รวบรวมคำถามถามบ่อยเรื่องนมแม่ : FAQ

 

รวบรวมโดยคุณ Dare2Dream, คุุณแม่นักปั๊มอย่างคุณตาล (มินนี่ลูกป๋าคิม) และ คุณหนิง (ninlaning) จาก pantip ค่ะ

FAQ ที่รวบรวมมา 20 กว่าข้อนี้ มาจากประสบการณ์ตรง และการศึกษาค้นคว้า และรวบรวมจากที่เพื่อน ๆ แม่ ๆ นักปั๊มทั้งหลายได้เพียร พยายามมาตอบกันไว้นะคะ

Q : เริ่มปั๊มนมทำสต๊อกเมื่อไรดี
A : อันนี้ก็ต้องดูความพร้อมของคุณแม่นะคะ  ถ้าจะให้ดีเริ่มสักหลัง 1 เดือนไปแล้วก้ได้ ให้น้องทานนมแม่ให้มาก ๆ ดูดเยอะ ๆ ไปก่อน จะได้กระตุ้นการสร้างน้ำนม ในระยะแรก หากปั๊มได้น้อยไม่ต้องกังวล ให้ปั๊มไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวดีเอง

Q : ตอนนี้น้องอายุ 1 เดือนแล้วปั๊มนมได้ครั้งละ X ออนซ์เอง น้อยไปไม๊คะ
A : ถ้าน้อง 1 เดือนคุณแม่ปั๊มได้ครั้งละ 1-2 Oz (โดยมากที่ถาม ๆ อ่ะนะคะ) ถือว่ามากแล้วค่ะ  ไม่ต้องกังวล อย่าเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่นค่ะ จะได้ไม่เครียด

Q : น้องดูดนมตลอด ไม่ยอมปล่อยเลย เหนื่อยมากกกกกก นมไม่พอหรือเปล่าคะ
A : ไม่ใช่ค่ะ แต่การดูดเป็นสิ่งเดียวที่น้องทำได้ แถมถ้าได้ดุดนมอุ่น ๆ ในอ้อมกอดอุ่น ๆ ของคุณแม่ เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม เลยดูด  ๆ  ๆ ๆ ๆ อยุ่อย่างนั้นแหล่ะ ก็มันเป็นเรื่องเดียวที่หนูเก่งที่สุดนี่นา อย่าไปคิดว่านมแม่ไม่พอ อดทนไว้ค่ะ คิดเลยว่า ถ้าเค้าดูดเยอะ นมก็จะยิ่งมีเยอะ หลักง่าย ๆ ยิ่งเอาออกมามากเท่าไร ก็จะได้มีนมมากเท่านั้นค่ะ

Q : นมที่ปั๊มได้แต่ละครั้งเอามารวมกันได้เปล่า
A : นมที่ปั๊มได้ภายใน 24 ชั่วโมงเอามารวมกันได้ค่ะ

Q : ปั๊มนมแต่ละครั้ง นานเท่าไร  และปั๊มห่างกันเท่าไร
A : แต่ละครั้งปั๊ม 15-20 นาทีต่อข้าง (กรณีที่ใช้ไฟฟ้าปั๊มคู่ ก้จะเร็วไปครึ่งหนึ่งเลยค่ะ) รอบปั๊มห่างกันประมาณสัก 3 ชั่วโมงกำลังดีค่ะ ถ้าไม่ได้ ไม่ควรห่างเกิน 4 ชั่วโมง

Q : ถ้านมแม่มีน้อย จะสามารถเพิ่มปริมาณได้ไม๊ ทำอย่างไร

A : เพิ่มได้ค่ะ เริ่มจากการทานอาหารที่เหมาะสม  พักผ่อนให้เพียงพอ  ไม่เครียด และปั๊มนมอย่างมีวินัย โดยไม่ท้อว่าไม่เห็นมีอะไรออกมาเลย นมแม่เป็นเรื่องที่ต้องอดทนและใช้เวลา  เมื่อเราปั๊มสม่ำเสมออย่างมีวินัย ที่สุดร่างกายจะค่อย ๆ สร้างเพิ่มขึ้น เพราะรับรู้แล้วว่า ยังมีความต้องการอยู่ ต้องผลิตเพิ่ม

Q : ทำไมนมแม่ของเราทีปั๊มออกมาได้ สีไม่เท่ากัน
A :  นมแม่จะมีสองส่วนนะคะ ส่วนแรกเป็นสีใส ๆ เรียกว่านมส่วนหน้า อีกส่วนจะเป็นนมสีขุ่น ๆ ขาว ๆ ข้น ๆ เรียกว่านมส่วนหลัง
นมส่วนหน้า จะประกอบไปด้วย น้ำ วิตะมินและภูมิคุ้มกัน  ดังนั้นจะไม่ช่วยเรื่องน้ำหนัก หากคุณแม่มีนมส่วนหน้ามาก ๆ อาจจะบีบทิ้งออกไปบ้าง เพื่อให้น้องได้ทานนมส่วนหลัง เพื่อเพิ่มน้ำหนัก  การที่น้องทานนมส่วนหน้ามาก ๆ ก็จะทำให้ฉี่บ่อยด้วย เพราะมีองค์ประกอบของน้ำเยอะ
 นมส่วนหลัง จะประกอบไปด้วยไขมัน และองค์ประกอบอื่น ๆ คล้ายนมส่วนหน้า แต่มีไขมันในปริมาณที่เยอะกว่า ช่วยเรื่องน้ำหนักได้ดี


Q : ควรเก็บนมถุงละเท่าไรดี
A : แรก ๆ เก็บถุงละสัก 4 Oz เด็กเล็ก ๆ แรกเกิดทานนมไม่เกิน 2 Oz / ครั้งโดยมาก ดังนั้น เก็บ 4 Oz ก็เทมาทานได้ 2 ครั้ง พอนานไปเก็บมากขึ้นเป็น 5 – 6 – 7 Oz ค่ะ แต่มากสุดไม่ควรเกิน 7 Oz เพราะจะทำให้ถุงนมแตกได้ค่ะ

Q : นมแม่ที่แช่แข็งแล้ว เอามาละลายเก็บได้อีกกี่ชั่วโมง
A : แล้วแต่คนนะคะ บางคนก็บอกว่า 24 ชั่วโมง บางคนก็ว่า 48 ชั่วโมง หลักในการดูก็ง่าย ๆ นมไม่เสียก็ทานได้ค่ะ อีกอย่างการเก็บก็ขึ้นกับลักษณะและการใช้งานของตู้เย็นด้วย หากเป็นตู้ประตูเดียว เปิดใช้งานบ่อย ๆ อายุการเก็บก็จะสั้นลงค่ะ

Q : ปั๊มนมที่ทำงานเก็บอย่างไร
A : ถ้าไม่มีตู้เย็นให้แช่ ก็ใส่กระติกเอาน้ำแข็งโปะได้เลยค่ะ บางคนอาจจะมีเทคนิคอื่น ๆ อย่างเช่น เอาถุงนมแม่ที่ใช้แล้ว ใส่น้ำไปแช่แข็ง เอามาใช้แทนน้ำแข็ง หรือโรยเกลือลงบนนำแข็ง เพื่อให้น้ำแข็งละลายช้าลง

Q : นมแม่ที่ละลายแล้ว ทำไมสีมันเหลือง ๆ เหมือนมีน้ำมันลอย ๆ ข้างบน ทานได้ไม๊
A : ทานได้ค่ะ น้ำมันเหลือง ๆ ที่ละลายข้างบน บางคนก็เรียก “เนย” เป็นไขมันจากนมแม่ค่ะ จะบอวก่า นมแม่มันและล้างยากกว่านมผสมด้วยค่ะ

Q: นมแม่ที่ละลายแล้ว เอากลับไปแช่แข็งอีกได้หรือไม่

A : จริง ๆ ก็ทำได้นะคะ แต่ .... ว่า พอเอามาละลายอีกรอบ กลิ่นนมนั้นจะเหม็นหืนมากขึ้น ยิ่งละลายแล้วแช่ แล้วละลายแล้วแช่ หลาย ๆ รอบ  กลิ่นก็จะแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงอะตอมของไขมันในนมแม่ค่ะ (น่าน วิชาการซะ แต่จำได้ว่าอ่านมาจากเวปนมแม่ คิดว่าจำได้ด้วยว่าใครอธิบาย แต่ขออนุญาตไม่พาดพุง กลัวจำผิด คุณเจ้าของข้อความเล่นเวปนี้ด้วย ขอโทษนะคะ ที่ไม่ได้เอ่ยนาม เกรงว่าจะผิดจริง ๆ) อีกอย่างทำอย่างนั้นคุณค่าในนมแม่ก็จะลดลงไปด้วยเรื่อย ๆ ค่ะ ไม่แนะนำ

Q : ละลายนมทำอย่างไรดี
A : เอาถุงนมแม่แช่ลงในน้ำอุ่น  ไม่ใช่น้ำร้อนนะคะให้ละลาย แต่หลายคนประสบปัญหาว่าถุงรั่ว เรานะนำว่า  ให้เอาถุงนมออกมาจากตู้แช่แข็ง วางลงในภาชนะ สะอาด ปล่อยให้ละลาย เพราะถ้าถุงรั่วก็จะละลายลงภาชนะสะอาด เราเอามาเทลงขวด แช่น้ำอุ่นทานได้ค่ะ อันนี้เราทำเองมาตลอดนะคะ แต่คุณตาลก็จะไม่อยากแนะนำนะคะวิธีนี้ เพราะถ้าละลายลงในภาชนะมันไม่มีฝาปิดมิดชิด นมก็ไม่สะอาดเท่าที่ควร ไม่ควรเอามาทานค่ะ  ดังนั้นขอให้อยู่ในดุลยพินิจของท่านผู้อ่านนะคะ (แต่เรานมน้อย เราเสียดายนี่นา ฮือ ๆ)

Q : วิธีการแช่นมแม่ในตู้แช่แข็งทำอย่างไรดี
A : ดีที่สุดคือ แช่ให้เร็วที่สุด ทำให้ถุงแบน ๆ เพื่อความสะดวกในการแช่และจัดเก็บ นอกจากนี้ การทำถุงแบน ๆ คือการเพิ่มพื้นที่รับความเย็นของถุงนมด้วย ทำให้เย็นเร็วเป็นน้ำแข็งเร็วขึ้น เพื่อรักษาคุณค่าของน้ำนมค่ะ  ของเราเอง พอได้นมแบน ๆ หลาย ๆถุง เอาถุงใหม่เข้าตู้ก็วางแบน ๆ แล้วเอาถุงที่เป็นน้ำแข็งแล้วมาวางทับค่ะ ให้เย็นเร็ว  ๆ อิอิ

Q : ไฟดับ ทำไงดี นมแม่เต็มตู้เลย

A : จริง ๆ หลักง่าย ๆ คือ เมื่อทราบว่าไฟจะดับ สิ่งที่ต้องทำคือ เก็บความเย็นไว้ให้มากที่สุด ไม่เปิดเข้าออกเรื่อย ๆ เพื่อให้ตู้เย็นไม่สูญเสียความเย็นออกมา ก็จะทำให้นมไม่ละลายค่ะ หรือละลายน้อยที่สุด

Q : ถ้าไม่ปั๊มนมออกมา นมจะลดไม๊ ลดรอบปั๊มนมลง นมจะน้อยลง ลดลงหรือไม่
A : ลดลงแน่นอนค่ะ อาจจะไม่ทันทีทันใด แต่จะลดลงแน่นอน เพราะการที่ไม่ปั๊มออกมา เป็นการส่งสัญญาณให้ร่างกายทราบว่า ความต้องการนมแม่ลดลง ดังนั้น ร่างกายก็จะลดระดับการสร้างน้ำนมลงไปด้วยนั่นเอง

Q : ปั๊มแล้วนมไม่ออก เต้านมยังแข็งอยู่
A : คุณแม่ลองกระตุ้นจี๊ด หลังปั๊มนมแต่ละรอบเสร็จนะคะ หลังการกระตุ้น หรือทำจี๊ด จะน้ำนมออกมาอีกพอสมควรทีเดียว การปั๊มนมจนหมดเต้านั้น จะรู้สึกได้เลยว่าเต้านิ่ม เหมือนลูกโป่งฟีบ ๆ ไม่มีลมอยู่ข้างในค่ะ หรือ ประคบด้วยถุงร้อนพร้อมกับนวดคลึงทั่วเต้านมขณะปั๊มก็ทำให้เต้าที่แข็งเป็นไตนิ่มลงได้ค่ะ

Q : กระตุ้นจี๊ด ทำยังไงเอ่ย
A : คือการเอานิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้สะอาด ๆ ปั้นที่บริเวณหัวนม ทำสมาธิ นึกถึงหน้าลูกน้อยไว้ นวด ๆ ปั้น ๆ คลึง ๆ สักพัก จะรู้สึกว่าเต้าตึง ๆ เต่ง ๆ ขึ้นมา ก็ปั๊มต่อได้เลยค่ะ ในแต่ละรอบของการปั๊ม สามารถทำการกระตุ้นจี๊ดได้สัก 2-3 รอบค่ะ แต่รอบท้าย ๆ ปริมาณน้ำนมจะได้น้อยลงนะคะ

Q : ปั๊มนมไม่ออก เจ้บปวดมาก ๆ มีจุดขาว ๆ ที่หัวนม
A : ขอแสดงความยินดีด้วยนะคะ แสดงว่ามีท่อน้ำนมอุดตันแล้ว ทำไมมาแสดงความยินดีล่ะ เจ็บจะแย่ ที่แสดงความยินดีก็เพราะว่า ถ้านมไม่เยอะ อาการนี้ไม่เกิดนะคะ แสดงว่าคุรม่มีน้ำนมเยอะเลย แต่ปั๊ม หรือเอาออกมาไม่เกลี้ยงเต้าค่ะ แล้วทำไงจะหาย วิธีที่ได้ผลเร็วคือ เอาเข็มสะอาดเจาะ สะกิดหัวขาว ๆ ออกไปซะ แต่คุณหมอไม่ค่อยแนะนำ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

อีกวิธีที่ทำได้คือให้น้องดูด โดยหลักการดูดที่ถูกต้องคือ ให้คางของน้องชี้ไปที่บริเวณที่เป็นก้อน วิธีนี้ปวดหน่อยนะคะ แต่ที่สุดมันจะหลุดออกมาได้เอง

อีกวิธีที่นิยมทำกันก้คือ ไปพบแพทย์ คุณหมอบางท่านใช้เข็มเจาะลงไปเลย ได้ยินว่าลึกเป็นเซ็นต์เลย แค่คิดก้เจ็บแล้ว ให้ลูกดูดต่อไปดีกว่า


Q : นมแม่ที่ปั๊มมาเก็บแล้ว เก็บได้นานเท่าไร

A :  อันนี้ต้องขึ้นกับตู้เย็นที่ใช้เก็บค่ะ ถ้าเป็นตู้เย็น 2 ประตู โดยมากก็จะบอกกันว่า 3 เดือน แต่ในความเป็นจริงแล้วหากตู้ไม่ค่อยได้เปิดใช้งาน เก็บได้นานกว่านั้นค่ะ บรรดาตู้แช่ไอศครีมก็จะได้นานถึง 1-2 ปีทีเดียว เพราะอุณหภูมิมันต่ำมาก ๆ

Q : อุปกรณ์ปั๊มนมต้องล้างทุกครั้งหลังใช้งานหรือเปล่า
A : ไม่ต้องค่ะ บางคนก็ล้างวันละครั้ง บางคนก็ล้างวันละ 2 ครั้ง โดยสรุปคือ ระหว่างวันปั๊มแล้วเอาเก็บไว้ในตู้เย็นได้ พอรอบต่อไปก้เอามาปั๊มต่อได้ค่ะ ล้างทีเดียวตอนเย็นเลย เวลาเก็บใส่ในตู้เย็นให้ใส่กล่อง หรือถุงปิดให้มิดชิดด้วยนะคะ

Q : เครื่องปั๊มนมยี่ห้อไหน รุ่นใดดี
A : แต่ละเครื่อง แต่ละรุ่นแตกต่างกันนะคะ บางคนก็ชอบอย่างนี้ บางคนชอบอย่างนั้น อยากให้คุIแม่ดู lifestyle ตัวเองเป็นหลักค่ะ ถ้าเป็นคุณแม่ fulltime บางทีปั๊มมือก็พอเพียงแล้ว ถ้าเป็นคุณแม่ทำงานก็ต้องดูว่า ขนย้ายสะดวกแค่ไหน บางรุ่นใช้ได้ดี แต่อาจจะไม่เหมาะกับคุณแม่ที่ต้องขนย้าย เดินทาง บางรุ่นอาจจะสะดวก แต่เกินงบ ถ้าเป็นได้ลองไปดูที่คลินิคนมแม่นะคะ มีหลายเครื่องหลายรุ่นให้ทดลองค่ะ

หมดแล้วค่ะ ที่เรารวบรวมมา ขอบคุณคุณตาล คุณหนิง อีกครั้งนะคะ

ขอบคุณเพื่อน ๆ คุณแม่นักปั๊ม และนักตอบปัญหาทุกท่านด้วย ที่คอยมาตอบปัญหาต่าง ๆ จนเรารวบรวมมาได้ค่ะ

หากมีอะไรผิดพลาดไปบ้างก็อย่าว่ากันนะคะ ทำด้วยความตั้งใจจริง ๆ ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ที่มา : pantip.com
โดย User : Dare2Dream

ความคิดเห็น