การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว

การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว หลังคลอดลูก หากคุณแม่ให้นมลูกเอง นน.จะลงมาเป็นปกติภายใน 1-6 ด.โดยไม่ต้องซื้อคอร์สลดนน.ราคาแพง หรือ ซื้อยาลดนน.จากอินเตอร์เนทที่เป็นอันตรายมากิน โดยมีข้อแม้ว่า ตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน คุณแม่ควรควบคุมน้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์ให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 10-12 กก.ตลอดการตั้งครรภ์ โดยที่ 3 ด.แรก น้ำหนักต้องไม่ขึ้นเลย 3 ด.ถัดมาขึ้น 6 กก. และ 3 ด.สุดท้ายขึ้น 6 กก. ใครที่นน.ขึ้นเกินจากนี้ ไม่ดีนะคะ อย่าคิดว่าตอนท้องเป็นช่วงโปรโมชั่น อยากกินอะไรก็กินได้ตามใจอยาก อ้วนได้ไม่มีใครกล้าว่า แล้วคิดกินเพื่อลูก โด๊ปอาหารก่อภูมิแพ้เข้าไปมากมาย นมวัวเอย ผลิตภัณฑ์นมวัวเอย ทั้งชีส เค้ก ไอศครีม นมถั่วเหลืองซื้อมาเป็นลังๆ ไข่กินวันละหลายๆฟอง ขนมนมเนยทุกชนิด ปลาแซลมอนทุกมื้อ ผลที่ตามมา คือ แม่อ้วนทำให้เสี่ยงต่อเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ลูกเสี่ยงกับภาวะแพ้โปรตีนกลุ่มเสี่ยง พอคลอดลูกเสร็จ ก็ยังกินบำรุงน้ำหนักต่อ โดยคิดว่าจะทำให้ผลิตน้ำนมได้เยอะ ผลที่เกิดขึ้นคือ น้ำหนักส่วนเกินยังคงอยู่สะสมในร่างกาย แต่น้ำนมไม่ได้เพิ่มขึ้น (ดังรูปบน) เพราะปริมาณน้...

สาระดี ๆ เรื่องนมแม่ : เคล็ดไม่ลับเข้าใจนมแม่แบบง่าย ๆ

 

สาระดี ๆ เรื่องนมแม่ : เคล็ดไม่ลับเข้าใจนมแม่แบบง่าย ๆ

โดย แม่บี มามี๊ต่าต๋า แห่งเวปนมแม่ค่ะ

1.คลอดที่โรงพยาบาลที่สนับสนุนนมแม่ (จริงๆ)
รพ.ที่สนับสนุนนมแม่จะให้ลูกและแม่ได้เจอกันหลายครั้งใน 1 วัน เพื่อให้ลูกดูดกระตุ้นให้ร่างกายแม่สร้างน้ำนม  รพ.ที่เสริมนมผงให้ลูกโดยที่ไม่มีเหตุจำเป็น ไม่ได้สนับสนุนนมแม่อย่างแท้จริง (ขอให้สอบถามกับโรงพยาบาลก่อนซื้อแพคเกจคลอดบุตรว่า แม่และลูกพบกันเพื่อดูดนมวันละกี่ครั้ง)

2.เชื่อมั่นในนมแม่และร่างกายของตนเอง
นมของแม่ทุกคน มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิดแต่ไม่มีใครโฆษณาให้ญาติผู้ใหญ่ฟัง คุณแม่ควรศึกษาให้เข้าใจบ้าง และนำเอกสาร/แผ่นพับกลับบ้านเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิกครอบครัว เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน

3. คลอดธรรมชาติ ถ้าเป็นไปได้ เพราะร่างกายแม่จะฟื้นตัวเร็ว
แม่ที่ผ่าคลอดก็สามารถให้นมแม่ได้ แต่ควรใช้เทคนิคอุ้มลูกด้วยท่าที่ไม่กดทับแผลผ่าคลอด

4. 3 ด. (ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี) หลังคลอดจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมเร็ว

ดูดทันทีหลังคลอดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างน้ำนม  ดูดสม่ำเสมอทุกๆ 2 ชม และ เมื่อลูกดูด ให้อมลึกถึงลานนม ถ้าดูดถูกวิธี แม่ไม่ต้องทนเจ็บปวด

หัวนมเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด ถ้าลูกอมลึกถึงลานนมจะรีดน้ำนมออกได้มาก แม่จะไม่รู้สึกเจ็บ หลังให้นมแม่ ใช้นมแม่ทาหัวนมและผึ่งให้แห้ง ช่วยสมานแผลหรือลดความระบมได้

5. หัวนมสั้น ไม่ใช่อุปสรรค
หากเต้านมคัดตึงและดึงให้หัวนมสั้นลงอีก จะทำให้ลูกงับนมได้ไม่ลึก ให้บีบน้ำนมออกโดยให้บีบรอบๆ ลานนม (หรือเครื่องปั๊ม)  เมื่อหัวนมอ่อนนุ่มและแหลมขึ้น ลูกจะงับได้ง่ายขึ้น

6. นมแม่ต้องฝึกฝน
จะสำเร็จได้ แม่ต้องฝึกอุ้มและสังเกตุลูก ส่วนลูกก็ต้องเรียนรู้ในการดูดเต้าแม่

7. เลือกพบกุมารแพทย์ ที่สนับสนุนนมแม่
หากนมแม่ไม่พอ คุณหมอควรช่วยค้นหาสาเหตุและวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ใช่เอะอะก็เสริมนมผง

8. ขอความช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหา ไปคลินิกนมแม่ หรือปรึกษาแม่อาสา

9. งดใช้ขวดนมในระยะ 2 เดือนแรกโดยเด็ดขาด
ให้ดูดจากเต้าเท่านั้น เพราะน้ำนมจากขวดที่ไหลเร็ว ทำให้ลูกดูดนมแม่แล้วหงุดหงิด มีโอกาสปฏิเสธเต้าแม่สูงขึ้น
ทารกที่ได้รับน้ำนมผ่านขวดตั้งแต่ที่รพ.จะได้รับการฝึกดูดเต้าแม่ไม่เพียงพอ เมื่อกลับบ้านอาจมีปัญหาดูดนมแม่
ทารกที่ชอบดูดนมจากขวด จะไม่อ้าปากกว้างแต่งับตื้นๆ ดูดนมแม่ไม่ลึก แม่จะเจ็บ หัวนมจะแตก
หากมีความจำเป็นที่ต้องป้อนน้ำนมแม่ตอนแม่ไม่อยู่ ควรใช้ถ้วยใบเล็ก (cup feeding) หรือ ช้อนค่อยๆ ป้อน

10. น้ำนมเพียงพอหรือไม่ สังเกตุดังนี้
นับจำนวนผ้าอ้อมเปียก (ผ้าอ้อมผ้า 6-8 ผืนชุ่มใน 24 ชม. หรือ ผ้าอ้อมสำเร็จรูป 4-5 ชิ้น)
ถ่ายเป็นสีเหลืองทองหรือเหลืองนวล นิ่มคล้ายยาสีฟันได้บ่อยถึง 8-10 ครั้งต่อวัน (ในช่วงเดือนแรก) อาจดูเหมือนเมล็ดมะเขือ มีมูกยืดบ้าง กลิ่นไม่รุนแรง
หลังลูกดูดนมเสร็จ เต้านมแม่อ่อนนุ่มลง
ลูกสงบลง แลดูมีความสุขและพอใจหลังได้ดูดนมแม่ อาจนอนหรือไม่นอนหลับหลังดูดนมก็ได้

11. ไม่เสริมนมผง หรือนมของแม่คนอื่น
เมื่อลูกอิ่มแล้วจะไม่ดูดกระตุ้นจากที่เต้าของแม่ ทำให้น้ำนมแม่ไม่มากเท่าที่ลูกต้องการ

12. ลูกหงุดหงิดเมื่อดูดนมแม่ มีสองสาเหตุหลัก
1. ถ้าลูกเคยกินนมจากขวด ลูกอาจเริ่มชินกับน้ำนมที่ไหลเร็วทันใจ งับปุ๊บก็ไหลปั๊บ แต่นมแม่จะไหลหลังดูดประมาณ 1 นาที (กลไกธรรมชาติของการหลั่งน้ำนม) จึงทำให้หงุดหงิดรำคาญ เป็นอาการแรกเริ่มของ”ติดจุก” (กรุณาดูวิธีแก้ในหัวข้อต่อไป)
2. ถ้าลูกไม่เคยกินนมจากขวด ลูกอาจหงุดหงิดเพราะน้ำนมพุ่งแรงเกินไป แม่สามารถบีบน้ำนมออกบ้างเพื่อลดแรงฉีดของน้ำนม
3. สาเหตุอื่นๆ ที่พึงพิจารณาคือ อากาศร้อน ง่วง ไม่สบายตัว เปียกชื้น เสียงดังสภาพแวดล้อมไม่สงบ

13. ถ้าลูกเริ่มติดจุก ให้ดูดแต่เต้าแม่เท่านั้นและงดขวดโดยเด็ดขาด
เวลาลูกเจอเต้าแม่แล้วหงุดหงิด พองับเต้านมแม่ให้หยดน้ำนมลงที่มุมปากของลูก เพื่อหลอกว่าน้ำนมไหลแล้ว ช่วยลดความหงุดหงิดลงได้ ถ้าลูกแลดูไม่หงุดหงิดแล้วก็ไม่ต้องหยดน้ำนม

14. แม่เหนื่อยมาก
ลูกยังไม่รู้จักกลางวันหรือกลางคืน แม่ควรงีบพักเมื่อลูกนอนหลับ หาผู้ช่วยงานบ้านเมื่อเป็นไปได้ (หรือปล่อยวางบ้างก็ได้) 2-3 เดือนผ่านไป ลูกจะเริ่มปรับเวลากลางวันกลางคืนได้ดีขึ้น

15. น้ำและอาหารเสริมเป็นของคู่กัน เมื่อลูกอายุ 6 เดือน
นมแม่มีน้ำถึง 88% มากพอสำหรับความต้องการของลูก
ลูกจะพร้อมรับอาหารตามวัยตอน 6 เดือน ให้อาหารเสริมเร็วอาจทำให้เกิดภูมิแพ้ หรือท้องอืด อาหารไม่ย่อย ลำไส้ทำงานหนัก

16. สาเหตุที่ทำให้นมแม่น้อย
1. เสริมนมอื่น
2. ไม่ให้ลูกดูดบ่อย (ทุก 2 ชม.)
3. แม่รับอาหารไม่เพียงพอ อดอาหาร
4. ลูกดูดไม่ถูกวิธี อาจมีผังผืดใต้ลิ้น ฯลฯ แม่รู้สึกเจ็บ
5. ปล่อยให้เต้าคัดนานๆ ไม่บีบออก
6. ความเครียดของแม่ ลดการหลั่งของน้ำนม

17. ลูกดูดนมทั้งวัน แปลว่านมไม่พอหรือเปล่า?
ทารกหลายคนที่ “กินเก่ง” ร้องขอดูดทั้งวัน ไม่ใช่เพราะลูกหิว แต่เป็นเพราะธรรมชาติที่สร้างให้ลูกพอใจที่ได้ดูดนมแม่  บางคนร้องขอดูดเป็นชั่วโมง ดูดๆ หลับๆ ก็ต้องดูด นี่คือ suckling reflex ที่ธรรมชาติสร้างให้ลูกดูดกระตุ้นมากๆ น้ำนมแม่จะได้สร้างมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้แม่สร้างอาหารให้ลูกอยู่รอดได้ เมื่อ 3 เดือนอาการนี้จะลดลง
เมื่อลูกร้องดูดทั้งวัน แม่ควรนอนตะแคงให้ลูกตะแคงดูด เพื่อบรรเทาความอ่อนล้าให้:-)ีบหลับเมื่อลูกหลับ

18. วิธีเพิ่มน้ำนม

1. ให้ลูกดูดบ่อยๆ (ประมาณ 8 มื้อใน 24 ชม.) ลูกยิ่งดูด น้ำนมยิ่งมาก
2. ไม่เสริมนมอื่นๆ
3. หากลูกนอนยาวเกิน 3-4 ชม. แม่ควรปั๊มน้ำนมออก
4. ปั๊มหลอก (ปั๊มลม/ขโมยปั๊ม) หลังลูกอิ่มแล้ว ร่างกายจะเข้าใจว่าลูกกินเก่งและจะสร้างน้ำนมเพิ่มเพื่อให้พอกับความต้องการของลูก
5. ดูแลร่างกายแม่ด้วยอาหารสดสะอาด 5 หมู่ ดื่มน้ำอุ่นอย่างน้อย 2 ลิตร งดเครื่องดื่มคาเฟอีนเพื่อให้นอน
พักผ่อนมากๆ ทานอาหารเพิ่มน้ำนมเช่นสมุนไพร พีชผักต่างๆ
6. พยายามผ่อนคลายจิตใจให้สบาย บริหารความเครียดด้วยการไม่กังวลกับอะไรที่ยังมาไม่ถึง

19. ที่สำคัญที่สุด คอยเติมความมั่นใจในนมแม่ มีคำถามให้หาคำตอบ อย่าเชื่อสื่อโฆษณา
นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุด สะอาดที่สุด และเหมาะที่สุดสำหรับทารก ซึ่งจะไม่มีนมชนิดอื่นมาเทียบเคียงได้
เสมือนความรักของแม่ที่มีแด่ลูก

20. ขอให้มีความสุขกับการให้นมแม่
ลูกจะโตและเปลี่ยนแปลงทุกวัน อย่าเพิ่งกังวลว่าจะเหนื่อยเช่นนี้ตลอดไป
ลูกจะพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น เริ่มนอนนานขึ้น ยิ้มเก่ง คุยอ้อแอ้ แม่ก็จะรู้ใจลูกมากขึ้น ทุกๆ วันจะมีอะไรใหม่ๆ ให้เรียนรู้กันไป ขออย่าเพิ่งกังวลไปไกล ค่อยๆ ทำทุกวันให้ดี ดูไปทีละมื้อนม ค่อยๆ สังเกตุไป เข้าใจลูกว่าลูกพยายามจะสื่อสาร ขอให้นึกเสมอว่าลูกยังไม่ชินกับโลกนอกมดลูก ให้โอบกอดลูกบ่อยๆ ให้นมให้ลูกสบายใจ

อย่าลืมว่า นมแม่ พอแน่ๆ ถ้าปฏิบัติอย่างถูกต้องและด้วยความเข้าใจ
เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ย่อมเหนื่อยบ้าง ขอให้อดทน เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าสำหรับลูก ตั้งแต่วันนี้ไปจนลูกโต


Credit: แม่บี มามี๊ต่าต๋า แห่งเวปนมแม่ค่ะ

ความคิดเห็น