สิ่งที่พ่อแม่ทุกคนควรรู้เกี่ยวกับนมผสมในขณะที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ต่างก็ทราบดีว่า
“การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีที่สุดสำหรับทารก” แต่อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กลับต่ำกว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมผสมหลายเท่า นั่นก็เพราะว่าพ่อแม่เหล่านั้นไม่เคยทราบว่า “นมผสมที่ใช้เลี้ยงทารกแทนนมแม่ที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดนั้น ไม่ดีพอสำหรับทารก” คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่านมผงดัดแปลงสำหรับทารก เป็นทางเลือกที่สองต่อจากนมแม่ แต่ที่จริงแล้วองค์การอนามัยโลก (WHO) กลับระบุว่า“ทางเลือกที่สอง ถัดจากการให้ลูกดูดนมจากอกแม่ คือ การให้ลูกกินนมแม่ด้วยวิธีการอื่น(แทนการดูดโดยตรง) ทางเลือกที่สามคือ กินนมจากแม่คนอื่น(น้ำนมบริจาค) และทางเลือกที่สี่คือ นมผงดัดแปลงสำหรับทารก”ผู้ผลิตและจำหน่ายนมผสมต่างทุ่มเงินจำนวนมหาศาล เพื่อการโฆษณาให้ผู้บริโภคหลงเชื่อว่า นมผสมของบริษัทตนนั้นมีคุณสมบัติ “ใกล้เคียง” นมแม่มากที่สุด และหนึ่งในกลยุทธ์ของการประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุด และน่าเชื่อถือที่สุด ก็คือการประชาสัมพันธ์ผ่านโรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์นั่นเอง เมื่อผู้บริโภคได้รับเอกสารหรือตัวอย่างนมผสมแจกฟรี จากแพทย์หรือโรงพยาบาล ก็จะเข้าใจว่า “นมผสมยี่ห้อนั้นๆ” ดีและเหมาะสำหรับทารกจริงๆ
ข้อมูลที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้เลยก็คือ ความจริงที่ว่า “นมผสมเหล่านั้น” มีองค์ประกอบที่ห่างไกลจากนมแม่มาก ยิ่งมีการคิดค้นมากขึ้นเท่าไหร่ ผู้ผลิตทั้งหลายก็ยิ่งต้องยอมรับความจริงว่า “เป็นไปไม่ได้เลยที่จะผลิตนมผสมให้เลียนแบบนมแม่ได้” นมผสมหรือนมผงดัดแปลงสำหรับทารกนั้นใช้คำภาษาอังกฤษว่า “formula” ซึ่งแปลว่า “สูตร” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีผู้ผลิตนมผสมรายใดเลยที่รู้ “สูตร” ที่แท้จริงของนมแม่ เพราะ “นมแม่” นั้นมีส่วนประกอบนับพันชนิดรวมทั้งเซลล์มีชีวิตต่างๆ ฮอร์โมนหลายชนิด เอนไซม์ที่มีฤทธิ์ทำปฏิกิริยา อิมมูโนโกลบูลิน (ภูมิคุ้มกันโรค) และสารประกอบที่มีโครงสร้างเฉพาะ ซึ่งไม่สามารถทำเลียนแบบในนมผสมสำหรับทารกได้
นมของแม่แต่ละคนนั้นถูกผลิตขึ้นมาได้อย่างเหมาะสมที่สุดสำหรับลูกของตน ถ้าลูกคลอดก่อนกำหนด นมที่ถูกผลิตออกมาก็จะเหมาะสมที่สุดกับทารกที่คลอดก่อนกำหนด ภูมิคุ้มกันจากนมแม่ก็แปรเปลี่ยนไปตามเชื้อโรคที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของแต่ละคน สารอาหารในนมแม่ยังแปรเปลี่ยนไปตามความต้องการ ในแต่ละช่วงวัยของลูกอีกด้วย ในขณะที่นมผสมแต่ละยี่ห้อนั้น ต่างผลิตขึ้นมาตามความต้องการของผู้ผลิต เหมือนกันหมดสำหรับทารก “ทุกคน” (ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่เหมาะสำหรับทารกคนใดเลยด้วยซ้ำ)
การที่ผู้ผลิตใช้ “นมวัว” หรือ “ถั่วเหลือง” เป็นวัตถุดิบในการผลิต ไม่ใช่เพราะมันมีคุณสมบัติใกล้เคียงนมแม่มากที่สุด แต่เป็นเพราะ “หาง่ายและราคาถูก” ซึ่งสามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาลต่างหาก นมผสมแต่ละยี่ห้อมีความแตกต่างกัน เพราะผู้ผลิตต่างพยายามผลิตสินค้าที่ไม่มีใครรู้สูตร และส่วนผสม ข้อเท็จจริงที่เจ้าหน้าที่ FDA (องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา) ตระหนักดีและยอมรับในคำแถลงเมื่อเร็วๆ นี้คือ “สารเคมีที่ประกอบขึ้นเป็นนมแม่ยังเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้แน่ชัด” และมีการตั้งข้อสังเกตว่า “ทารกที่กินนมผสม ต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์ซึ่งแตกต่างกันค่อนข้างมากในแต่ละยี่ห้อ และเราค้นพบอย่างต่อเนื่อง ว่ามันมีสารอาหารที่ไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย... สารอาหารเหล่านี้จะถูกเสริมเข้าไป ปกติมักจะเป็นภายหลังจากเกิดอันตรายกับทารกแล้ว หรือเมื่อมีแรงกดดันจากผู้บริโภคไปบังคับ”
นมผสมทุกยี่ห้อจะระบุวิธีใช้ว่า “ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์” ซึ่งแสดงนัยว่าความต้องการสารอาหารของทารกแต่ละคนจะแตกต่างกันไป และกุมารแพทย์จะต้องสามารถวิเคราะห์ความแตกต่างนี้ และเลือกนมผสมที่เหมาะสมให้ทารกได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องและเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งพิสูจน์ได้จากการที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ ต้องเปลี่ยนยี่ห้อนมผสมที่ใช้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอว่ายี่ห้อไหน “เหมาะ” กับลูกของตน
ความจริงนี้ไม่ได้ถูกตระหนักเลยว่า พ่อแม่ทั้งหลายกำลังให้ “ลูกของตน” เป็นเสมือน “หนูทดลอง” ของบริษัทผู้ผลิตเหล่านั้น ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ทารกที่กินนมแม่ไม่เคยมีอาการท้องผูก แต่ทารกที่กินนมผสมส่วนใหญ่มักจะมีอาการท้องผูก ปวดท้อง เพราะร่างกายของทารกยังไม่สามารถย่อยสารประกอบหลายอย่างที่มีในนมผสมได้ นี่คือข้อบกพร่องที่เห็นได้ชัดในการผลิตสารอาหารทดแทนนมแม่ แต่ผู้ผลิตไม่เคยยอมรับเลยว่าพวกเขาทำผิดพลาด แต่กลับนำาประกาศเป็นความสำเร็จในการค้นคว้าวิจัย เมื่อแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นได้แล้ว ทุกครั้งที่ผู้ผลิตนมผสมเหล่านั้นเปลี่ยนสูตรหรือพัฒนาสูตรใหม่ ก็หมายความว่าพวกเขาพบข้อผิดพลาดอีกแล้วในการผลิตที่ผ่านๆ มา โดยไม่ได้สนใจเลยว่าในระยะยาวจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพของทารกจำนวนเท่าใด ที่บริโภคนมผสมที่ถูกผลิตอย่างบกพร่องในครั้งก่อนๆ ไปแล้ว
อันตรายของนมผสมสำหรับทารกอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ค่อยได้เผยแพร่ต่อสาธารณะชน คือ อันตรายซึ่งแฝงมากับการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร ที่ผลิตจำนวนมากเพื่อการค้า ในอเมริกาแค่ช่วงปี 1982–1994 มีการเรียกนมผสมคืนจากร้านค้า เนื่องจากปัญหาความปลอดภัยและสุขภาพถึง 22 ครั้ง ในการเรียกคืนเหล่านี้มีอย่างน้อย 7 ครั้งที่ FDA ระบุว่าเป็น “ระดับ 1” ซึ่งหมายถึงมีโอกาสเป็นอันตรายต่อชีวิต ยังมีอีกหลายครั้งที่การสุ่มตรวจนมผสมในห้องแล็บพบว่ามีแบ็คทีเรีย และแร่ธาตุบางชนิดปนเปื้อนในระดับซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของทารก แต่ไม่ถึงระดับที่ FDA จะออกคำสั่งให้เรียกคืนสินค้าในวงกว้าง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 1995 เจ้าหน้าที่พิเศษ FDA ได้เปิดโปงคดีในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีการนำนมผสมคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานไปติดฉลากใหม่และขายลดราคา ไม่มีใครรู้ว่ามีทารกจำนวนเท่าไรที่กินนมผสมด้อยคุณภาพเหล่านี้เข้า
หมายเหตุ : บทความนี้แม้จะเขียนขึ้นนานแล้ว แต่ข้อมูลดังกล่าวก็ยังเป็นจริงอยู่จนถึงขณะนี้ แม้ว่าผู้ผลิตนมผสมจะกล่าวอ้างถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ว่าดีขึ้นเพียงใด ก็ยังไม่สามารถเทียบเคียงนมแม่ได้เลย และความผิดพลาดจากการผลิตก็ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากมีการเรียกคืนนมผสมอยู่เป็นระยะๆ ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก (สำหรับการเรียกคืนนมผสมครั้งล่าสุดของประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อเดือน เม.ย.48) สามารถติดตามข่าวเกี่ยวกับความผิดพลาดในการผลิต และกลยุทธต่างๆ ทางการตลาดซึ่งขาดความรับผิดชอบของบริษัทนมผสมได้ที่ Baby Milk Actionขอขอบคุณ ข้อมูลอันมีค่าจาก breastfeedingthai.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น