ร่วมคิด ร่วมทำ สร้าง“มุมนมแม่”ยั่งยืน !!

 ร่วมคิด ร่วมทำ สร้าง“มุมนมแม่”ยั่งยืน !!


ย้ำ ลงทุนน้อย แต่ผลลัพธ์มหาศาล



เมื่อ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา ณ ห้องแกรนด์ ฮอลล์ 1 โรงแรมรามาการ์เด้น ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ร่วมกับ กองสวัสดิการแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบการณ์อย่างยั่งยืน เพื่อสานต่อโครงการมุมนมแม่ฯ และกระตุ้นจิตสำนึกของทุกฝ่ายให้เห็นความสำคัญของนมแม่ โดยมีผู้ร่วมงานเกือบ 200 คนจากตัวแทนสถานประกอบการ รวมทั้งหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง

           นายปกรณ์ อมรชีวัน รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า  การ จัดมุมนมแม่ขึ้นในสถานประกอบการณ์ เป็นจุดเริ่มต้นการสร้างสุขภาพที่ดีให้กับเด็ก เริ่มจากการให้ลูกดื่มนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนแรก แม้ว่าแม่จะเป็นสาวทำงานก็ตาม ซึ่งปัจจุบันได้มีสถานประกอบการในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่เข้า ร่วมโครงการกว่า 100 แห่งแล้ว แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวในโครงการนี้อย่างชัดเจน

          แพทย์หญิงยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าว่า ตอนนี้กระแสมุมนมแม่กำลังมาแรง และยังมีบรรดาสถานประกอบการณ์อื่นๆอีกที่แสดงความสนใจ ซึ่งเราก็กำลังดำเนินการผลักดัน โดยจากจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ พบว่ามีสถานประกอบการจำนวน 17 แห่งที่ผ่านมาตรฐานและประสบความสำเร็จในการจัดมุมนมแม่แล้ว จึงจัดงานนี้ขึ้นเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจของการจัดมุมนมแม่  ซึ่ง เป็นพื้นฐานในการที่จะสร้างโครงการนี้อย่างยั่งยืน และเพื่อให้สถานประกอบการต่างๆที่เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความ รู้และประสบการต่อกันเพื่อนำไปพัฒนามุมนมแม่ของตนต่อไป

            แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์โรงพยาบาล BHN กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเด็กแรกเกิดช่วงอายุ 0-1.6 ปีนั้น ต้องมาพบแพทย์บ่อยครั้งก็ด้วยเรื่องของสุขภาพร่างกาย โดยเด็กเหล่านี้ ป่วยง่าย ไม่แข็งแรงส่วนหนึ่งเป็นเพราะการถูกเลี้ยงด้วยนมผงหรือนมชนิดอื่นๆ มีความเข้าใจผิดว่านมผงมีประโยชน์ตามโฆษณา อีกทั้งแม่ไม่มีเวลาให้นมลูกต้องออกไปทำงานนอกบ้าน การให้ลูกรับประทานนมผงจึงเป็นเรื่องที่แม่ส่วนใหญ่นิยม

           “ทางที่ดีแล้วการให้ลูกรับประทาน “นมแม่” เป็น สิ่งเดียวที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับลูกได้ จึงอยากให้ทุกส่วนในสังคมเข้าใจ และให้ความสำคัญในเรื่องนี้โดยการจัดมุมนมแม่ขึ้นในสถานประกอบการอย่างจริง จัง”  แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กล่าว

            ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ ผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว ว่า การจัดทำมุมนมแม่ เพื่อรองรับแม่ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองสามารถเข้าไปใช้บริการง่ายทำ ได้ไม่ยาก เพียงแค่สถานประกอบการแบ่งพื้นที่เล็กๆ มิดชิด อากาศถ่ายเทสะดวก มีโซฟานั่ง โต๊ะวางอุปกรณ์ และตู้เย็นสำหรับแช่น้ำนมไว้ก็เพียงพอแล้ว เป็นการลงทุนน้อย แต่ผลลัพธ์กลับมามหาศาล อยากให้ทุกสถานประกอบการณ์ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น

            ด้านนายไพโรจน์ พุ่มประสาท ผู้แทนบริษัท แมรีกอท จิวเวอรี่ (ประเทศไทย) บริษัทตัวอย่างในการจัดมุมนมแม่ที่ประสบความสำเร็จ กล่าว ว่า 1 ปีที่ผ่านมาได้มีการสรุปผลพฤติกรรมแม่ที่ใช้บริการมุมนมแม่ และไม่ใช้ พบว่า จำนวนวันลาของแม่ที่ใช้มุมนมแม่เก็บนมให้ลูกมีเพียงอัตราวันลาพักร้อนคนละ 2 วันเท่านั้น ส่วนแม่ที่ไม่เข้าร่วมทุกคนจะใช้วันลากิจ ลาป่วย และลาพักร้อนเต็มอัตรา ซึ่งจากการสอบถามสาเหตุส่วนใหญ่พบว่า “ลูกป่วย” จึง ต้องหยุดดูแลลูกหรือพาลูกไปโรงพยาบาล เห็นชัดเจนว่านอกจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะทำให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรงกว่า เด็กที่ไม่ได้ดื่มนมแม่แล้วยัง สถานประกอบการยังมีจำนวนแม่ลางานลดลงทำงานเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

          แพทย์หญิงยุพยง ยัง กล่าวอีกว่า ผู้ที่สนใจสามารถและติดต่อและขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย อาคารสถาบันฯ ชั้น 11 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 420/8 ถ.ราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ 02-354-8333 ต่อ 5220 อยากเห็นทุกฝ่ายร่วมมือกันแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการจำนวนการจัด“มุมนมแม่” ขึ้นในสถานประกอบการ เพื่อสร้างโอกาสที่ดีของเด็กไทยต่อไป


ประมวลภาพ









เรื่องโดย : พรรณปพร ศรีเจริญ Team content www.thaihealth.or.th

ความคิดเห็น