูกกินน้ำเพิ่มเติม นอกเหนือจากการให้กินนมแม่ (ซึ่งการให้กินน้ำเพิ่มเติม ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับทารกที่กินนมแม่เลย ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม และยิ่งถ้าคุณแม่ให้ลูกกินน้ำโดยใช้ขวด มันก็อาจจะไปรบกวนหรือส่งผลกระทบกับการดูดนมแม่อีกด้วย) หลังจากผ่านไปสามสี่วัน ปัสสาวะของทารกควรจะจางลงจนแทบไม่มีสี แต่การมีปัสสาวะที่สีเข้มขึ้นเป็นครั้งคราว ก็ไม่ใช่เรื่องต้องวิตกกังวลแต่อย่างใด

หลังจากมีอายุได้ 2-3 วัน ทารกบางคนอาจจะปัสสาวะเป็นสีชมพูหรือแดง นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องตื่นตระหนกและไม่ได้หมายความว่าทารกขาดน้ำ ยังไม่มีใครรู้สาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น หรือว่ากระทั่งว่ามันเป็นสิ่งผิดปกติหรือเปล่า แน่นอนว่ามันเกี่ยวข้องกับการกินนมปริมาณน้อยกว่าของเด็กกินนมแม่ เปรียบเทียบกับเด็กที่กินนมผสม แต่เด็กที่กินนมผสม ก็ไม่ใช่เกณฑ์มาตรฐานที่จะนำมาใช้ตัดสินเด็กที่กินนมแม่ อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดมีปัสสาวะที่มีสีเช่นนี้ขึ้น คุณแม่ควรจะใส่ใจกับการทำให้ลูกงับหัวนมได้ดี และทำให้เขาสามารถกินนมได้ในระหว่างที่ดูดนมจากเต้านม ช่วงวันแรกๆ ทารกต้องรู้จักที่จะงับหัวนมของแม่ได้ เขาจึงจะสามารถกินนมแม่ได้

การให้ทารกกินน้ำจากขวด, ถ้วย หรือจากปลายนิ้ว จะไม่ช่วยแก้ปัญหานี้ แต่จะแค่ช่วยให้ทารกออกจากโรงพยาบาลได้ เพราะปัสสาวะของเขาไม่เป็นสีแดงแล้ว การแก้ไขวิธีการที่ทารกงับหัวนมและการบีบหน้าอก มักจะแก้ปัญหานี้ได้ (ดูแผ่นพับ B เรื่อง วิธีการเพิ่มปริมาณการกินนมแม่ให้กับทารก) แต่ถ้าหากว่าการแก้ไขวิธีการงับหัวนม และการบีบหน้าอกไม่ทำให้ทารกกินนมได้มากขึ้น ก็ยังมีวีธีอื่นๆ ที่จะทำได้ทารกได้รับของเหลวมากขึ้นโดยไม่ต้องใช้ขวดนม (ดูแผ่นพับที่ 5 เรื่องการใช้อุปกรณ์เสริมการให้นมหรือ lactation aid) นอกจากนี้การจำกัดระยะเวลาหรือความถี่ในการให้นม ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทารกกินนมได้น้อยลงด้วยเหมือนกัน

 
ข้อสังเกตเหล่านี้ไม่ใช่วิธีการที่ดีในการตัดสินว่าลูกกินนมได้มากพอหรือไม่

1.      คุณแม่ไม่มีอาการคัดเต้านม เป็นเรื่องปกติสำหรับคุณแม่ส่วนใหญที่ จะไม่รู้สึกคัดเต้านมในระยะสองสามวันแรก หรือกระทั่งสัปดาห์แรกหลังคลอด  ร่างกายของคุณแม่จะปรับตัวตามความต้องการของลูก การเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะเกิดขึ้นอย่างค่อนข้างฉับพลัน คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่บางคน สามารถให้นมลูกได้อย่างปกติดีไปตลอด โดยไม่เคยมีอาการคัดเต้านมเลย

2.      ลูกนอนหลับได้ตลอดทั้งคืน อาจจะไม่ได้หมายความว่าทารกกินนมจนอิ่มพอเสมอไป ทารกอายุ 10 วันที่นอนหลับได้ตลอดทั้งคืน อาจจะไม่ได้รับนมมากเพียงพอ ทารกที่ง่วงนอนมากเกินไปจนต้องถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมากินนม หรือทารกที่ “เลี้ยงง่าย” ไม่ร้องงอแงเลย ก็อาจจะไม่ได้รับนมมากเพียงพอ แน่นอนว่าอาจจะมีข้อยกเว้นในเรื่องนี้ แต่คุณแม่น่าจะขอคำแนะนำจากแพทย์โดยเร็ว

3.      ลูกร้องไห้งอแงหลังจากให้นมเสร็จแล้ว แม้ว่าทารกอาจจะร้องไห้หลังจากกินนมเพราะยังไม่อิ่ม แต่ก็อาจจะมีสาเหตุอื่นที่ทำให้ทารกร้องไห้งอแงด้วย (เช่น อาการโคลิก ดูแผ่นพับที่ 2 เรื่องอาการโคลิกในทารกที่กินนมแม่) อย่าจำกัดระยะเวลาในการให้นม ควรให้ลูกกินนม “ให้หมด” ข้างแรกก่อน แล้วจึงเปลี่ยนให้เขาไปกินอีกข้างหนึ่ง

4.      ลูกกินนมบ่อย หรือ กินนมเป็นระยะเวลานาน สำหรับคุณแม่คนหนึ่ง การให้ลูกกินนมทุกๆ 3 ชั่วโมงอาจจะเรียกว่าบ่อย แต่สำหรับคุณแม่อีกคนหนึ่งการให้นมทุก 3 ชั่วโมงอาจจะห่างเกินไป สำหรับคุณแม่คนหนึ่งการให้ลูกกินนมนาน 30 นาทีอาจจะถือว่านาน แต่กับคุณแม่อีกคนหนึ่งอาจจะถือว่าไม่นาน ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าควรจะให้นมลูกนานเท่าไรหรือบ่อยแค่ไหน มันไม่เป็นความจริงที่ว่าทารกจะกินนม 90% ของปริมาณที่กินได้ในแต่ละครั้งในช่วง 10 นาทีแรก ปล่อยให้ลูกเป็นคนกำหนดตารางการกินนมของเขาเอง ถ้าทารกสามารถดูดและกินนมจากเต้านมได้ และถ่ายอุจจาระเป็นสีเหลืองปริมาณมากๆ อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อวัน ก็แสดงว่าทุกสิ่งทุกอย่างราบรื่นดี อย่าลืมว่าคุณอาจจะให้นมลูกนาน 2 ชั่วโมง แต่ถ้าเขาได้กินนมหรือดูดนม (โดยมีการ “อ้าปากกว้าง – หยุด – ปิดปาก”) จริงๆ เพียงแค่ 2 นาที เขาก็จะยังรู้สึกหิวอยู่ดี ถ้าทารกผล็อยหลับไปอย่างรวดเร็วในระหว่างให้นม คุณแม่สามารถบีบหน้าอกเพื่อช่วยให้น้ำนมไหลอย่างต่อเนื่องได้ ถ้าคุณแม่ยังมีความวิตกกังวล ก็อาจขอคำปรึกษาจากคลีนิกนมแม่ได้ แต่ยังไม่ควรเริ่มให้นมเสริมในทันที ถ้าหากว่าการให้นมเสริมเป็นสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ก็ยังมีการให้อาหารเสริมวิธีอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้จุกนมยาง 

5.      “ฉันปั๊มนมได้แค่ครึ่งออนซ์” เรื่องนี้ไม่มีความหมายอะไรเลย และมันไม่ควรจะส่งผลกระทบอะไรกับคุณด้วย ดังนั้นคุณแม่ไม่ควรจะปั๊มนมเพียงเพราะต้องการจะรู้ว่าจะได้น้ำนมปริมาณเท่าไร คุณแม่ส่วนใหญ่มีน้ำนมมากมายเพียงพอ แต่ปัญหามักเกิดจากการที่ทารกไม่สามารถกินนมที่คุณแม่มีอยู่ได้ต่างหาก ซึ่งอาจเกิดจากเขาไม่สามารถงับหัวนมได้อย่างถูกต้อง หรือเขาไม่สามารถดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ ทั้งสองอย่าง ปัญหาเหล่านี้มักจะแก้ไขได้อย่างง่ายดาย

6.      ทารกยังจะกินนมขวดต่อหลังจากกินนมแม่แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าเขายังหิวอยู่เสมอไป และไม่ใช่วิธีการทดสอบที่ดีด้วย เนื่องจากการให้กินนมขวดอาจจะไปรบกวนการกินนมจากอกแม่

7.      จู่ๆ ทารกวัย 5 สัปดาห์ก็ดึงตัวเองออกจากเต้านมแม่ แต่ก็ยังมีทีท่าว่าหิวอยู่ นี่ไม่ได้หมายความว่า น้ำนมของคุณแม่กำลังจะแห้ง หรือมีปริมาณลดลงแต่อย่างใด ในช่วงสัปดาห์แรกๆ ระหว่างที่คุณแม่ให้นม ทารกมักจะผล็อยหลับไป เวลาที่น้ำนมไหลช้าลง ถึงแม้ว่าเขาจะยังกินไม่อิ่ม แต่เมื่อเขาโตขึ้น (ประมาณ 4-6 สัปดาห์) เขาจะไม่ผล็อยหลับในระหว่างกินนมเหมือนเดิมแล้ว แต่จะดึงตัวเองออกจากเต้านมหรือแสดงอาการหงุดหงิดแทน ปริมาณน้ำนมของคุณแม่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่พฤติกรรมของลูกต่างหากที่เปลี่ยน คุณแม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยการบีบหน้าอกเพื่อช่วยเพิ่มการไหลของน้ำนม 


หมายเหตุเกี่ยวกับตาชั่งและน้ำหนัก

1. ตาชั่งแต่ละเครื่องมีความแตกต่างกัน เรามีหลักฐานมากมายที่แสดงว่าตาชั่งแต่ละเครื่องแตกต่างกันอย่างมาก บ่อยครั้งที่มีการจดน้ำหนักผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง นอกจากนี้ผ้าอ้อมที่เปียกชุ่มอาจจะหนัก 250 กรัม (หรือ 1/2 ปอนด์) หรือมากกว่า ดังนั้นควรชั่งน้ำหนักทารกโดยไม่ใส่ผ้าอ้อม หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมผืนใหม่ก่อนชั่งน้ำหนัก

2. กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเพิ่มน้ำหนักตัว ส่วนใหญ่นำมาจากการสังเกตการเจริญเติบโตของเด็กที่กินนมผสม กฎเกณฑ์เหล่านี้อาจจะใช้ไม่ได้ในเด็กที่กินนมแม่ แม้ว่าทารกที่กินนมแม่จะมีการเพิ่มน้ำหนักอย่างช้าๆ ในช่วงแรก แต่เราสามารถชดเชยในภายหลังได้ โดยการแก้ไขวิธีการให้ลูกกินนมแม่ให้ถูกต้องขึ้น ตารางแสดงพัฒนาการของการเจริญเติบโต ควรใช้เป็นเพื่อเป็นแนวทางเท่านั้น


แผ่นพับที่ 4 - ลูกกินนมได้มากเพียงพอหรือเปล่า (สิงหาคม 2549) แปลและเรียบเรียงโดย นิจวรรณ ตั้งวิรุฬห์ จาก Handout #4.Is My Baby Getting Enough? Revised January 2005 Written by Jack Newman, MD, FRCPC. © 2005

ขอขอบคุณ ข้อมูลอันมีค่าจาก breastfeedingthai.com

ความคิดเห็น