นำลูกเข้าเต้าแบบไหน...ไม่เจ็บหัวนมและลูกได้น้ำนมดี ?

นำลูกเข้าเต้าแบบไหน...ไม่เจ็บหัวนมและลูกได้น้ำนมดี ?
เขียนโดย พญ.ปิยาภรณ์ บวรกีรติขจร   


ท่านำลูกเข้าเต้า
ปัญหาเรื่องนมแม่ส่วนใหญ่เกิดจากการที่แม่ให้นมผิดท่า  ซึ่งจะทำให้ไม่ถนัด  ลูกอมลานนมไม่ลึกพอ  หัวนมแม่แตก  แม่เครียด  น้ำนมไม่เพียงพอสำหรับลูก  ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่ไม่สิ้นสุด  การเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้องในท่าการให้นมแต่แรกนั้นจะทำให้ตัดวงจรปัญหาเรื่องนมแม่ ถ้าเมื่อไรที่คุณแม่รู้สึกเจ็บหัวนมเวลาให้ลูกดูด แสดงว่าวิธีเอาลูกเข้าเต้าไม่ถูกต้อง จะทำให้น้ำนมไหลเข้าปากลูกได้น้อย  ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน
 
วิธีนำลูกเข้าเต้าเพื่อให้ลูกอมงับลานนม 
(ถ้าใช้ท่าอุ้มขวางตักแบบประยุกต์ จะช่วยให้ลูกเข้าเต้าได้ดี)

-  ใช้มือประคองเต้านม โดยให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบน เหนือขอบนอกของลานหัวนม  ส่วนนิ้วที่เหลือประคองเต้านมด้านล่าง (ไม่ควรใช้ท่าแบบนิ้วคีบบุหรี่ เพราะช่องว่างระหว่างนิ้วจะแคบ ทำให้ลูกอมได้ไม่ลึกพอ  และนิ้วอาจจะกดบริเวณท่อน้ำนม ทำให้น้ำนมไหลไม่ดี)

-  อุ้ม ลูกโดยใช้มืออีกข้างประคองที่ต้นคอและท้ายทอย (ไม่กดที่ใบหู) ลูกเงยหน้าเล็กน้อย เคลื่อนลูกเข้ามาโดยให้คางของลูกเข้ามาชิดกับเต้านมส่วนล่าง (สังเกตว่าจังหวะนี้จมูกของลูกจะอยู่ตรงกับหัวนมแม่) ลูกก็จะเริ่มอ้าปาก ถ้าลูกไม่อ้าปาก ให้ใช้หัวนมเขี่ยริมฝีปากล่างของลูกเบาๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกอ้าปาก


-  รอ จนลูกอ้าปากกว้าง (เหมือนหาว) จึงเคลื่อนศีรษะลูกเข้าหาเต้านมอย่างรวดเร็วแต่นุ่มนวลก่อนที่ลูกจะเริ่มหุบ ปากลง จะไม่ใช้วิธีโน้มตัวแม่เพื่อนำเต้านมเข้าหาลูก


-  ให้ลูกอมงับถึงลานนม โดยให้อมลานนมส่วนล่างมากกว่าลานนมส่วนบน ให้คางลูกแนบชิดกับเต้านมส่วนล่าง  วิธี นี้จะช่วยให้ลิ้นของลูกยื่นออกมารีดน้ำนมจากเต้าแม่ได้ดีขึ้น และจมูกของลูกจะอยู่ห่างออกจากเต้าแม่เล็กน้อย คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะหายใจไม่สะดวก

การอุ้มลูกเข้าเต้าอย่างถูกต้อง นอกจากจะช่วยให้แม่ไม่เจ็บหัวนมแล้ว ยังทำให้ลูกดูดนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

วิธีสังเกต...ลูกอมงับลานนมได้ดีแล้วหรือยัง    
หากคุณแม่ไม่มั่นใจว่าจัดท่าให้นมลูกได้ถูกต้องหรือไม่ ให้สังเกตง่ายๆ ในขณะที่ลูกเข้าเต้าได้แล้ว (เมื่อมองจากด้านบนลงไป) ดังนี้

1. ลูกอมลานนมด้านล่างได้มากกว่าด้านบน ซึ่งจะสังเกตเห็นว่ายังมองเห็นลานนมด้านบน ในขณะที่ลานนมด้านล่างถูกปากลูกอมจนมิดหรือเกือบมิด 
2. ปากลูกอ้ากว้างแนบสนิทกับเต้านมแม่ 
3. ริมฝีปากล่างบานออกเหมือนปากปลา 
4. คางลูกต้องแนบชิดเต้านมแม่


คุณแม่บางคนจะใช้นิ้วกดที่เต้านมบริเวณใกล้จมูกของลูก เพราะเกรงว่าลูกจะหายใจไม่ออก แต่โดยธรรมชาติของเด็ก ปีกจมูกจะบานออก เต้านมของแม่จะไม่ปิดช่องหายใจ ลูกจะหายใจได้ (ยกเว้นแม่ที่เต้านมใหญ่มาก) ซึ่งคุณแม่จะสังเกตได้จากการที่ลูกยังดูดนมได้  การใช้นิ้วกด เช่นนั้น จะทำให้ปากลูกอมได้ไม่ลึกพอ เหงือกของลูกจะไปกดที่หัวนม และลิ้นของลูกก็จะถูไปมาที่บริเวณหัวนม ทำให้หัวนมเจ็บและแตกได้

ที่มา : ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยค่ะ

ความคิดเห็น